พณ.หมดงบระบายสต๊อกข้าว
“นิวัฒน์ธำรง” เลื่อนระบายสต๊อกข้าว ใน “เอเฟท” เหตุไม่มีงบ สั่งพาณิชย์เร่งหางบเพื่อใช้จ่ายด่วน เล็งใช้งบ 100 ล้าน วางระบบไอทีจับระบบข้อมูลสร้างความโปร่งใส ย้ำ ยังไม่ปรับเป้าหมายการส่งออก รอประเมินสถานการณ์อีกครั้งใน 1-2 เดือนข้างหน้า ยืนยันกำหนดเป้าหมายการส่งออกตามความเป็นจริง
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ มีโครงการที่จะนำข้าวในโกดังรัฐบาล จำนวน 1.5 แสนตัน เพื่อนำไปเปิดประมูลซื้อขายผ่านสินค้าเกษตรล่วงหน้า หรือ เอเฟท ซึ่งตามกำหนดการเดิมจะให้ผู้สนใจยื่นซื้อข้าวในตลาดเอเฟท ได้ในวันที่ 15 ส.ค.ที่จะถึงนี้ แต่เนื่องจากการนำข้าวไปทำการซื้อขายในตลาดเอเฟท จะต้องวางเงินมัดจำส่วนหนึ่งที่จะเป็นค่าทำเนียม ค่าคอมมิสชั่น ค่าภาษี และอื่นๆ ซึ่งขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า กระทรวงพาณิชย์จะนำเงินส่วนไหนมาเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าว
ดังนั้น จำเป็นต้องเลื่อนการยื่นประมูลในตลาดเอเฟทออกไปอีก 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้ทางองค์การคลังสินค้า หรือ อคส. ไปหารือกับทางสำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลางให้เกิดความชัดเจนว่า จะนำเงินส่วนใดมาเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าว ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีโครงการที่จำนำข้าวไปประมูลในตลาดเอเฟทภายใน 6 เดือน จำนวน 5 แสนตัน ซึ่งในจำนวนนี้จะต้องมีเงินมัดจำอย่างน้อย 250 ล้านบาท และในการที่จะนำข้าวไปประมูลในตลาดเอเฟท เริ่มต้น 1.5 แสนตัน ที่จะมีการเปิดประมูลในเร็วๆ นี้จะต้องนำเงินในการค้ำประกันไม่ต่ำกว่า 80 ล้านบาท แต่เชื่อว่า ภายในต้นเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับการประมูลการนำข้าว ไปประมูลในตลาดเอเฟทได้แน่นอน ซึ่งในการยื่นซองเปิดประมูลขายข้าวให้กับเอกชน ขายไปแล้ว 2 รอบ
โดยขณะนี้ได้เซ็นอนุมัติในการขายให้กับเอกชนที่ยื่นซองไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2.2 แสนตัน แต่ไม่สามารถบอกตัวเลขจำนวนเงินที่ขายได้ เพราะเป็นความลับ หากเปิดเผยออกไปจะกระทบต่อการเปิดประมูลในครั้งต่อๆ ไป และภายในสัปดาห์หน้าน่าจะสามารถประกาศหลักเกณฑ์ในการยื่นซองประมูลข้าวของ รัฐบาลเพิ่มเติมอีก 2 แสนตัน โดยเป็นข้าวชนิดต่างๆ ทั้ง ข้าวหอม ข้าวขาว ข้าวเหนียว ซึ่งการประกาศในครั้งนี้ยังคงเน้นหลักเกณฑ์ที่เคยประกาศก่อนหน้านี้ แต่ได้ให้กรมการค้าต่างประเทศศึกษาว่ารูปแบบเดิมที่ประกาศไปจะมีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์เดิมหรือไม่ ซึ่งตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลเปิดกว้างในการให้ภาคเอกชนยื่นซองประมูลข้าวของรัฐบาลอย่างโปร่งใส จึงอยากเชิญชวนเอกชนเข้ามายื่นซองข้าวของรัฐบาล นอกจากนี้ ในการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ขณะนี้กำลังทำงานเจรจาขายข้าวกับประเทศอื่นๆ อย่างเต็มที่
นายนิวัฒน์ธำรง ยังระบุถึงเพดานราคารับจำนำข้าวในรอบใหม่ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการเจรจาทำความเข้าใจกับชาวนาแต่ละกลุ่ม โดยคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายใน 2 สัปดาห์ ก่อนนำเสนอรายละเอียดให้ทางคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ หรือ กขช. พิจารณาต่อไป แต่ในเบื้องต้นเพดานราคารับจำนำข้าวที่ 15,000 บาท/ตัน และรอบเดียว ทุกฝ่ายก็เห็นชอบแต่ในการที่จะรักษาเพดานราคาจำนำนี้ไว้จะต้องให้สอดคล้องกับการรักษาวินัยทางการเงินการคลังของรัฐบาลด้วย โดยรัฐบาลจะใช้เงินทุนหมุนเวียนในโครงการรับจำนำไม่เกิน 3 แสนล้านบาท และจะขาดทุนไม่เกิน 8 หมื่นล้านบาท แต่สิ่งที่ทุกฝ่ายมีความเห็นร่วมกัน โดยเฉพาะเกษตรกร มีความพร้อมที่จะเข้าร่วม โครงการในการดูแลให้เกิดความโปร่งใสของโครงการรับจำนำ และขณะนี้กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการปรับปรุง โดยจะนำระบบไอที เข้ามาดูแลในเรื่องที่เกี่ยวกับระบบโครงการรับจำนำข้าว โดยจะใช้เงินงบประมาณในการปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ประมาณ 100 ล้านบาท
สำหรับเรื่องการส่งออกนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการปรับเป้าหมายการส่งออก แม้ว่าหลายหน่วยงานมีการปรับเป้าหมายการส่งออกไปแล้ว โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ยังอยู่ที่ 7-7.5% แต่ก็ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เร่งส่งเสริมการส่งออก เพื่อรักษายอดการส่งออกไม่ให้ลดลง หลังจากสัญญาณเศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัวลง ด้วยการให้เน้นตลาดอาเซียนที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวและประชาชนมีกำลังซื้อ โดยให้พิจารณาว่า ในตลาดแต่ละแห่งควรจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าชนิดใดเป็นพิเศษ เพื่อสร้างจุดเด่นให้กับสินค้า
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้สนับสนุนผู้ส่งออก การเจรจาเงื่อนไขการค้า แต่การค้าในภาพรวมนั้นมีหลายหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จะมีการประเมินสถานการณ์การส่งออกอีกครั้งใน 1-2 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ จะพยายามทำให้ดีที่สุดและจะพิจารณากำหนดเป้าหมายการส่งออกตามความเป็นจริง จะไม่มีกรณี White Lie หรือการโกหกสีขาวอีกครั้งอย่างเด็ดขาด
วันที่ 9/08/2556 เวลา 9:18 น.