“ซี.ไอ.ดี.ไอ ชนาพัฒน์” สู่ศูนย์กลางการศึกษาด้านการออกแบบของอาเซียน

สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ ปลื้ม 12 ปีแห่งความสำเร็จในฐานะองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มุ่งจุดพลัง ไอเดีย หวังดันไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านการออกแบบรับเออีซี ประกาศวางนโยบายมาตรฐานสากลขานรับ กระแสเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์โลก

ศ.พิเศษ ดร.สาคร สุขศรีวงศ์ ผู้อำนวยการ สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ หรือ ซี.ไอ.ดี.ไอ. ชนาพัฒน์ เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่สถาบันฯ ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2543 ด้วยความคิดริเริ่มของพระธรรมมงคลญาณ (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร) เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล สุขุมวิท 101 ที่มุ่งหวังพัฒนานักออกแบบไทยให้มีฝีมือการออกแบบในระดับสากล เพื่อสร้างศักยภาพให้สามารถผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มนำรายได้สู่ประเทศไทย โดยเน้นการพัฒนานักออกแบบอย่างก้าวกระโดด คือ เฟ้นหาตัวจริงด้านการออกแบบในแต่ละสาขาวิชามาดำเนินการสอนในไทย ซึ่งปัจจุบันได้นำหลักสูตรด้านการออกแบบ และอาจารย์จากสถาบันชั้นนำของอิตาลีมาเปิดสอนในไทย ใน 2 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาออกแบบตกแต่งภายใน และผลิตภัณฑ์ (Diploma of Interior and Product Design) และสาขาวิชาออกแบบแฟชั่น (Diploma of Fashion Design) พร้อมกับได้จัดสรรทุนการศึกษาและค่าใช้จ่ายต่างๆ ปีละ 2 ทุน เพื่อคัดเลือกนักศึกษาที่มีศักยภาพไปศึกษาต่อที่อิตาลี เป็นเวลา 1 ปี

“ความสำเร็จของ ซี.ไอ.ดี.ไอ. ชนาพัฒน์ ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา ยืนยันได้จากรูปธรรมแห่งผลงานของเหล่านักศึกษา หรือศิษย์เก่าที่ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ โดยผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้สถาบันฯ เป็นที่รู้จัก อาทิ รางวัลจากการประกวดผลิตภัณฑ์นานาชาติในงาน Echi di Luce ที่ประเทศอิตาลี รางวัลประกวดการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่จัดขึ้น ณ ประเทศนิวซีแลนด์และประเทศแคนาดา รวมถึงได้รับคัดเลือกให้จัดแสดงผลงานแฟชั่นในงาน Fashion Week ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น, กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน, และสิงคโปร์ เป็นต้น รวมถึงการที่นักศึกษาของสถาบันฯ ได้ก้าวสู่การเป็นอาจารย์ของสถาบันด้านการออกแบบชั้นนำ การได้เข้าร่วมงานกับองค์กรธุรกิจชั้นนำ อาทิ Fashion TV, Modern Form, Singha, Fly Now III และ Senada ตลอดจนการสร้างสรรค์แบรนด์เป็นของตัวเองและมีความสุขกับการได้ออกแบบตามสิ่งที่ตนเองใฝ่ฝัน

นอกจากนี้ ในเวทีระดับสากล นักศึกษาของเราก็ได้รับเกียรติให้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงแฟชั่นโชว์และร่วมออกแบบ ของที่ระลึกในงาน Vivienne Westwood เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทั้งยังได้รับเชิญ ให้เข้าร่วมคณะทำงานการเพิ่มมูลค่าด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้งนี้ ความสำเร็จของสถาบันยังคงต้องมีพัฒนาการต่อไป และควบคู่ไปกับความพร้อมในหลากหลายด้าน เช่น ด้านหลักสูตรและคณาจารย์ก็สามารถรับรองคุณภาพได้จากผลงานความสำเร็จที่ผ่านมาแล้ว เรายังมีความพร้อมด้าน อาคารสถานที่ซึ่งล่าสุดได้เปิดใช้อาคาร CIDI world มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นอาคารเรียนที่มีอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการออกแบบเป็นการเฉพาะแห่งเดียวของประเทศไทย ความสำเร็จที่ ซีไอดีไอชนาพัฒน์คาดหวังต่อไปก็คือการก้าวสู่การเป็นสถาบันออกแบบที่ผู้สนใจเรียนออกแบบนึกถึงเป็นอันดับแรกและให้ความไว้วางใจเลือกเรียนกับสถาบันฯ ในฐานะผู้นำการศึกษาด้านการออกแบบของประเทศและของอาเซียน” ศ.พิเศษ ดร.สาคร กล่าว

เกี่ยวกับนโยบายของซีไอดีไอชนาพัฒน์ในการเป็นสถาบันตัวอย่างด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยว่า “สถาบันฯ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาหลักสูตรที่พัฒนาผู้เรียนโดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการออกแบบมาก่อน ขอเพียงอยากทำงานในสิ่งที่ชอบและใฝ่ฝัน นอกจากนี้ยังเน้นพัฒนานักออกแบบให้มีผลงานการออกแบบที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของตนเองและที่สำคัญต้องเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ผู้บริหารเป็นอาสาสมัครและมีเครือข่ายให้การอนุเคราะห์ สนับสนุนนโยบายของสถาบัน เราต้องการให้ซีไอดีไอชนาพัฒน์เป็นต้นแบบในการดำเนินงานแก่องค์กรด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย ทั้งในด้านการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ที่มีใจรักด้านการออกแบบ กระบวนการการพัฒนานักออกแบบ และนโยบายการบริหาร โดยในด้านจุดเริ่มต้นของการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ที่มีใจรักด้านการออกแบบนั้น เรามีนโยบายที่จะพัฒนาผู้ที่มีความชอบและใฝ่ฝันที่จะเป็นนักออกแบบให้ได้ทำในสิ่งที่อยากทำและได้เป็นในสิ่งที่อยากเป็น เพราะผู้ที่ทำงานบนพื้นฐานความชอบและมีความต้องการส่วนตัวจะมีแรงผลักดันภายในที่พร้อมจะแสดงศักยภาพและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานที่มีคุณภาพและสามารถประสบความสำเร็จจากการที่ได้ทำในสิ่งที่รักได้ โดยบางคนโชคดีรู้จักตัวเองตั้งแต่ในวัยเด็ก และมีผู้ปกครองสนับสนุนให้ได้เรียนในสิ่งที่รัก ที่ชอบ หรือที่อยากทำ แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่เพิ่งจะมาค้นพบตัวเองว่าจริงๆ แล้วชอบอะไรหรืออยากทำอะไร หลังจากเรียนจบเข้าสู่วัยทำงานแล้ว หรือมีอีกหลายคนถึงจะรู้ว่าชอบอะไรหรืออยากทำอะไร แต่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ได้ให้การสนับสนุนจนกว่าจะได้เรียนและทำงานในสิ่งที่อยากทำเมื่อสามารถดูแลตัวเองได้แล้ว แต่นั่นก็อาจจะสายเกินไปเพราะต้องใช้เวลาปรับพื้นฐานเสียนาน โดยเรากำหนดเกณฑ์การเข้าเรียนขั้นต่ำเพียงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายโดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการออกแบบมาก่อน ขอเพียงอยากทำในสิ่งที่ชอบและใฝ่ฝันเท่านั้น

ปัจจุบันเราได้ผลิตนักออกแบบมาแล้วกว่า 600 คน โดยส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาขั้นต่ำปริญญาตรีในสาขาที่ไม่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ เช่น นิติศาสตร์ แพทย์ บริหารธุรกิจ บัญชี รัฐศาสตร์ อักษรศาสตร์ เป็นต้น ด้วยนโยบายนี้ถือได้ว่าเป็นบันไดให้กับคนที่มีใจรักอยากเป็นนักออกแบบให้สามารถพัฒนาตนเอง จนกระทั่งมีความรู้และทักษะที่จะสนับสนุนให้พวกเขาสามารถเปลี่ยนอาชีพมาทำงานในสิ่งที่อยากทำ เพื่อให้มีที่ยืนในพื้นที่ที่พวกเขาอยากแสดงฝีมือได้”

ทั้งนี้ ซีไอดีไอ ชนาพัฒน์ ยังเล็งเห็นความสำคัญของการสนับสนุนและให้โอกาสแก่ผู้ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเป็นนักออกแบบ และทำงานในสายอาชีพที่แสดงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์นี้ บุคคลที่มีแรงบันดาลใจมีพรสวรรค์ควรที่จะต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ เราไม่ควรจะให้ข้อจำกัดด้านทุนทรัพย์มาเป็นสิ่งขัดขวางความสำเร็จ ด้วยนโยบายการสนับสนุน ผู้ที่มีศักยภาพแต่มีข้อจำกัดไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอที่จะได้พัฒนาตนเอง เพื่อก้าวเข้าสู่อาชีพนักออกแบบที่ตนเองใฝ่ฝันได้นั้น ทุกๆ ปี “เราจะมีการประกาศให้ทุนการศึกษาเพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านี้ได้มาเข้าเรียนกับสถาบัน เพื่อที่อย่างน้อย จะได้เป็นการเติมเชื้อเพลิงเพื่อเป็นกำลังขับเคลื่อนให้ผู้ที่มีศักยภาพสามารถแสดง ความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง เราหวังอยากที่จะเห็นสถาบันด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยจะมีแนวคิดนี้ ร่วมไปกับเรา” ศ.พิเศษ ดร.สาครฯ กล่าวอย่างมุ่งมั่น

สำหรับนโยบายด้านกระบวนการพัฒนานักออกแบบนั้น ด้วยหลักสูตรจากสถาบันสอนออกแบบชั้นนำของประเทศอิตาลีนี้ นอกจากที่จะสามารถพัฒนาผู้ที่ไม่มีพื้นฐานด้านการออกแบบ จนสามารถเป็นนักออกแบบที่สร้างสรรค์ชิ้นงานต้นแบบ ได้อย่างน่าชื่นชมและได้รับรางวัลต่างๆ มากมายแล้ว นโยบายในการพัฒนานักออกแบบของสถาบันยังมุ่งเน้นที่การสร้างเอกลักษณ์ของตนเองด้วย ตลอดจนมุ่งเน้นพัฒนานักออกแบบให้เข้าใจตัวเองว่ามีสไตล์การออกแบบในลักษณะใด เพื่อที่จะสามารถพัฒนาตนเองจากพื้นฐานที่มีอยู่แล้วใส่ความเป็นตัวตนเข้าไปในผลงานออกแบบ หรือที่เรียกว่าการสร้าง Signature โดยสถาบันได้จัดแสดงศิลปะนิพนธ์ประจำปีทั้งการแสดงแฟชั่นโชว์และการจัดแสดงผลงานทางการศึกษา โดยนักศึกษาแต่ละคนสามารถตีความโจทย์ที่กำหนดไว้และออกแบบผลงานต่างๆ ที่สอดคล้องกับที่กำหนดโดยสอดแทรก ความเป็นตัวเองเข้าไปจนทำให้เกิดผลงานที่หลากหลายและเป็นเอกลักษณ์ของนักออกแบบได้อย่างชัดเจน

“ด้านนโยบาย การบริหารสถาบันนั้นอาจกล่าวได้ว่านี่เป็นสถาบันตัวอย่าง ที่สถาบันด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์น่าจะนำไปเป็นแบบอย่างได้ ก็คือการเป็นองค์กรที่ไม่มุ่งแสวงหากำไรและบริหารโดยศรัทธา ด้วยการที่สถาบันฯ ก่อตั้งโดยพระสงฆ์ ด้วยมุ่งหวังอย่างเต็มเปี่ยมที่จะพัฒนานักออกแบบไทยนี้ ถือเป็นหลักการที่สำคัญว่าสถาบันนี้จะต้องบริหารงาน โดยไม่มุ่งเน้นที่การหาผลตอบแทน การบริหารสถาบันด้านการออกแบบที่ใช้หลักสูตรนานาชาตินี้ ถือว่ามีความท้าทายอย่างมากเพราะมีต้นทุนที่สูง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาโดยอาจารย์ผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการออกแบบ จากยุโรปโดยตรง แต่ในขณะเดียวกันเราต้องกำหนดค่าเล่าเรียนที่ไม่สูงเกินไปจนเป็นข้อจำกัดสำหรับผู้ที่อยากเป็นนักออกแบบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่สูงจนผู้คนกล่าวหาว่าสถาบันมุ่งเน้นธุรกิจมากกว่าการพัฒนาคน นโยบายของสถาบันจึงมุ่งเน้นที่จะใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการใช้เครือข่ายต่างๆ ที่มีอยู่ นโยบายที่สำคัญในการบริหารสถาบัน เริ่มต้นตั้งแต่ตัวผู้บริหารที่ทุกคนล้วนแต่เป็นอาสาสมัครทำงานให้กับสถาบันโดยไม่มีค่าตอบแทน สิ่งนี้ถือได้ว่าเป็นการประหยัด ค่าใช้จ่ายของสถาบันไปได้มากและทำให้สามารถเรียกเก็บค่าเล่าเรียนจากนักศึกษาได้ในราคาที่เหมาะสม

นอกจากนี้ยังมีโอกาสนำเครือข่ายต่างๆ ที่ผู้บริหารมีอยู่มาเป็นโอกาสให้กับสถาบันแห่งนี้ นโยบายนี้ย่อมไม่สามารถทำได้เลยหากไม่มีศรัทธาในผู้ก่อตั้งและสถาบันเป็นจุดเริ่มต้น เมื่อผู้บริหารได้อธิบายความเป็นมาและความมุ่งหวังของสถาบันและเชิญชวน ผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันพัฒนาสถาบันโดยไม่มีผลตอบแทนมาเป็นตัวตั้ง ก็ทำให้ได้รับการอนุเคราะห์สนับสนุนจากมืออาชีพ ในวงการออกแบบเข้ามาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ต่างๆ เพื่อการพัฒนานักออกแบบร่วมกัน เช่น คุณหนุ่ม อภิวัฒน์ Style Editor จากนิตยสารแพรว, คุณกิตติพงษ์ วนภิญโญศักดิ์ AVP and Design Chief of Product Development Centre Modernform Group PLC, คุณณัฏฐ์ มั่งคั่ง Design Director จากแบรนด์ Kloset, คุณวีรพล วิวัฒน์กมลวัฒน์ จากแบรนด์ Topshop, คุณธนญชัย ศรศรีวิชัย ผู้ได้รับรางวัลระดับทองคำ (Gold Lions) จากเมืองคานส์ (Cannes Lion) เป็นเวลา 5 – 6 ปีติดต่อกัน เป็นต้น” ศ.พิเศษ ดร.สาคร กล่าว

สำหรับนโยบายในการผลักดันให้ซีไอดีไอชนาพัฒน์กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านการออกแบบของอาเซียนนั้น ศ.พิเศษ ดร.สาคร กล่าวเสริมในประเด็นดังกล่าวว่า “การที่จะเป็นสถาบันออกแบบระดับนานาชาติได้นั้น ย่อมต้องเสริมสร้างบรรยากาศของความเป็นนานาชาติให้มากที่สุด การเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาการออกแบบของอาเซียนนั้น เป็นผลลัพธ์ประการหนึ่งของนโยบายที่สถาบันต้องการที่จะก้าวสู่ความเป็นสากล (Internationalization) อย่างจริงจัง แม้ว่าสถาบันจะมุ่งเน้นการผลิตนักออกแบบไทยแต่เราก็ไม่ได้จำกัดรับแต่เฉพาะคนไทยเท่านั้น การที่สถาบันใช้หลักสูตรจากอิตาลีและจัดการเรียนการสอนโดยคณาจารย์ชาวยุโรปก็สามารถเปิดกว้างรับนักศึกษาจากประเทศต่างๆ เข้ามาเรียนกับสถาบันได้ ที่ผ่านมาสถาบันก็มีนักศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาเรียน เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม และ มาเลเซีย เป็นต้น ที่ผ่านมาเราได้กำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อประสานงาน สนับสนุน และช่วยเหลือแก่นักศึกษาต่างชาติอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การดำเนินการด้านวีซ่า การหาที่พักและอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตทั้งในเวลาเรียนและนอกเวลาเรียน ตลอดจนให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการเรียนภายในสถาบันให้สามารถอยู่ร่วมกับนักศึกษาไทยได้ ผลจากมาตรการนี้ ทำให้นักศึกษาจากต่างประเทศนอกจากจะสามารถอยู่ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังช่วยให้พวกเขาสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเพื่อสามารถพัฒนาตนเองจนเป็นนักออกแบบที่ได้มาตรฐานตามหลักสูตรของอิตาลีด้วย และเพื่อผลักดันนโยบายความเป็นนานาชาติให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น สถาบันฯ ยังได้กำหนดโครงสร้างองค์กรและกำหนดผู้บริหารที่จะแสวงหาและจัดทำความร่วมมือกับสถาบันด้านการออกแบบต่างๆ โดยการทำข้อตกลงที่จะนำหลักสูตรจากสถาบัน ชั้นนำของโลก มาเปิดสอนการแลกเปลี่ยนหรือจัดหาอาจารย์ที่มีประสบการณ์มาสอนที่สถาบันฯ รวมทั้งจัดนักศึกษาแลกเปลี่ยนหรือการทัศนศึกษาดูงานในต่างประเทศ เพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับนักศึกษาของสถาบันที่จะได้เรียนรู้แนวคิดและวัฒนธรรมด้านการออกแบบที่แตกต่างกันออกไปทั่วโลก จากนโยบายความเป็นสากลนี้ ประชาคมอาเซียนย่อมที่จะสามารถเข้ามาศึกษา ฝึกอบรมหรือดูงานที่ซีไอดีไอชนาพัฒน์ได้ และท้ายที่สุดคนไทยก็จะได้รับประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์จากการเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาการออกแบบของอาเซียน”

“เมื่อพิจารณาขีดความสามารถทางการแข่งขันระดับประเทศแล้วนั้น โดยภาพรวมของการพัฒนาด้านการออกแบบของเมืองไทยนั้นยังคงมีศักยภาพที่โดดเด่น การออกแบบไทยถือได้ว่ามีสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานต่างๆ ที่ดี เช่น มีสถาบันการศึกษาด้านการออกแบบทั้งในระบบและนอกระบบ สถาบันอุดมศึกษาและสถาบันฝึกฝนวิชาชีพที่พัฒนานักออกแบบไทยที่มีศักยภาพสามารถผลิตนักออกแบบเพื่อป้อนสู่วงการออกแบบได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีหน่วยงาน สนับสนุนด้านการออกแบบและส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่ช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับนักออกแบบ ภาครัฐเองก็ให้การสนับสนุนการประกอบการต่างๆ ที่เน้นการออกแบบเป็นสำคัญ โดยผ่านทางหน่วยงานของรัฐ เช่น ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (OKMD) และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นต้น

ด้านผู้ซื้อไทยเองต้องถือว่ามีความพิถีพิถัน ในการเลือกสินค้าที่เน้นการออกแบบโดยสินค้านั้นต้องมีทั้งประโยชน์ใช้สอยและความสวยงาม รวมถึงพิจารณาทั้งคุณภาพ ราคา และความประณีตในการผลิต การที่จะสามารถเจาะตลาดผู้ซื้อของไทยย่อมไม่ใช่เรื่องที่ง่าย ในด้านการแข่งขันและผู้ประกอบการก็มีผู้ประกอบการด้านการออกแบบทั้งที่เป็นรายใหญ่และรายย่อย รวมทั้งมีแบรนด์ระดับ Global Brand เข้ามาทำตลาดในเมืองไทย ผู้ประกอบการในไทยจะต้องพยายามสรรค์สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อที่จะสามารถจูงใจผู้ซื้อไทย เพื่อแย่งชิงหรือรักษาส่วนแบ่งตลาดเอาไว้ให้ได้ ปัจจัยด้านผู้ซื้อและการแข่งขันนี้จะเป็นปัจจัยกดดันการพัฒนา ด้านการออกแบบไทยให้ต้องมีการออกแบบที่มีมูลค่าเพิ่มมากยิ่งขึ้น เมื่อพิจารณาที่ตัวผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เน้นการออกแบบต้องถือว่ามีจำนวนไม่น้อยที่มีศักยภาพและสามารถแข่งขันในระดับอาเซียนและระดับโลกได้ เช่น ในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มหรือในวงการแฟชั่น ต้องถือว่ามีผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งย่อมจะเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการรักษาต้นทุนให้สามารถแข่งขันได้ และผู้ประกอบการในส่วนต่างๆ ได้มีการร่วมกลุ่มสร้างเครือข่ายกันอย่างเข้มแข็ง ซึ่งย่อมจะสนับสนุนต่อการเสริมสร้างความได้เปรียบเชิงแข่งขันอย่างมาก และในขณะนี้เองก็มีผู้ประกอบการแฟชั่นจำนวนมาก ที่ประสบความสำเร็จสามารถพัฒนาแบรนด์จนเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และสินค้าเพื่อการออกแบบตกแต่งภายในเองก็มีผู้ประกอบการไทยจำนวนไม่น้อยที่ได้เปิดสาขาในต่างประเทศ และเมื่อพิจารณาปัจจัยต่างๆ ข้างต้นนี้แล้ว การพัฒนาด้านการออกแบบไทยยังมีความโดดเด่นที่สามารถแข่งขันได้ และเชื่อได้ว่าผู้ประกอบการด้านการออกแบบของไทยจะมีศักยภาพสามารถแสวงหาโอกาสจากการเปิดเสรีอาเซียนได้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าประเทศในอาเซียนจะอยู่เป็นเพื่อนบ้านกัน แต่ต่างก็มีความหลากหลายในด้านพฤติกรรมการบริโภค รวมทั้งรสนิยมในงานออกแบบที่แตกต่างกัน ผู้ประกอบการไทยจึงต้องศึกษาวัฒนธรรมและวิธีคิดของกลุ่มเป้าหมายในประเทศต่างๆ เพื่อที่จะสามารถออกแบบได้สอดคล้องกับตลาดนั้น” ศ. พิเศษ ดร.สาคร กล่าวสรุป

ในปี 2556 สถาบันได้จัดกิจกรรม Open House ในวันที่ 8 กันยายน 2556 เวลา 10.00-13.00 น. ณ สถาบัน ซีไอดีไอ ชนาพัฒน์ ปุณณวิถี 20 ซอยสุขุมวิท 101 ผู้สนใจสามารถสำรองที่นั่งได้ที่ www.chanapatana.com หรือ โทร.0-2741-3717-8

 

วันที่ 20/08/2556 เวลา 22:58 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

333

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน