คลังวาดฝัน ศก.ชาติโต 6%
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาทางวิชาการของ สศค. ครั้งที่ 10/2556 “ความเสี่ยงทางการคลัง : ความท้าทายเชิงนโยบาย” และปาฐกถาพิเศษ “นโยบายเศรษฐกิจเพื่อการคลังที่ยั่งยืน” ว่า การบริหารความเสี่ยงทางด้านการคลังในอนาคตนั้น จำเป็นจะต้องดูใน 3 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 1.ด้านรายได้รัฐบาล 2.ด้านภาระค่าใช้จ่าย และ 3.ด้านการใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ประมาณการณ์อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในอนาคตอย่างระมัดระวัง โดยคาดว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 4.5% เพื่อให้แน่ใจว่ารายได้รัฐจะเป็นตัวเลขที่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม หลายๆ ฝ่ายต้องการจะเห็นเศรษฐกิจเติบโตได้มากกว่าระดับ 4.5% ซึ่งก็ถือเป็นสิ่งที่ท้าทาย และต้องพิจารณารายละเอียดต่างๆ ว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้เศรษฐกิจโตได้ถึงเฉลี่ยปีละ 6%
“อัตราการเติบโตที่ 6% ในอนาคตนั้น เป็นเรื่องของวิชาการ เรามองที่ผ่านมามีการพูดกันเยอะว่าไทยเราจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ประเทศส่วนใหญ่ก็พยายามที่จะวางนโยบายเพื่อให้ก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับสูง ซึ่งก็มองว่าประเทศเหล่านั้นมีรายได้อยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ และไทยเราอยู่ที่เท่าใด ทำอย่างไรเพื่อให้เดินไปสู่จุดนั้น ถ้าอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจเราสูง ก็จะเป็นตัวช่วยทำให้การเดินไปสู่จุดดังกล่าวเป็นไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น”
ทั้งนี้ ในเชิงของการวางนโยบายก็ต้องดูว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ไปสู่จุดนั้น แต่เรื่องของการวางภารกิจทางการคลัง ก็ต้องมีความระมัดระวัง ซึ่งการเฉลี่ยอัตราการเติบโตที่ปีละ 4.5% นั้น มั่นใจว่าเราสามารถบริหารได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว ซึ่งยืนยันว่าความเสี่ยงทางด้านอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น ไม่ต้องเป็นห่วง โดยในบางปีอาจจะสามารถเติบโตได้ถึง 6% หรือบางปีก็อาจจะน้อยกว่านั้น แต่โดยเฉลี่ย เติบโตปีละ 4.5% น่าจะทำได้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม หากดูในเชิงโครงสร้างต่างๆ ที่มี ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของระบบภาษีต่างๆ เราก็พยายามจะวางเพื่อให้เกิดความทัดเทียมกับประเทศคู่แข่งที่อยู่ในภูมิภาคอาเซียน ในเรื่องภาษีนิติบุคคล ภาษีบุคคลธรรมดา การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาการเชื่อมโยงระหว่างประเทศในแถบประชาชาคมอาเซียน (เออีซี) และทำให้ต่างประเทศเกิดความสนใจที่จะเข้ามาลงทุน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของภาพรวมที่ทำอย่างไรให้ไทยเป็นที่น่าลงทุนของต่างประเทศ และทำอย่างไรให้ภาคเอกชนไทยมีความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มขึ้น ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลชุดปัจจุบันวางกรอบนโยบายกันอยู่ตลอด
นายอารีพงศ์ กล่าวต่อว่า ความเสี่ยงในเรื่องของภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลนั้น หน้าที่ของกระทรวงการคลังก็มีหน้าที่สร้างความชัดเจนในเรื่องของข้อมูลต่างๆ ว่าสถานะข้อมูลในด้านค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นอย่างไรบ้าง เราก็ทำหน้าที่ดังกล่าวกันอยู่ และภายใต้ภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องใช้ในอนาคต เราก็มองไปข้างหน้าว่าจะมีภาระอะไรตัวใดบ้างที่น่าตกใจหรือน่าเป็นห่วง ซึ่งหากมีตัวใดที่จำเป็นต้องวางแผนล่วงหน้าก็จะเร่งดำเนินการ ซึ่งกรณีของบำนาญภาครัฐ เราก็ได้ดำเนินการ ส่วนเรื่องสวัสดิการรักษาพยาบาลทั่วประเทศ ก็มีการบริหารทั้งค่ายา หรือค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ไม่ให้โตอย่างรวดเร็ว และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ทั้งหมดเหล่านี้เป็นหน้าที่ของคลังทุกๆ ประเทศจะต้องดำเนินการวางแผนบริหารจัดการอย่างดีและให้เกิดประสิทธิภาพ
“คลังก็พยายามระมัดระวังในเรื่องของฐานะทางการคลัง เรื่องการเตรียมเงินของคลังไว้ให้มีความเหมาะสม ส่วนในเรื่องของการใช้นโยบายประชานิยมที่ผ่านมานั้น ก็มีการบริหารค่าใช้จ่ายมาโดยตลอด อยู่ในระดับที่สำนักงบประมาณ ก็พิจารณาแล้วว่าเป็นภาระงบประมาณที่สามารถรับได้ ซึ่งก็ไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด” นายอารีพงศ์ กล่าว
ขณะที่มาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศนั้น ทางนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะออกมาตรการใดเพื่อมากระตุ้นบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาดูตัวเลขภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่เกิดจากการบริโภคภายในประเทศนั้น ไม่ได้หดตัว แต่จะไปหดตัวในกลุ่มของแวตจากการนำเข้า
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เห็นชอบในหลักการแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน โดยแนวทางดังกล่าว จะมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่เน้นสาเหตุของปัญหา คือ การพัฒนาศักยภาพในการหารายได้ให้เพียงพอกับรายจ่าย การบริหารจัดการด้านการเงินของตนเองให้เหมาะสมเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในทางการเงิน รวมทั้งให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบผ่านองค์กรการเงินชุมชนที่เข้มแข็งและมีศักยภาพ ควบคู่ไปกับการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นช่องทางในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
วันที่ 3/08/2556 เวลา 10:53 น.