เตือนรับจำนำข้าวไทยพัง

นิตยสารเมืองผู้ดีตีแผ่รัฐบาลยิ่งลักษณ์สารพัดปัญหา

 

ดิ อีโคโนมิสต์ ซึ่งเป็นสื่อดังด้านเศรษฐกิจจากอังกฤษ ฉบับล่าสุดวิเคราะห์นโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่า กำลังสร้างภาระให้กับฐานะการคลังของประเทศอย่างมาก เนื่องจากรัฐบาลซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาสูงกว่าราคาตลาดสองเท่า หรือซื้อมาในราคาเฉลี่ย 15,000 ต่อตัน โดยคาดว่า ต้นทุนในการซื้อข้าวจากชาวนาไทยในปีนี้จะมีมากถึง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 4.7 แสนล้านบาทเทียบเท่ากับ 4% ของจีดีพี จากปีก่อนหน้าที่ใช้เงินไป 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์

นิตยสารฉบับดังกล่าว ระบุว่า นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายประชานิยมของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการดึงคะแนนนิยมทางการเมืองจากชาวนาซึ่งเป็นฐานเสียงใหญ่ของพรรคเพื่อไทย ทักษิณซึ่งหลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศสั่งให้รัฐบาลนี้ดำเนินโครงการดังกล่าว และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังคงตั้งใจเดินหน้าต่อไป เนื่องจากห่วงคะแนนเสียงจากชาวนา หลังจากที่รัฐบาลพยายามจะลดราคารับจำนำลงเหลือ 13,500 บาทต่อตัน แต่ถูกต่อต้านจากชาวนา

ดิ อีโคโนมิสต์เตือนว่า นโยบายนี้ได้ทำให้ประเทศไทยหลุดจากตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก ตกมาอยู่ในอันดับ 3 เมื่อปีที่ผ่าน โดยถูกคู่แข่งสำคัญคืออินเดีย และเวียดนามแซงหน้าไป เนื่องจากสองประเทศนี้ขายข้าวในตลาดโลกในราคาที่ต่ำกว่าประเทศไทยมาก

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ขายข้าวให้กับรัฐบาลต่างประเทศได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้มีข้าวค้างสต๊อกมากถึง 18 ล้านตัน คิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของข้าวที่ค้าขายกันในตลาดโลกแต่ละปี ข้าวที่กองเป็นภูเขาเลากานี้ ส่งผลให้มีต้นทุนมหาศาลในการดูแลรักษาและการบริหารจัดการ

การประมูลขายข้าวในเอกชนครั้งล่าสุดก็ขายได้เพียง 210,000 ตันเท่านั้น จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1 ล้านตัน เนื่องจากเอกชนผู้เข้าประมูลไม่มั่นใจในคุณภาพของข้าว ดิ อีโคโนมิสต์ระบุ

ดิ อีโคโนมิสต์ชี้ว่า ข่าวการคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐที่บริหารโครงการรับจำนำข้าว ส่งผลเสียต่อความนิยมของรัฐบาลยิงลักษณ์ รวมทั้งนักลงทุนก็เริ่มวิตกว่า นโยบายนี้จะทำให้ฐานะการเงินการคลังของประเทศอ่อนแอลงอย่างมาก และจะส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง

นิตยสารฉบับดังกล่าวยังอ้างถึงบทวิเคราะห์ของ มูดี้ส์ อินเวอร์สเตอร์ เซอร์วิส ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือด้านเครดิต ที่ออกมาเตือนว่าโครงการรับจำนำข้าวอาจจะทำวินัยการคลังของประเทศเสียหาย

ขณะที่นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ประธานกรรมการ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง ตามที่กระทรวงการคลังได้เสนอนั้น โดยมีแผนการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยภายใต้แผนของโครงการ Portfolio Guarantee Schemr ระยะที่ 5 ของ บสย. ที่มีวงเงิน 240,000 ล้านบาทนั้น บสย. พร้อมดำเนินการตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังทันที

ทั้งนี้ บสย. ได้กำหนดยุทธศาสตร์เชิงรุก 3 แนวทาง ประกอบด้วย 1.แผนการให้ความช่วยเหลือ ค้ำประกันสินเชื่อ กลุ่มผู้ประกอบการ ไมโครเอสเอ็มอี ที่ต้องการเงินทุนในการประกอบธุรกิจวงเงินไม่เกิน 200,000 บาท ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการในวิสาหกิจชุมชน พ่อค้า แม่ค้า 2.แผนการให้ความช่วยเหลือ ค้ำประกันสินเชื่อ กลุ่มผู้ประกอบการโอท็อป ทุกระดับ 3.แผนการให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เตรียมความพร้อมก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ซึ่งกำลังต้องการเงินทุนไปปรับปรุงประสิทธิภาพ ด้านการผลิต การตลาด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่

นายศิริพล กล่าวว่า จากภาวะเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง และจากแผนการดำเนินงานการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้ง 3 แนว จะช่วยให้ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และสามารถลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจได้จริง โดยช่วยลดภาระดอกเบี้ยจากเงินกู้นอกระบบ อีกทั้งยังช่วยเสริมความแกร่ง เติมเต็มศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไมโครเอสเอ็มอี

 

 

วันที่ 12/08/2556 เวลา 8:38 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

278

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน