รวมศูนย์ความเป็นเลิศ เพื่ออนาคตประเทศไทย

อยากเห็นอนาคตประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นเลิศในทุกด้าน สำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัย ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สบว.) และ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดเสวนาการประชุมสัมมนาและแสดงนิทรรศการ “การขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทยด้วยระบบวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศ” โดยมี นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานและแสดงปาฐกถาพิเศษ โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม รวมกว่า 1,000 คน มาจากทั้ง ภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาควิชาการ นักเรียนนักศึกษา ตลอดจนประชาชนผู้สนใจทั่วไป

ทั้งนี้ มีการแสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายการขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทยด้วยระบบวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศ” การอภิปรายในหัวข้อ “นวัตกรรมไทยกับการเปิดประชาคมอาเซียน” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งจากภาควิชาการและภาคการผลิตอุตสาหกรรม รวมถึงการรวมศูนย์ความเป็นเลิศด้านต่างๆ มาโชว์ในงาน อาทิ

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางเคมี ที่จัดแสดงเครื่องสำอางและอาหารเสริมจากธรรมชาติ เช่นเครื่องสำอางและอาหารเสริมจากโปรตีนไหม, ครีมนาโนอิมัลชั่นผสมสารสกัดจากสมอไทย, ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสารสกัดเกสรบัวหลวง, ผลิตภัณฑ์ไพลทานอยด์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อม จัดแสดง Model รถยนต์ที่ใช้พลังงานจากเทคโนโลยี Biofuel Plus เต็มรูปแบบ, รถไฟฟ้าขนาดเล็กที่ใช้พลังงานทดแทน ศูนย์ความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์ จัดแสดง Pattern Block สื่อการสอนคณิตศาสตร์แนวใหม่ที่สร้างความท้าทาย และพัฒนากระบวนการคิดทางคณิตศาสตร์ของนักเรียน ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยบูรณาการกระบวนทางคณิตศาสตร์ และความคิดรวบยอดที่หลากหลาย เช่น รูปเรขาคณิต การวัด พื้นที่ การคูณ สัดส่วน และเศษส่วน เป็นต้น

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร จัดแสดงงานวิจัยพืชดัดแปลงทางพันธุกรรม ปาล์มน้ำมัน เทคนิคในการเก็บเกี่ยวและดูแลพืช ผัก ผลไม้ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ จัดแสดงผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัยผสมสารสกัดจากเปลือกมังคุด หน้ากากอนามัยชนิดนี้มีคุณสมบัติที่เหนือกว่าหน้ากากอนามัยทั่วไป ด้วยแผ่นกรองอากาศที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากเปลือกมังคุด ซึ่งนอกจากมีประสิทธิภาพในการกรองเชื้อโรคได้ถึง 95% แล้ว ยังสามารถฆ่าเชื้อวัณโรค และเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด

นายจาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวว่า “ศูนย์ความเป็นเลิศ หรือ ศูนย์วิจัยเชี่ยวชาญเฉพาะด้านทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เหมือนจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทยที่มีผู้เข้าใจในเนื้อหาสาระน้อย แต่ศูนย์ความเป็นเลิศก็ได้เริ่มดำเนินงานภายใต้ทบวงมหาวิทยาลัยมานับตั้งแต่ ปี 2542 โดยถือว่าเป็น “โครงการนำร่อง” เพื่อให้ได้มาซึ่งระบบแบบแผนที่เหมาะสม เพื่อใช้เป็นกลไกที่สำคัญประการหนึ่งของ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (S&T Infrastructure) ที่ขับเคลื่อนงานวิจัยในการพัฒนาองค์ความรู้ที่เหมาะสม และทันสมัยสำหรับประเทศ เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติ รวมทั้งช่วยเสริมสร้างความสามารถในการพึ่งพาตนเอง และเพิ่มพูนสมรรถภาพในการแข่งขันของประเทศ ในระดับสากลให้เพิ่มสูงมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น จึงเป็นที่ตระหนักว่า การจัดการศึกษา และการพัฒนาระบบวิจัยด้วยกระบวนทัศน์ปกติไม่ทันต่อพลวัตทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และการสร้างนวัตกรรม จึงไม่เอื้อที่จะทำให้ประเทศไทยเกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน ดังที่หลายประเทศประสบความสำเร็จในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังทำให้ประเทศไทยล้าหลังลงไปเรื่อยๆ ความร่วมแรงร่วมใจที่จะช่วยกันคิด ช่วยกันทำคงไม่ใช่เรื่องที่เหลือวิสัยของทุกท่าน การประชุมสัมมนาและแสดงนิทรรศการของศูนย์ความเป็นเลิศทั้ง 11 ศูนย์ ภายใต้การบริหารจัดการของ สำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในวันนี้ เป็นเครื่องยืนยันแสดงให้เห็นชัดเจนว่า เป็นความหวังที่ ไม่ไกลเกินเอื้อมที่จะทำให้ประเทศไทยเจริญรุ่งเรืองในอนาคตอันใกล้ ผมยินดีให้การสนับสนุนการดำเนินงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อช่วยให้ประเทศขับเคลื่อนไปในทิศทางสู่ความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนต่อไปในอนาคต”

วันที่ 8/08/2556 เวลา 6:50 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

357

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน