พณ.จ่อปรับเป้าส่งออกใหม่

เอกชนจี้รัฐพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสู่เออีซี

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เพื่อทบทวนตัวเลขการส่งออกของประเทศ โดยคาดว่าจะทราบผลในระยะเวลา 1-2 เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้ ยังไม่สามารถระบุได้ว่ายอดส่งออกปีนี้จะโตถึง 5% หรือไม่ โดยส่วนตัวมองว่าแนวโน้มภาพรวมการส่งออกในครึ่งปีหลังอยู่ในทิศทางที่ดีกว่าในครึ่งปีแรก ซึ่งจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่ภาครัฐและภาคเอกชนได้มีส่วนช่วยกันผลักดันให้มีสินค้าส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้น โดยทางรัฐบาลได้ให้กรมการค้าต่างประเทศศึกษาความเป็นไปได้ของการส่งออกสินค้าไปยังประเทศคู่ค้าให้เพิ่มขึ้น รวมถึงการเจรจากับประเทศที่ยังไม่ได้เป็นคู่ค้าเพื่อทำให้เป็นประเทศที่เป็นคู่ค้า และเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าที่เพิ่มขึ้น สำหรับเหตุการณ์ความไม่สงบที่ประเทศอียิปต์นั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศไทยมากนัก เพราะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการส่งออกไปยังต่างประเทศ

“ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจเพื่อหารือและทบทวนตัวเลขการส่งออกของประเทศในปีนี้ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 เดือน แต่อย่างไรก็ตามไม่สามารถบอกได้ว่าจะโตถึง 5% หรือไม่ ส่วนตนเชื่อว่าภาพรวมในครึ่งปีหลังน่าจะมีทิศทางดีกว่าครึ่งปีแรก โดยทางรัฐบาลและเอกชนได้ช่วยกันผลักดันให้มียอดส่งออกเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ สำหรับเหตุการณ์ที่อียิปต์ มองว่าเป็นเรื่องปกติ และกระทบภาพรวมการส่งออกของไทยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น” นายนิวัฒน์ธำรง กล่าว

นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวในการเป็นประธานเปิดการสัมมนา AEC and SMEs Challenges : Next steps (phase 4) จัดโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การอยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างในภูมิภาคอาเซียน ทางด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง สังคมและวัฒนธรรม” โดยระบุว่า AEC จะสร้างโอกาสจากขนาดตลาดใหญ่ขึ้นจาก 60 ล้านคนเป็น 600 ล้านคน แต่หากไม่แข็งแรงจะเสียเปรียบได้ ทั้งนี้ AEC จะเริ่มวันที่ 31 ธ.ค.58 โดยจะเริ่มด้านเศรษฐกิจก่อน ซึ่งเป็นบริบทของการแข่งขันธุรกิจยุคใหม่ ทำให้เกิดความท้าทายทางธุรกิจ และยังเพื่อการแข่งขันในเวทีโลกด้วย โดยการเปิดเสรีด้านการค้าสินค้าใน AEC นั้น อัตราภาษีสินค้าจะเหลือ 0% และมีเป้าหมายเปิดเสรีภาคบริการโดยให้ต่างชาติถือหุ้นได้มากกว่า 70% ในปี 2558 และล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ส.ค.56 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์ลงนามเปิดเสรีตามข้อผูกพันชุดที่ 9 หลังจากลงนามมาแล้ว 8 ชุด เปิดเสรีรวม 84 สาขา และเพิ่มเป็น 104 สาขา จากนั้นจะทยอยเปิดเสรีเพิ่มอีก 20 สาขาจนครบ 128 สาขาต่อไป ทั้งนี้ จะต้องผ่านความเห็นชอบของสภาฯ ด้วย

นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การเข้าสู่อาเซียนนั้น นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญมากและหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ของประเทศและยุทธศาสตร์เข้าสู่ AEC เอาไว้แล้ว ทั้งนี้ ได้เน้นให้ความสำคัญกับภาคเอกชน สำหรับภาพรวมแล้ว SMEs ไทยมีความพร้อมในการเข้าสู่ AEC ถึง 70% โดยทุกหน่วยงานของรัฐบาลได้ร่วมมือกันบูรณาการพัฒนา SMEs ให้มีความพร้อมมากที่สุดแล้ว

สำหรับประเด็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการก่อนเข้าสู่ AEC ปี 2558 ได้แก่ การพัฒนาเมืองชายแดน การพัฒนาการเชื่อมโยงการค้าการลงทุน พัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ สร้างความตระหนักรู้เรื่องอาเซียน พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียน พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานกำลังคน กระจายระบบสวัสดิการให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุม เตรียมด้านการศึกษา พัฒนาบุคลากรภาครัฐ เสริมสร้างความมั่นคงในอาเซียน

โดยผู้ประกอบการ SMEs รัฐบาลได้ให้ความสำคัญที่จะได้รับการพัฒนา เพราะมีจำนวนมากถึง 2.6 ล้านราย คิดเป็น 99% ของกิจการในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาต้องเผชิญปัญหาภาวะเศรษฐกิจโลกและเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือ โดยมี SMEs ขอความช่วยเหลือในช่วง 7 เดือนนี้รวม 428 ราย ส่วนใหญ่ขอความช่วยเหลือแรงงาน พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ต้นทุนการผลิต ด้านภาคสินเชื่อและด้านการเงิน และรัฐบาลจะยังให้ความช่วยเหลือต่อไป

ส่วนประเด็นที่ท้าทายของ SMEs การใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรี AEC ในเชิงรุก เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ การยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าและบริการ การพัฒนาตัวสินค้าให้มีนวัตกรรมตรงกับความต้องการของตลาดให้มากที่สุด รวมถึงต้องแสวงหาตลาดที่มีศักยภาพและตลาดเฉพาะ (Niche Market) และการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาหอการค้าฯ เห็นด้วยในหลักการที่รัฐบาลจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในวงเงิน 2 ล้านล้านบาท เพราะจะส่งผลดีต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เนื่องจากช่วยในการขนส่งสินค้าจากแหล่งผลิตไปตลาดสู่ตลาด AEC โดยเฉพาะโครงการรถไฟรางคู่ควรจะต้องเร่งดำเนินโครงการก่อนโครงการอื่นๆ

 

 

วันที่ 17/08/2556 เวลา 8:35 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

332

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน