ปู-3เหล่าทัพหวานชื่นมื่น “บิ๊กบัง”การันตีนิรโทษ
รัฐบาลเดินหน้าเข็นเวทีปฏิรูป “หมอประเวศ” หนุนอยู่เบื้องหลังแต่ปัดร่วมวง แนะชงเป็นวาระแห่งชาติ-แยกจากปรองดอง พร้อมมอบหนังสือโรดแม็พการปฏิรูปฯ ขณะที่ “2 เทพ” น้อมรับข้อเสนอไปพิจารณา โวนัดกล่อมสภาอุตฯ-หอการค้า-เกษตรกรแห่งชาติร่วมวง 15 ส.ค.นี้ คาดสัปดาห์หน้าเปิดเวทีถกนัดแรก ด้าน “พท.” เสียงแข็งเวทีปฏิรูปไม่ปาหี่สร้างภาพ วอน ปชป.เลิกตั้งแง่หันร่วมวง ส่วน “บิ๊กบัง” การันตีเวทีปฏิรูปไม่ใช่เป้าหลอกปูทางนิรโทษทักษิณ ขณะที่ “ปชป.” ยืนกรานไม่ร่วมสังฆกรรม หากไม่ถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ เหน็บปูอยากปรองดองจริงใช้เวทีสภาคุย อย่ามัวแต่หนี ลั่น 163 ส.ส. ยื่นแปรญัตติ พ.ร.บ.นิรโทษฯ ครบทุกคน ด้าน “กปท.” ตั้งแง่หนุนปฏิรูป ลั่นต้องล้มระบอบทักษิณก่อน ส่วน “นายกฯ ปู” แฮปปี้ “ผบ. 3 เหล่าทัพ” ต้อนรับชื่นมื่น ตรวจเยี่ยมกองทัพไทย หวานเชื่อใจทหาร-ไม่หวาดระแวง ยันไม่ล้วงลูกโผโยกย้าย ขอบคุณทำงานร่วมรัฐบาลเป็นอย่างดี
สภาถกงบประมาณปี 57
เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 วงเงิน 2.525 ล้านล้านบาท ในวาระ 2 ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว โดยนายสมศักดิ์แจ้งต่อที่ประชุม ว่า จะมีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ช่อง 11 สถานีโทรทัศน์รัฐสภา และวิทยุรัฐสภา ตลอดการประชุม จากนั้นนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้รายงานผลการพิจารณาว่า มีการปรับลด รวม 31,899,360,300 บาท เพื่อนำไปปรับเพิ่มให้ส่วนราชการ 31,012,535,300 บาท ให้หน่วยงานของรัฐสภา ศาล และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ 886,825,000 บาท ดังนั้น จึงยังคงวงเงินไว้ที่ 2.525 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาล และยุทธศาสตร์ประเทศ โดยยึดการใช้จ่ายจริงจากปีที่ผ่านมาประกอบการพิจารณาอย่างเข้มงวด ทั้งโครงการที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน มีเป้าหมายไม่ชัดเจน มีความจำเป็นน้อยไม่ประหยัด โครงการที่ดำเนินการล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด หรือรายการผูกพันงบประมาณ
ปชป.ชำแหละ หมกเม็ด ยัดไส้
จากนั้น นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ขอสงวนความเห็นโดยขอตัดงบประมาณลดลง 0.1% เนื่องจากหลายนโยบายเปิดช่องให้มีการทุจริตและไม่ครอบคลุมประชาชนทั้งหมด ทั้งโครงการรับจำนำข้าว ที่มีการปิดกั้นทาง กมธ.ไม่ให้ตรวจโรงสี กระทรวงพาณิชย์ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาราคายางพาราและปาล์มน้ำมันตกต่ำ นโยบายค่าแรง 300 บาทไม่ครอบคลุมประชาชนทุกพื้นที่ แม้แต่ลูกจ้างที่ทำงานในสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ยังได้รับค่าแรงเพียง 200 กว่าบาทต่อวันเท่านั้น โดยเฉพาะงบประมาณของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่พบโครงการที่ส่อทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างหลายโครงการ เช่น การจัดซื้อนาฬิกาแบบดิจิตตอลเรือนละ 7.5 หมื่นบาทจำนวน 200 เรือน ใช้งบประมาณ 5 ล้านบาทปรับปรุงห้องสื่อมวลชนสภาที่ถือว่าแพงที่สุดในโลก โครงการพาชมทุ่งดอกกระเจียว จ.ชัยภูมิ งบประมาณ 3.3 ล้านบาท ทั้งยังพบว่าในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2557 ยังมีการตั้งงบถึง 80 ล้านบาทเพื่อจัดซื้อไมโครโฟนติดตั้งในห้องประชุมสภาฯ ทั้งที่สภาพยังสามารถใช้งานได้ดี ยังพบว่ามีการจัดงบประมาณ 30 ล้านบาท เพื่อติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในพื้นที่รัฐสภา รวมถึงในห้องเลขาธิการสภาฯ จำนวน 40 ล้านบาท นอกจากนั้นทางสำนักเลขาธิการสภาฯ ยังใช้งบประมาณ 2.3 ล้านบาทต่อปีเพื่อจ้างบริษัทเอกชนดำเนินการเก็บขยะในสภา จากเดิมที่จ้างหน่วยงานของ กทม.ในการเก็บขยะซึ่งเสียค่าใช้จ่ายเพียง 1 หมื่นบาทต่อปีเท่านั้น
เดือดประท้วงวุ่น
ทั้งนี้ ระหว่างการอภิปรายของนายวัชระ ที่นานกว่า 1 ชั่วโมง ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้มีการทักท้วงเรื่องการอภิปรายอยู่เป็นระยะๆ รวมถึงขอให้สละสิทธิ์การอภิปรายแต่ก็ไม่เป็นผล ทำให้นายสมศักดิ์ กล่าวต่อที่ประชุมว่า สำหรับโครงการจัดซื้อจัดจ้างในรัฐสภา ตนไม่ทราบมาก่อน ตนขอสาบานต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ว่าตนไม่ทราบ และรู้หลังจากที่เป็นข่าวไปแล้ว ทั้งนี้ตนได้เรียกนายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มาสอบถาม โดยนายสุวิจักขณ์ ยืนยันว่าทำถูกต้องและพร้อมชี้แจงในทุกประเด็น แต่ตนขอเอกสารอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว อย่างไรก็ตามการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2557 อย่าพูดทำให้บุคคลอื่นเสียหาย หรือกล่าวหาบุคคลอื่นว่าทุจริตหรือโกง หากจะอภิปรายต่อขอให้ระบุในกรอบของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ จากนั้น นายสมศักดิ์ วินิจฉัยขอให้พิจารณาในกรอบ ไม่ใช่อยากพูดอะไรก็พูดได้ คำว่าโกง หรือทุจริต แม้แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจยังห้ามพูด แต่หากอยากพูดขอให้ยื่นญัตติไม่ไว้วางใจวันนี้เลย แล้วตนจะบรรจุให้ นี่เป็นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณวาระสอง ไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ตนไม่ได้สกัดการอภิปราย แต่ท่านวัชระทำหน้าที่เกินความจำเป็นอภิปรายเกิน 1 ชั่วโมงแล้ว แบบนี้ไม่จบหากการพูดไปได้เรื่อยๆ ไม่จบ เห็นว่าควรยุติการอภิปราย อย่างไรก็ตาม การถกเถียงในประเด็นดังกล่าวและช่วงที่นายวัชระอภิปรายได้ใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง จึงเข้าสู่การอภิปรายตามที่มีผู้เสนอคำแปรญัตติ มาตรา 3 ภาพรวมงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ต่อไป จากนั้น ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน สลับลุกขึ้นอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 วงเงิน 2.525 ล้านล้านบาท กันอย่างต่อเนื่อง
นายกฯ ปูตรวจเยี่ยมกองทัพไทย
ส่วนความเคลื่อนไหวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เมื่อเวลา 09.00 น. ได้เดินทางมาที่รัฐสภา เพื่อเซ็นชื่อเข้าร่วมการประชุมก่อนออกไปปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาลทันที จากนั้นเวลา 11.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เดินทางมายังกองบัญชาการกองทัพไทย ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อตรวจเยี่ยมกองทัพ ในฐานะ รมว.กลาโหม โดยได้รับฟังการบรรยายสรุปภารกิจ และมอบนโยบายการปฏิบัติภารกิจ ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มี พล.อ.ธนศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ชาการทหารบก ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงห์แก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้การต้อนรับนายกฯ และ รมว.กลาโหม ได้ขึ้นแท่นรับความเคารพจากกองทหารเกียรติยศจาก 3 เหล่าทัพ พร้อมถวายสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของกองทัพไทย สักการะพระพุทธนวราชบพิตรและถวายสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระปิยมหาราช จากนั้นได้ร่วมประชุมรับฟังบรรยายสรุปการปฏิบัติงานของกองทัพไทย พร้อมมอบนโยบายการปฏิบัติงาน จากนั้น นายกฯ และ รมว.กลาโหม ร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับผู้นำเหล่าทัพ โดยในวันที่ 16 ส.ค.นี้ นายกฯ และ รมว.กลาโหม มีกำหนดการไปตรวจเยี่ยมกองทัพบกเป็นหน่วยงานต่อไป อย่างไรก็ตาม ก่อนที่คณะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเดินทางมาถึง บก.กองทัพไทย ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมของ ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล หรือ “ผู้กองปูเค็ม” มายื่นชูป้ายต่อต้านการบริหารงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยมีข้อความว่า “กินข้าวพอแล้ว อย่ากินชาติ” พร้อมโห่ไล่และชูป้ายที่จัดเตรียมมา แต่ไม่เกิดการณ์วุ่นวายใดๆ อย่างไรก็ตาม ทางนายทหารที่ดูแลรักษาความปลอดภัยได้ให้ขบวนรถของนายกฯ เลี่ยงเข้าทางด้านหลัง ไม่เข้าทางด้านหน้ากองทัพไทย เพื่อหลีกการเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ชุมนุม
ยันเชื่อใจทหาร-ไม่หวาดระแวง
จากนั้นเวลา 14.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมด้วย พล.อ.ยุทธศักดิ์ พล.อ.ธนะศักดิ์ ผบ.เหล่าทัพ และ ผบ.ตร. ร่วมกันแถลงข่าว โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ในฐานะ รมว.กลาโหมได้มอบนโยบายและรับฟังการทำงานที่ผ่านมาของกองทัพไทย ซึ่งการมาครั้งนี้ถือว่า มาให้กำลังใจและขอบคุณกองทัพไทย รวมถึงทุกเหล่าทัพที่ได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลมาตลอด 2 ปี ที่ผ่านมากำลังพลทำงานหนัก ทั้งเรื่องการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนและรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ รวมถึงการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นหน้าที่หลัก ทั้งนี้กองทัพไทยเป็นหน่วยงานที่จะทำงานด้านบูรณาการได้อย่างสมบูรณ์ สำหรับการทำงานร่วมกับทุกเหล่าทัพวันนี้ต้องอาศัยการบูรณาการอย่างเป็นระบบ ทั้งการแก้ไขปัญหาควบคู่กับการพัฒนา รวมถึงการทำงานเชื่อมต่อกับรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติด การดูแลป้องกันปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงปัญหาชายแดนด้านต่างๆ และเตรียมรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อีกทั้งการป้องกันอาชญากรรม และการก่อการร้ายในรูปแบบต่างๆ ในฐานะที่ดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหมยินดีทำงานร่วมกับกองทัพไทยและทุกเหล่าทัพเพื่อบูรณาการงานทุกด้าน และการส่งเสริมด้านต่างๆ ทั้งขวัญกำลังใจของกำลังพล สนับสนุนงานให้เกิดประสิทธิภาพ ที่สำคัญเพื่อให้ประเทศเกิดความมั่นคง และเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด ซึ่งจากการทำงานร่วมกับกองทัพมา 2 ปี รู้สึกพอใจ เพราะทหารช่วยกันทำงาน ทุกคนทำหน้าที่และภารกิจของตนเองอย่างเต็มที่ และไม่มีความหวาดระแวงกันระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ เพราะถ้ารัฐบาลทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมีความกังวลใดๆ โดยยึดหลักความไว้วางใจในการทำงานร่วมกัน เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน พร้อมทั้งเชื่อว่า จะทำงานร่วมกันเป็นอย่างดี ยืนยันว่า ไม่มีการแทรกแซงในการแต่งตั้งโยกย้ายบัญชีรายชื่อนายทหารประจำปี 2556 ซึ่งทุกอย่างให้เป็นไปตามขั้นตอน
“ประเวศ” ปัดร่วมวงปฏิรูป
ขณะที่ นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เดินทางไปพบ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เพื่อเชิญเข้าร่วมในคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองตามนโยบายของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดย ศ.นพ.ประเวศ ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในคณะกรรมการชุดดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าอายุมากแล้ว อายุ 82 แล้ว ต้องการให้คนรุ่นใหม่เข้าไปทำหน้าที่ และยินดีที่จะสนับสนุนคณะกรรมการชุดนี้อยู่ข้างนอก จะสะดวกมากกว่า เพราะถือเป็นคนกลางอย่างแท้จริง จะทำให้ข้อเสนอแนะมีน้ำหนัก รวมทั้งยินดีที่จะให้ข้อเสนอแนะคณะกรรมการในโอกาสหน้า ทั้งนี้สนับสนุนการปฏิรูป แต่ต้องเป็นระเบียบ และอยากให้เป็นวาระแห่งชาติ เราสามารถสร้างอนาคตที่ดีได้ เรื่องปฏิรูปการเมือง ผมเคยอยู่คณะกรรมการประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2538 ตอนที่ นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี จนนำมาสู่รัฐธรรมนูญปี 2540 แต่มันก็ไม่ค่อยได้ผล เรามีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 18 ฉบับ ผมได้เสนอหลักการ คือตอนนี้เครื่องมือมีเยอะ ขาดการออกแบบ ถ้ามีการออกแบบจะทำงานได้ง่ายขึ้น
แนะอย่านำปรองดองปนปฏิรูป
น.พ.ประเวศ กล่าวว่า ขอเสนอแนวทางการปฏิรูปให้กับรัฐบาล อย่านำเรื่องของการปรองดองและการปฏิรูปมาปนกัน เพราะการปรองดองเป็นการแก้ไขเรื่องอดีตที่มีบุคคลเกี่ยวข้องหลายฝ่าย อาจทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีก ขณะที่การปฏิรูปการเมือง เป็นการสร้างอนาคตร่วมกัน เรื่องปรองดองเป็นเรื่องที่คนทะเลาะกัน ในหนังสือที่ผมเสนอให้ คุณพงษ์เทพ เทพกาญจนา และ วราเทพ รัตนากร คือการออกแบบ 3 อย่าง อย่างแรกคือ คณะกรรมการปฏิรูปการเมือง อย่างที่สองคือ คณะกรรมการเครือข่ายประชาชนปฏิรูปการเมือง และอย่างที่สาม คือ สภาปฏิรูปการเมือง
“2 เทพ” รับปากนำข้อเสนอพิจารณา
ด้านนายพงษ์เทพ กล่าวว่า จะนำข้อเสนอแนะของ ศ.นพ.ประเวศ ไปเป็นข้อมูลให้กับคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองได้พิจารณาต่อไป โดยสัปดาห์หน้าคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองจะมีการประชุมนัดแรก และในวันศุกร์นี้น่าจะเปิดเผยรายชื่อบุคคลที่เข้าร่วมในคณะกรรมการชุดนี้ได้ว่ามีใครบ้าง
พท.ยันปฏิรูปไม่ปาหี่สร้างภาพ
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่ น.พ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เสนอให้ทุกฝ่ายมาร่วมการปฏิรูปเป็นวาระแห่งชาติ ถือเป็นความเห็นของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่ทุกฝ่ายควรรับฟัง วันนี้แนวทางที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เสนอ เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายเห็นด้วยมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงวันนี้รัฐบาลก็ไม่ได้แสดงท่าทีเข้าไปครอบงำ หรือบงการอะไร ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนที่มาเข้าร่วมที่จะกำหนดรูปแบบ โครงสร้าง รวมถึงตัวประธานคณะปฏิรูปเอง จึงอยากขอร้องให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เลิกตั้งแง่ที่จะเข้ามาร่วม โดยสร้างเงื่อนไขว่าจะต้องถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ออกไปก่อน ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ระบุว่า การที่นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ไม่เข้ามาร่วมเพราะไม่อยากเป็นเครื่องมือของรัฐบาล ซึ่งตามจริงนั้น นายโคฟี ติดภารกิจ จึงไม่สามารถเข้าร่วม การที่รัฐบาลเชิญบุคคลสำคัญระดับโลกเข้ามา ไม่ได้หวังประโยชน์ หรือการสร้างภาพ แต่ต้องการรับฟังมุมมองมิติใหม่ๆ อยากเห็นวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งของแต่ละประเทศว่าเป็นอย่างไร เผื่อว่าจะนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้บ้าง
“นพดล” ฉะมาร์คบิดเบือนเวทีปฏิรูป
นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าประชาธิปัตย์ กล่าวหาว่าแนวคิดสภาปฏิรูปการเมืองเป็นเกมรุกของ พ.ต.ท.ทักษิณ และมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 309 เพื่อล้างผิด พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น ตนไม่รู้สึกแปลกใจในความคิดของนายอภิสิทธิ์ที่โยนทุกเรื่องเป็นเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ นอกจากจะปฏิเสธไม่เข้าร่วมสภาปฏิรูปการเมืองแล้ว ก็ยังออกมาบิดเบือนแนวคิดนี้ ขณะนี้บ้านเมืองเรามีความขัดแย้ง นายกฯ จึงเสนอให้มีเวทีเพื่อให้คู่ขัดแย้งและผู้ที่มีส่วนได้-เสีย และมีบารมีในบ้านเมืองมาพูดคุยเพื่อหาทางออก ซึ่งทุกคนมาร่วมด้วยความบริสุทธิ์ใจไม่ใช่เกมรุกหรือการเตรียมแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 309 ตามที่นายอภิสิทธิ์กล่าวหา พรรคประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์มีสิทธิ์ที่จะร่วมหรือไม่ร่วม แม้ว่ารัฐบาลอยากจะให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วม แต่ประเทศนี้จะต้องเดินหน้าไม่ว่าจะมีนายอภิสิทธิ์หรือไม่ก็ตาม ความจริงสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์มีการพูดคุยกัน ว่าอยากจะให้พรรคเข้าร่วม แต่หัวหน้าพรรคทำเรื่องบ้านเมืองให้เป็นเรื่องการเมือง และต้องการบอยคอตเวทีสภาปฏิรูป จึงมี ความเป็นห่วงว่าหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะถูกโดดเดี่ยวถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ปัดเวทีปฏิรูปปูทางนิรโทษแม้ว
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ กล่าวว่า เวทีสภาปฏิรูปการเมือง เป็นแนวคิดที่ดีมาก ส่วนจะทำสำเร็จหรือไม่ คงตอบไม่ได้ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกภาคส่วน ส่วนการที่คู่ขัดแย้งหลายฝ่ายปฏิเสธไม่ร่วมเวทีปฏิรูป คงต้องถามว่า เหตุใดจึงไม่เห็นด้วยในภาวะที่ประเทศมีอุปสรรคและมีความจำเป็นต้องหาทางออกให้ได้ เมื่อมีคนคิดเสนอทางออกมา ก็ควรรับฟัง เรื่องนี้เป็นกระบวนการคิดของคนทั้งประเทศ ไม่ได้อยู่ที่กลุ่มใดหรือพรรคพรรคใด แต่เป็นความจำเป็นที่คนทั้งประเทศต้องมาช่วยกันคิด ถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุด เมื่อถามว่า สุดท้ายสภาปฏิรูปจะเป็นมวยล้มต้มคนดูหรือไม่ พล.อ.สนธิตอบว่า อย่าพูดอย่างนั้น การเมืองต้องพูดเพราะๆ เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านมองว่า เวทีปฏิรูปการเมืองเป็นเป้าหลอกเพราะพรรคเพื่อไทยและ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ พล.อ.สนธิตอบว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ เห็นได้จากรายชื่อบุคคลที่มาร่วม อาทิ นายโคทม อารียา และอีกหลายคนล้วนเป็นนักประชาธิปไตย การจะไปเปลี่ยนแนวคิดของบุคคลเหล่านี้คงไม่ได้ ส่วนกระแสข่าวถูกวางตัวเป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้น ไม่มีและคงเป็นไปไม่ได้เพราะผิดหลักการ เนื่องจากเรื่องนี้ทางพรรคเพื่อไทยเป็นผู้เสนอ คงไม่เอาบุคคลอื่นมาดำเนินการ
ฝ่ายค้านเย้ยรัฐหน้าแตก
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ที่นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาฯ องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ปฏิเสธไม่ร่วมการเวทีสภาปฏิรูปการเมืองตามแนวคิดของนายกฯ นั้น รัฐบาลหน้าแตกเพราะโฆษณาไว้มาก ที่ผ่านมา นายโคฟี ระบุแล้วว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาคือ ต้องฟังความเห็นของ คอป. เพราะรัฐบาลที่แล้วตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาแล้ว ซึ่ง คอป.เสนอว่า ไม่ควรเร่งรัดออกกฎหมายนิรโทษกรรม รัฐบาลนี้ก็ไม่ทำ แต่ซ้ำยังเร่งออกกฎหมายนี้ ดังนั้นการตั้งสภาปฏิรูปการเมืองจึงเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่นำไปสู่เป้าหมายของรัฐบาล มีวาระซ่อนเร้นคือนำไปสู่การล้างผิดและกินรวบประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่คำพูดที่ซ้ำซากแต่เป็นเป้าหมายซ้ำซากที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ฝ่ายค้านจำเป็นต้องบอกสังคมว่า สุดท้ายการปฏิรูปนี้ก็เพื่อการแก้รัฐธรรมนูญใหม่หรือแก้ทั้งฉบับ ที่จะไม่มีมาตรา 309 ซึ่งเป็นก้างขวางคอ ก็จะล้างผิดและรัฐธรรมนูญใหม่ที่ได้ จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงองค์กรอิสระ ระบบศาลต่างๆ สุดท้ายสภานี้จะกลายเป็นสภาฝ่ายเดียว ข้างเดียวและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างที่เขาพูดกัน ดังนั้นการปฏิรูปควรเริ่มจากการปฏิรูปพฤติกรรมมากกว่า
ตอกปูหยุดสร้างเงื่อนไขขัดแย้ง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขอให้ผู้นำฝ่ายค้านเข้าร่วมเวทีเสวนาปฏิรูปประเทศไทยนั้น ตนก็อยากจะขอไปยังรัฐบาลว่า ขอให้หยุดสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งได้หรือไม่ ถ้าอยากคุยกันก็มีเวทีสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นหน้าที่ของนายกฯ และตนที่จะต้องมาประชุมอยู่แล้ว ทำไมนายกรัฐมนตรีไม่มาประชุม โดยเฉพาะวันที่มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากของประเทศ และตนก็ของ่ายๆ ว่า ขอให้เลื่อนกฎหมายนิรโทษกรรมออกไปได้หรือไม่ เพื่อจะได้มีเวทีที่ทุกฝ่ายมาร่วม เพราะไม่ใช่แค่ตนที่คัดค้าน แต่นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ยังทักท้วง และกลุ่มอื่นๆ ที่ปฏิเสธการเข้าร่วมก็มาจากเรื่องนี้ทั้งนั้น ส่วนที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ได้ทำหนังสือถึงนายกฯ และผู้นำฝ่ายค้านฯ ขอให้ชะลอกฎหมายนิรโทษกรรมออกไปก่อน เพราะไม่สอดคล้องไม่เหมาะสม หากนิรโทษกรรมแบบนี้จะส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงนั้น ตนคิดว่านายกฯ คงต้องพูดว่ามีอะไรให้มาพูดกันหรือเรื่องนี้เป็นเรื่องของสภา ซึ่งเวลานี้ไม่อยากให้นายกฯ ท่องคำพูดที่ไม่ตรงกับสถานการณ์ อยากให้แก้ปัญหาจริงๆ ซึ่งนายกฯ ควรทบทวนว่าเหตุใดองค์กรตั้งแต่ระดับสหประชาชาติ จนถึง คปก. และหลายคนที่รัฐบาลเชิญร่วมปฏิรูปการเมือง มีข้อเสนอเช่นนี้ แต่ทำไมนายกฯ ไม่พิจารณา ซึ่งสภาปฏิรูปการเมืองไม่ใช่มีเพียงพรรคประชาธิปัตย์ฝ่ายเดียวที่ไม่เข้าร่วม แต่มีหลายคนและมีผู้ใหญ่บางท่านแสดงจุดยืนแล้ว และไม่จริงที่จะโดดเดี่ยวพรรคประชาธิปัตย์
ฉะยึดแต่ผลประโยชน์พวกพ้อง
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า การที่นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ปฏิเสธเข้าร่วมปาฐกถาเรื่องดังกล่าวนั้น เห็นว่าก่อนหน้านี้นายโคฟีเคยเดินทางมายังประเทศไทยในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการอิสระ ตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งมีโอกาสได้พูดคุยด้วย และนายโคฟีแสดงท่าทีชัดเจนว่าอยากให้รัฐบาลสนับสนุนแนวทาง คอป. และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ต้องเลือกระหว่างผลประโยชน์ของประเทศกับผลประโยชน์ของตนเอง แต่ในวันนี้รัฐบาลไม่ดำเนินการตามข้อเสนอ คอป. แต่กลับผลักดันผลประโยชน์ พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคพวกนั้น ตนก็แปลกใจถ้านายโคฟีเดินทางมาไทยโดยรู้ว่ามีความพยายามจะดึงให้มาเพื่อให้เกิดความชอบธรรมต่อสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ ส่วนที่กลุ่มคนเสื้อแดงบุกเรียกร้องให้นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ลาออก หลังจากเปิดเผยผลสรุปคดีความรุนแรงในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองปี 53 นั้น เป็นพฤติกรรมข่มขู่ คุกคาม ทำให้เกิดความกลัวในการปฏิบัติหน้าที่ อยากถามว่ารัฐบาลอยู่ที่ไหน เหตุใดไม่คิดจะคุ้มครองปกป้ององค์กรเหล่านี้ หรือว่ารัฐบาลสนับสนุนให้ทำอย่างนี้ ปรากฏการณ์ที่เราเห็นอยู่ ทั้งเรื่องการตรวจสอบการเล่น Line คดีของนายเอกยุทธ อัญชันบุตร การข่มขู่คุกคามองค์กรอิสระ มันไปในทิศทางเดียวกัน สวนทางกับคำว่าปรองดองและหลักการประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง
163 ปชป.แปรญัตติ นิรโทษฯ
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในวันนี้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 163 คน ได้ยื่นขอแปรญัตติร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมครบทุกคน ซึ่งแต่ละคนก็มีเหตุผลแตกต่างกันในการยืนยันว่าเราไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนายวรชัย เหมะ ซึ่งตรงนี้เป็นการยืนยันเจตนารมณ์ของพรรคในการต่อสู้ ทั้งในสภาวาระที่ 1 ที่ผ่านไปแล้ว และในวาระ 2 ที่กำลังจะมีการพิจารณา และในวาระที่ 3 สมาชิกพรรคทุกคนก็จะทำหน้าที่กันอย่างเข้มข้น เพื่อชี้ให้เห็นว่าความอันตรายของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับดังกล่าวคืออะไร ทั้งนี้ตนขอยืนยันอีกครั้งว่า แนวทางของพรรคประชาธิปัตย์คือเห็นด้วยกับแนวทางปรองดอง และนิรโทษกรรม แต่ต้องเป็นไปเฉพาะกับกลุ่มบุคคล หรือประชาชนที่ทำความผิดลหุโทษ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคง ในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งทางการเมืองเท่านั้น ส่วนการออกจดหมายเปิดผนึกที่จะมีไปถึงองค์กรระหว่างประเทศ ขณะนี่อยู่ระหว่างการตรวจสอบเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งคาดว่าในวันที่ 15 ส.ค. จะสามารถส่งจดหมายดังกล่าวไปยังหน่วยงาน องค์กรระหว่างประเทศ ประชาชน และผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ให้ทราบถึงจุดยืนพรรคประชาธิปัตย์ว่าเราต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อรักษาระบบนิติรัฐของประเทศ ไม่ใช่ขัดขวางหนทางการปรองดอง
หนุนปฏิรูปแต่ต้องไร้ระบอบทักษิณ
นายไทกร พลสุวรรณ เสนาธิการร่วมกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ยืนยันว่า เห็นด้วยกับแนวทางการปรองดองเพื่อปฏิรูปประเทศ แต่เรื่องดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อไม่มีระบอบทักษิณอยู่ในประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ดังนั้น จะไม่มีการปฏิรูปประเทศต่อเมื่อมีระบอบทักษิณอยู่ ขณะที่ปัจจุบันบนโลกออนไลน์ได้เกิดการต่อสู้อย่างดุเดือดของระบอบทักษิณที่หวังมุ่งโจมตีการชุมนุมของ กปท. ด้วยการแฮ็กข้อมูลพร้อมโพสต์ข้อความใส่ร้าย ทำให้สมาชิกเกิดความเข้าใจผิด ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนซึ่งเป็นแฟนเพจ กปท. ติดตามการประกาศของ กปท.ใกล้ชิด อย่างไรก็ดีได้มีเยาวชนติดต่อขอเข้าร่วมการชุมนุมกับ กปท.หลายสถาบัน นำโดยสถาบันอาชีวะหลายแห่ง รวมถึงนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น รามคำแหง เกษตรศาสตร์ รังสิต ธรรมศาสตร์ และจุฬาฯ ซึ่งอยู่ระหว่างปรึกษาหารือกันเพื่อเข้าร่วมทำกิจกรรม นอกจากนี้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาที่รักชาติได้ติดต่อเข้ามาร่วมชุมนุมเช่นกัน แต่ติดปัญหาเนื่องจากทางโรงเรียนกังวลว่าจะถูกกระทรวงศึกษาธิการเล่นงาน แต่เชื่อว่าสุดท้ายจะไม่สามารถห้ามจิตใจนักเรียน นักศึกษา ที่รักชาติเข้าร่วมการชุมนุมได้แน่นอน
“พล.อ.ท.วัชระ” ถอนตัว กปท.
ด้าน พล.อ.ท.วัชระ ฤทธาคนี (เสธ.นิด) หนึ่งในคณะเสนาธิการร่วม กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ได้โพสต์แจ้งผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ถึงการเปิดหน้า Facebook Page ใหม่ ชื่อ “เสนาธิการกองทัพประชาธรรม” โดยระบุว่า “เรียนท่านที่รักชาติและรู้จักผม ผมได้เปิด Facebook Page ใหม่เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและมีเอกภาพในการทำสงครามข้อมูลข่าวสารให้กับกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ ประกอบกับกลุ่มผู้ดำเนินการ FB Page “กองทัพประชาชนโค่นฯ” ที่ผมรับผิดชอบหมดวาระและได้ถอนตัวออกมาหมด ตั้งแต่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา กลุ่มบุคคลนี้เป็นกลุ่มที่ทำงานกับผมมาก่อนเข้าใจกันและกันเป็นอย่างดี มีอุดมการณ์รักชาติ รักแผ่นดิน จงรักภักดีอย่างสูงสุดและมีความปรารถนาที่จะเห็นประเทศไทยร่มเย็นใต้ร่มพระบารมี ประชาชนมีความสุขสมบูรณ์อย่างทั่วถึงและลดช่องว่างทางสังคมอย่างเป็นระบบ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะดำรงสภาพสงครามสารสนเทศ ผมจึงเปิด FB Page ชื่อ “เสนาธิการกองทัพประชาธรรม” โดยมีกลุ่มดำเนินการเดิม และผมสามารถประสานงานตรงกับกลุ่มดำเนินการและรับผิดชอบในฐานะเสนาธิการร่วมกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ และรับผิดชอบใน FB Page นี้ และหวังให้ Page นี่เป็นศูนย์รวมของมูลข่าวสารของกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณอีก Page หนึ่งเพื่อให้เกิดแนวรบด้านสงครามสารสนเทศหลายแนวรบ และสุดท้ายนี้ผมไม่มีส่วนในการรับผิดชอบกับ Page ของกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณอีกต่อไป แต่ยังดำรงตนเป็น 1 ในเสนาธิการร่วมกองทัพประชาชนฯ อย่างปกติทุกประการ”
ม็อบ กปท.หงอย
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการชุมนุม กปท.ตลอดเช้าช่วงที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความเงียบเหงา เนื่องจากไม่มีการเปิดเวทีปราศรัยของแกนนำ อีกทั้งยังไม่มีการเชื่อมสัญญาณเพื่อรับฟังการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ซึ่งอยู่ระหว่างการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร
วันที่ 15/08/2556 เวลา 4:28 น.