สศก.เกาะติดสถานการณ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เตือนรับมือราคาร่วง แนะชะลอเก็บเกี่ยวฯ

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุ ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2556/57 มีปริมาณ 4.88 ล้านตัน พร้อมออกสู่ตลาดมากสุดเดือนสิงหาคมถึงธันวาคมนี้ เผย ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เริ่มปรับตัวลดลง เหตุจากสต๊อกมีปริมาณมาก และมีการนำเข้าข้าวสาลีคุณภาพต่ำมาใช้ทดแทนในสูตรอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น แนะเกษตรกรควรชะลอการเก็บเกี่ยวและชะลอการขายออกสู่ตลาด เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพและความชื้นต่ำ

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการคาดการณ์ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทย ปี 2556/57 ซึ่งพบว่า จะมีปริมาณ 4.88 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 2 โดยจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2556 และจะออกมากในเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม 2556 ซึ่งขณะนี้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เริ่มปรับตัวลดลง เนื่องจากปัญหาสต๊อกมีปริมาณมากขณะที่ความต้องการใช้ลดลง ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่จังหวัดน่าน เชียงราย และเชียงใหม่ พบว่าเกษตรกรในหลายพื้นที่ได้เลื่อนการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกไป 1-2 เดือน เนื่องจากฝนตกล่าช้า ทำให้ปริมาณผลผลิตที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดล่าช้ากว่าปกติ ซึ่งราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรขายได้เดือนกรกฎาคม 2556 เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 6.89 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 7.42 บาท ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 0.53 บาทต่อกิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 7 อันเป็นผลจากปัญหาการขาดสภาพคล่องของบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นผู้ใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รายใหญ่แห่งหนึ่ง รวมทั้งมีการนำเข้าข้าวสาลีคุณภาพต่ำมาใช้ทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในสูตรอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ การอนุญาตให้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อัตราภาษีร้อยละ 0 จากประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน ทำให้มีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาต่ำเข้ามาแข่งขันกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยมากขึ้น ส่งผลให้พ่อค้าขายผลผลิตของปีที่ผ่านมาได้น้อยลง และเกิดปัญหาสต๊อกคงเหลือมาก รวมทั้งชะลอการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูใหม่ที่กำลังจะออกสู่ตลาด จึงคาดว่าจะเป็นแรงกดดันให้ราคาข้าวโพดฤดูใหม่ปรับตัวลดลงได้อีก

นายอภิชาต กล่าวเสริมว่า อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรชะลอการเก็บเกี่ยวและการขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ตลาด เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพและมีความชื้นต่ำ ซึ่งภาครัฐพร้อมที่จะเตรียมการด้านการตลาดรองรับหากสถานการณ์ราคายังมีทิศทางปรับตัวลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวเกษตรกรควรต้องลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะต้นทุนด้านการใช้ปัจจัยการผลิต รวมถึงการเพาะปลูกในพื้นที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น

วันที่ 1/08/2556 เวลา 8:02 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

193

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน