กรมป่าไม้ปรับยุทธศาสตร์ใหม่

สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

จากกระแสย่างเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทำให้ให้การดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ที่จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และนโยบาย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และการรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงเป็นอย่างมากในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าหรือการส่งออกสุทธิ ทรัพยากรธรรมชาติ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้ โดยคำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากป่าไม้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด อีกทั้งการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีการผลิตใช้ปัจจัยการผลิต และการใช้วัสดุทดแทนของปัจจัยการผลิตต่างๆ ให้ตอบโจทย์พฤติกรรมการบริโภคของประชาชน ความต้องการของตลาดเพื่อสู่การแข่งขันในระดับภูมิภาค และตลาดโลกได้อย่างแข็งแกร่ง

กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแล ป้องกัน ฟื้นฟู วิจัยศึกษา ประเมินสถานการณ์ป่าไม้ และส่วนอื่นๆ อีกมากมาย เกี่ยวกับทรัพยากรป่าไม้ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการก้าวเข้าสู่ประชาอาเซียนด้วยเช่นกัน จึงจัดการประชุมการป่าไม้ประจำปี พ.ศ.2556 ภายใต้ชื่องาน “ผลผลิตและงานวิจัยป่าไม้ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เพื่อเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ ความเข้าใจ ด้านการบริหารและด้านวิชาการป่าไม้ สร้างเครือข่ายการดำเนินงานด้านทรัพยากรป่าไม้ให้เข้มแข็ง และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรค พร้อมพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ในด้านป่าไม้

การประชุมการป่าไม้ประจำปี 2556 ครั้งนี้ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-9 ส.ค. ที่ผ่านมานั้น ถือเป็นการดำเนินการครั้งที่ 2 นับจากที่ห่างหายไปนานกว่า 10 ปี นับตั้งแต่ ครม.ได้มีมติให้แบ่งส่วนราชการของกรมป่าไม้เมื่อปี 2545 โดยผลสรุปการประชุมป่าไม้ทั้ง 5 วันที่ผ่านมา กรมป่าไม้มีแนวทางการปฏิบัติงานเกี่ยวกับนโยบายการป่าไม้แห่งชาติ และยุทธศาสตร์การจัดการ ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ 6 แนวทาง คือ

1.ใช้แนวคิดเชิงนโยบายในรูปแบบการป้องกันรักษาป่า การฟื้นฟูป่า การมีส่วนร่วมกันระหว่างป่ากับคน การปฏิบัติตามกฎหมาย การขยายพื้นที่สีเขียวในเชิงรุก และต้องมีการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่

2.ป่าในเมืองเพื่อคุณภาพชีวิตจะเป็นการสร้างพื้นที่สีเขียว โดยการมีส่วนร่วมในชุมชนเพื่อใช้เป็นห้องเรียนธรรมชาติของเยาวชน และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน พร้อมจัดป่าชุมชนทั่วประเทศ รวมทั้งการคัดเลือกชนิดไม้ที่เหมาะสมของป่าในเมือง และการตัดแต่งกิ่งต้นไม้กับสายไฟฟ้า ว่าควรทำอย่างไรจึงจะเหมาะสมและสวยงาม

3.ป่าเศรษฐกิจ ถือเป็นทางรอด ทางรวยของประเทศ ดังนั้น กรมป่าไม้จะเพิ่มพื้นที่เศรษฐกิจ พร้อมพัฒนาเทคนิคการแปรรูปและเครื่องมือให้เหมาะสมกับชนิดไม้ในประเทศไทย และใช้ไม้ให้คุ้มค่ามากที่สุด

4.การเพิ่มมูลค่าผลิตผลป่าไม้จากงานวิจัย ซึ่งทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้สนับสนุนเงินงบประมาณ และวิชาการที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย ยังเสนอให้ศึกษาและพัฒนาเครื่องเลื่อยให้เหมาะสมกับการแปรรูปชนิดไม้ในประเทศไทย อันเป็นการลดต้นทุน ทำให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้

5.EU FLEGT หรือแผนปฏิบัติการของสหภาพยุโรป ได้เสนอให้มีการปรับปรุงกฎหมาย รวมถึงการยกเลิกมติ ครม.ปี 2543 ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนปัญหาการปลูกไม้สัก คือ รายได้ไม่เอื้อ ระเบียบไม่อำนวย รวมถึงการส่งออกไม้แปรรูปสักไม่ได้

6.ประชาชนร่วมมือป่าไม้ยั่งยืน โดยกรมป่าไม้จะปรับเปลี่ยนบทบาทการทำหน้าที่ เป็นผู้ส่งเสริมประสานงานอำนวยความสะดวก เชื่อมโยงข้อมูลทางวิชาการให้ไปสู่กลุ่มเป้าหมาย โดยได้ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายอย่างจริงจัง

การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ครั้งนี้ คาดว่าอนาคตทรัพยากรป่าไม้ไทยคงจะฟื้นฟูพร้อมพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการป่าไม้ได้อย่างยั่งยืน แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ความร่วมมือร่วมใจ พิทักษ์และดูแลของประชาชนที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะเป็นพลังนำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนโดยแท้จริง

คนเดินทาง/รายงาน

 

วันที่ 17/08/2556 เวลา 9:52 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

261

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน