อมตะ หนุนมูลนิธิเฟืองพัฒนา

พัฒนาฝีมือเยาวชนแก้วิกฤติแรงงานไทยรับ AEC

 

อมตะ ร่วมกับมูลนิธิเฟืองพัฒนา และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม เดินหน้ายกระดับคุณภาพการศึกษาภายใต้โครงการ “เส้นทางสู่อาชีพที่มั่นคง มีงาน มีเงิน มีวุฒิ” มุ่งพัฒนาทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านแก่บุคลากรอาชีวศึกษา เตรียมความพร้อมป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมป้องกันปัญหาแรงงานฝีมือขาดแคลนรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

พล.ต.ท.ดร.ระพีพัฒน์ ปาละวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิเฟืองพัฒนา ในฐานะผู้ริเริ่มดำเนินโครงการ “เส้นทางสู่อาชีพที่มั่นคง มีงาน มีเงิน มีวุฒิ” เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวมีขึ้นเพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษามิติใหม่ให้แก่นักเรียนระดับอาชีวะศึกษา โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ในการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาของสถาบันที่เข้าร่วมโครงการให้มีระยะเวลาการเรียนการสอนวิชาฝึกประสบการณ์วิชาชีพจาก 1 ภาคการศึกษา (4 เดือน) ปรับเป็น 1 ปีการศึกษา (7 เดือน-1 ปี) เพื่อมุ่งเน้นให้ความรู้แก่นักศึกษาอาชีวศึกษาระดับชั้น ปวช. และ ปวส. ได้มีประสบการณ์ฝึกงานจากสถานประกอบการจริงทั้งในด้านพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม เทคโนโลยี และสาขาอาชีพในวิทยาการใหม่ๆ

นอกจากความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนแล้ว มูลนิธิยังได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร และสถานประกอบการภายในนิคมฯ ในการรับนักศึกษาเข้าฝึกประสบการณ์วิชาชีพ โดยมีช่างชำนาญการในสาขาวิชาชีพต่างๆ ทำหน้าที่ในการเป็นครูพี่เลี้ยง ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการระหว่างการฝึกงานเช่นเดียวกับพนักงานประจำ อาทิ เบี้ยเลี้ยง ที่พัก รถรับ-ส่ง ประกันอุบัติเหตุ โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 13,000-16,000 บาท นอกจากนี้ยังได้รับใบรับรองการผ่านงานจากมูลนิธิฯ ร่วมกับสถานประกอบการ และหากสำเร็จการศึกษาและได้วุฒิบัตรในระดับ ปวช./ปวส. เรียบร้อยแล้ว มีโอกาสได้รับการบรรจุเป็นพนักงานของสถานประกอบการที่เข้ารับฝึกงานได้ทันที พร้อมทั้งรับการสนับสนุนให้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นต่อไป

จากระยะเวลาการทดลองดำเนินโครงการดังกล่าวมากว่า 1 ปี พบว่าได้รับการตอบรับจากสถาบันการศึกษาสนใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมากถึง 18 แห่ง มีนักศึกษาเข้ารับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพตามหลักสูตรระยะยาวแล้ว 647 คน ในสถานประกอบการของนิคมอุตสาหกรรม 11 แห่ง อาทิ กลุ่มบริษัทมอนเด นิสซิน ประเทศไทย บริษัท โซนี่ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ไทรอัมพ์ มอเตอร์ไซเคิลส์ (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท เอเซีย พรีซิชั่น จำกัด, บริษัท ยูไนเต็ดคอยล์เซ็นเตอร์ จำกัด, บริษัท ฟูคูอิ คาเซอิ (ประเทศไทย) จำกัด ฯลฯ และยังมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับแผนการดำเนินโครงการในระยะต่อไปได้แก่ 1.การเดินหน้าสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถานประกอบการและสถาบันการศึกษา 2.ติดตามประเมินผลและสถานภาพของนักศึกษาหลังจากสำเร็จการฝึกประสบการณ์ทักษะวิชาชีพ 3.ร่วมกับวิทยาลัยพัฒนาหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ 4.จัดหาหอพักให้เพียงพอ และมีแห่งเดียวให้เป็นเอกภาพ และมีกิจกรรมส่งเสริมระหว่างใช้ชีวิต ฝึกทักษะประสบการณ์วิชาชีพอย่างมีความสุขร่วมกัน 5.ขยายการให้บริการไปยังนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง ต่อไป

ด้ายนายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการ “เส้นทางสู่อาชีพที่มั่นคง มีงาน มีเงิน มีวุฒิ” เปิดเผยว่า โครงการ “เส้นทางสู่อาชีพที่มั่นคง มีงาน มีเงิน มีวุฒิ” นับเป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้แก่วงการอาชีวศึกษาของไทย เพื่อรองรับการก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economics Community: AEC) ในปี 2558 ได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการอยู่ระหว่างการเร่งพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีการแข่งขันสูงขึ้นในอนาคต นอกเหนือจากเทคโนโลยีที่ดี บุคลากรผู้ชำนาญการเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการนำผู้ประกอบการไทยไปสู่ความสำเร็จ

“ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมอมตะมีสถานประกอบการรวมกว่า 800 โรงงานในนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี และ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง ซึ่งมีความพร้อมที่จะรองรับและให้การสนับสนุนในหลักสูตรดังกล่าว เพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษา เพราะเนื่องจากที่ผ่านมามีบุคลากรจบการศึกษาระดับชั้นต่างๆ เป็นจำนวนมากในแต่ละปี แต่กลับมีคุณสมบัติและประสบการณ์ที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ส่งผลให้เกิดภาวะการว่างงาน อีกทั้งผู้ประกอบการไม่สามารถพัฒนากระบวนการผลิตที่มีศักยภาพในการแข่งขันกับตลาดโลกได้ สร้างผลกระทบต่อการเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศ” นายวิบูลย์ กล่าว

หากโครงการนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากหน่วยงานต่างๆ เชื่อมั่นว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์กับหลายๆ ฝ่าย ทั้งด้านสถานประกอบการที่ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรม รวมถึงสามารถสร้างแผนสำรองในการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการขยายกำลังการผลิตได้ในอนาคต ในด้านของสถานศึกษาก็จะสามารถลดการลงทุนในการจัดหาเครื่องจักรหรือชุดฝึกปฏิบัติในการเรียนการสอนได้ รวมทั้งผลิตกำลังคนที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ ลดปัญหาการว่างงานได้อีกทางหนึ่งด้วย

ด้านนางศรีวรรณ อรทัยวัฒนากุล ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัท มอนเด นิสชิน ประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศที่มีปัญหาการขาดแคลนแรงงานหรือแรงงานไม่พอเพียง ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย ขณะที่ประเทศไทยมีนักศึกษาสายอาชีวะจำนวนมาก หากเข้ามาสู่ตลาดแรงงานแล้ว มองว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากทั้งนักเรียนและภาคการศึกษาด้วย อย่างเช่นโครงการเส้นทางสู่อาชีพที่มั่นคง มีงาน มีเงิน มีวุฒิ ของมูลนิธิเฟืองพัฒนานั้นจะแตกต่างจากโครงการอื่นๆ หากนักศึกษาได้เข้ามาฝึกงานกับสถานที่จริงและเครื่องมือที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย เมื่อจบการศึกษาก็จะสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีคุณภาพ จากการฝึกงานของนักศึกษาในปัจจุบันเป็นการฝึกงานระยะสั้น 2-3 เดือน เมื่อฝึกงานเสร็จก็กลับไปศึกษาต่ออาจทำให้ทักษะเลือนหายไปได้

“ที่ผ่านมาบริษัทมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างต่อเนื่องมาตลอด จนกระทั่งได้เข้าร่วมกับโครงการของมูลนิธิเฟืองพัฒนา ทำให้เราแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ปัจจุบันส่งนักศึกษาฝึกงานที่ปฏิบัติงานในสายการผลิตได้ตรงตามแผนงานที่กำหนด เมื่อพื้นฐานของศึกษาที่มีอยู่แล้วก็จะสามารถต่อยอดทักษะได้ทันที โดยทางบริษัทจะมีพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำถึงขั้นตอนรวมทั้งกระบวนการต่างๆ นอกจากนี้ทางบริษัทมีค่าแรงให้แก่นักศึกษาจากโครงการ เฉลี่ยเดือนละประมาณ 15,000 บาท และสวัสดิการอีกด้วย” นางศรีวรรณ กล่าว

โครงการเส้นทางสู่อาชีพที่มั่นคง มีงาน มีเงิน มีวุฒิ ของมูลนิธิเฟืองพัฒนา นอกจากเป็นโครงการพัฒนาฝีมือจากประสบการณ์จริงให้กับนักศึกษาแล้ว ยังเป็นการลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย

 

 

วันที่ 12/08/2556 เวลา 10:01 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

606

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน