ยุทธศาสตร์ธุรกิจรับเปิด AEC
เก็บตกการให้ความรู้จากโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) หลักสูตรเสริมสร้างความรู้สู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และวิเคราะห์ โดยในการให้ความรู้นี้มีสาระสำคัญ และความรู้ที่น่าสนใจสำหรับสัปดาห์ที่ผ่านมามีการให้ความรู้ในหัวข้อโลจิสติกส์ไทย ประตูสู่อาเซียน และเรื่องโค้งสุดท้ายสู่ AEC รู้สู้ Free Flow of Invesment/Capital/ Product&Brands ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมาก ทีมข่าวเศรษฐกิจขอนำมาถ่ายทอดต่อสาธารณชน
โลจิสติกส์ช่วยบูม ศก.
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN) มี 3 เรื่องที่ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญคือ การรวมตัวกันด้านประชาคมและวัฒนธรรม ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมการเมืองและความมั่นคง ซึ่งในมิติที่เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจจะแบ่งเป็นเรื่องสำคัญ 5 เรื่องคือ การเปิดเสรีการค้า การเปิดเสรีทางภาคบริการ การเปิดเสรีการลงทุน การเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายเงิน และการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงาน
ซึ่งประเด็นการเปิดเสรีการบริการเป็นเรื่องที่กระทรวงคมนาคมรับผิดชอบ เนื่องจากจะเกี่ยวเนื่องกับการบริการขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งกำหนดเป้าหมายให้นักลงทุนอาเซียนเข้ามาจัดตั้งธุรกิจโดยถือหุ้นได้ไม่น้อยกว่า 15% ในปี 2553 และไม่น้อยกว่า 70% ในปี 2556
ซึ่งเรื่องที่ถือว่าสำคัญลำดับต้นๆ ในการวางยุทธศาสตร์ด้านคมนาคม คือ การเชื่อมเส้นทางภายในประเทศในสายหลักที่เป็นประตูการค้าเข้ากับกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งปัจจุบันดำเนินการมาแล้ว นอกจากนี้ยังดำเนินการขยายเมืองท่าที่คิดว่า จะเป็นศูนย์การค้าขยายออกจากส่วนกลาง ให้กระจายทั่วประเทศในทุกภาค ซึ่งส่วนนี้จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับ โครงการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานซึ่งเน้นที่ระบบราง
ให้ไลเซนส์บริหารรถไฟ
“สิ่งหนึ่งที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ต้องการเห็นคือ ระบบทางรถไฟรางคู่ ที่เชื่อมต่อประทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านได้ทุกเส้นทาง เมื่อมีครอบคลุมแล้วอนาคตจะมีผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนเข้ามาประมูลช่วงในการบริหารไปจากทางรัฐบาล ซึ่งประโยชน์ที่ได้คือ มีการแข่งขันด้านการบริการ เกิดการลงทุน ขณะนี้เตรียมสรรหาหน่วยงานที่จะตั้งขึ้นมาเป็นผู้อนุมัติให้ไลเซนส์กับผู้รับสัมปทานการบริหารจัดการระบบรถไฟรางคู่ในอนาคต” ดร.จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลการศึกษาการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง มูลค่าโครงการประมาณ 8 แสนล้านบาท จะสรุปได้ในเดือนธันวาคม 2556 หากพบว่าเส้นทางใดไม่เกิดความคุ้มค่าที่ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจต่ำกว่าที่สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดไว้ที่ระดับ 12% อย่างเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน เบื้องต้นมีผลตอบแทน 10% เพราะระยะทางสั้นและเป็นเมืองท่องเที่ยวการเดินทางรถยนต์จะคุ้มค่ากว่า ก็อาจชะลอการลงทุนไปก่อน หรือไปขยายเส้นทางที่ไปภาคอีสานหรือภาคเหนือ
“กำลังศึกษาดูว่าถ้าเส้นทางทางใต้ไม่ได้ ก็ไปทางอีสาน หรือเหนือ ให้เส้นทางยาวขึ้น ผลตอบแทนจะดีขึ้น หรือลดไปบางเส้นทาง หรือปรับบางช่วงเป็นระบบไฟฟ้า เรื่องนี้ สนข.ศึกษาความคุ้มทุนรถไฟความเร็วสูง ผลการศึกษาเสร็จในเดือนธันวาคมนี้ โดยผลตอบแทนจะดูผลตอบแทนทางเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย หากดูผลตอบแทนทางการเงินอย่างเดียวไม่คุ้มค่ากับการลงทุน” ดร.จุฬา กล่าว
ขยายเมืองรับ 4 ภาค
โดยการศึกษาเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ว่าแต่ละเส้นทางมีกี่สถานี และพยายามใช้พื้นที่ของราชพัสดุ หรือที่ดินของรัฐ เพื่อไม่ให้ต้นทุนสูง และถ้าใช้พื้นที่เวนคืนเท่าไร จะได้ผลตอบแทนโครงการจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ 4 เส้นทางที่อยู่ระหว่างการศึกษาได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ แต่ช่วงแรกจะออกแบบและสร้างเส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลกก่อนเปิดปี 62 และปี 64 เปิดถึงเชียงใหม่, กรุงเทพฯ-นครราชสีมา, กรุงเทพฯ-หัวหิน และ กรุงเทพฯ-ระยอง
ส่วนการทำรายงานสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าเส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลกจะส่งได้ในเดือนมกราคม 2557 เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จะส่งได้ในเดือนมีนาคม 25557 และเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน จะส่งในเดือนมิถุนายน 2557 ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง เพิ่งจะเริ่มดำเนินการโดยการรถไฟแห่งประเทศ
หากกฎหมายไม่ผ่านการพิจารณาจากสภาฯ รัฐบาลมีแผนสำรองเพื่อให้การลงทุนเดินหน้าต่อไปได้ โดยจะพิจารณากู้เงินลงทุนเป็นรายโครงการแทน เพราะมีการศึกษารายละเอียดไว้พร้อมแล้ว แต่ยอมรับจะมีปัญหาเรื่องความล่าช้าในการดำเนินโครงการและแผนการเชื่อมโยงการขนส่งไม่เป็นตามแผนที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ สำหรับโครงการที่มีความพร้อมมากที่สุด คือการปรับปรุงถนน 4 เลน ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงจะต้องผ่านการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) หากเส้นทางใดผ่านอีไอเอแล้ว รัฐบาลสามารถกู้เงินมาดำเนินการได้
“หัวใจหลักในการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง ไม่ใช่เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายเส้นทางคมนาคมเพียงอย่างเดียว แต่มุ่งที่จะพัฒนาเมืองรองในภูมิภาคให้สามารถรองรับความเจริญเพื่อกระจายเป็นเมืองศูนย์กลางควบคู่การขยายประตูการค้าทุกภาค เพราะ ณ เวลาหนึ่ง กทม.คงรองรับการเติบโต ไว้ทั้งหมดไม่ไหว และถึงไทยไม่ดำเนินการอะไร AEC ก็ต้องเกิด เราต้องการสร้างเมืองหลัก นอกเหนือจาก กทม. สิ่งที่ต้องทำก่อนคือ สร้างความคล่องตัวในการเดินทาง และเมื่อเมืองเจริญ ธุรกิจก็เติบโตพร้อมกับการเติบโตของเมือง สุดท้ายก็จะส่งผลถึงการเติบโตของเศรษฐกิจรวมทั้งประเทศนั่นเอง” ดร.จุฬา กล่าว
ห่วงความอยู่รอด SMEs ไทย
ด้านนายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า Free Flow of Invesment/Capital ในระดับอาเซียนมีการปรับเงื่อนไขการลงทุนให้เป็นมาตรฐาน ซึ่งประเทศไทยนำตัวอย่างของเจเทปปามาปรับใช้ ครอบคลุมการเปิดเสรีการลงทุน 5 สาขา ได้แก่ ประมง เกษตร ป่าไม้ เหมืองแร่ และอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งหลายคนห่วงว่าเมื่อเปิดเสรีแล้วคนต่างชาติจะมาแย่งธุรกิจคนไทย ซึ่งไม่เป็นความจริงเพราะไทยมีการระบุชัดเจนว่า รายการข้อสงวนของไทยที่ห้ามมิให้คนต่างชาติเข้ามาดำเนินการไว้อย่างชัดเจน
สำหรับผลกระทบที่รัฐบาลเป็นห่วงมากเมื่อเปิดเสรี คือความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ SMEs ของไทย ไม่สามารถออกไปแข่งขันในต่างประเทศได้ เป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับรัฐบาลที่ต้องสร้างความแข็งแกร่งให้กับ SMEs ของไทย ซึ่งต่างกับ SMEs ของญี่ปุ่นที่มีกระแสเข้ามาแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในประเทศไทยได้ นั่นเพราะบริษัทแม่ญี่ปุ่นของ SMEs เหล่านั้น ลงทุนอยู่ในเมืองไทย จนแข็งแกร่งแล้ว
หนุนลงทุนข้ามชาติมากขึ้น
จากข้อมูลการลงทุนพบว่า กลุ่มอียู มาลงทุนในกลุ่มอาเซียน 18% แต่หากเป็นกลุ่มอียู อเมริกา และญี่ปุ่น จะมีสัดส่วนการลงทุนในอาเซียน 80% อีก 20% เป็นการลงทุนระหว่างประเทศภายในกลุ่มเอง ประเด็นนี้ชี้ให้เห็นว่าระหว่างประเทศภายในกลุ่มเองยังลงทุนระหว่างกันน้อย
“สิ่งที่ BOI อาเซียน ต้องสร้างให้เกิดขึ้นคือความสำนึก และการให้ความสำคัญของการเป็นกลุ่มประเทศอาเซียนขณะนี้ยังไม่มี แต่ละประเทศต่างจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศของตน แต่ไม่เคยให้ความสำคัญว่ากลุ่มประเทศอาเซียนจะได้ประโยชน์อย่างไร” นายโชคดี กล่าว
เอกชนไม่มั่นใจเปิด AEC
ในประเด็น Free Flow of Product&Brands นายยุทธชัย จรณะจิตต์ President &CEO ITALTHAI GROUP กล่าวว่า ใน 2015 จะเป็นปีที่ อิตัลไทย มีอายุครบ 60 ปีเช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายการบริหารงานของทั้งกลุ่มให้เดินหน้าต่อไปได้ สิ่งสำคัญคือ การปรับตัวของอิตัลไทย รบการแข่งขัน และให้ความสำคัญกับพันธมิตรทางธุรกิจ ที่ผ่านมากลุ่มฯ ขยายธุรกิจ ออกไปมากกว่าเฉพาะในกลุ่มเออีซีอยู่แล้ว แต่เราก็ต้องเตรียมความพร้อม
ซึ่งสิ่งที่อิตัลไทยต้องเตรียมพร้อมประกอบด้วย การเตรียมเงินลงทุนในการขยาย หรือรองรับธุรกิจอย่างเพียงพอ เตรียมพร้อมด้านทรัพยากรบุคคลของอิตัลไทย ทั้งคนไทย และคนต่างชาติ สำหรับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น ต้องทำให้บริษัทมีศักยภาพในการแข่งขันได้เมื่อเทียบกับคู่แข่ง ต้องผสานวัฒนธรรมที่แตกต่างของคนหลายเชื้อชาติให้สามารถทำงานร่วมกันได้ สิ่งสำคัญรัฐบาลไทยต้องเพิ่มโอกาส การลงทุน ทั้งเรื่องนโยบายและโครงสร้างพื้นฐาน
“ส่วนตัวไม่มั่นใจกับ AEC เพราะไม่รู้ว่าภายในเขต AEC เราจะเจอกับอะไรบ้าง ธุรกิจไทยยังมืดมน สับสน องค์กรที่ทำพีอาร์สนับสนุนให้บริษัทไทยไปลงทุน แต่ไม่คิดว่าการเตรียมความพร้อมไม่ใช่ทำเพียงปีเดียว ต้องใช้ระยะเวลาและต้องศึกษาระดับความพร้อมของธุรกิจไทย ต้องสร้างความเข้าใจกับนักธุรกิจที่จะเข้าไปลงทุนในทุกมิติ ทั้งเรื่องสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง สไตล์การทำงานของเอกชนไทยกับต่างชาติก็ต่างกัน คนไทยต้องการเวลา สร้างคนไทยให้มีจุดแข็ง จนต่างชาติต้องถามว่า ในธุรกิจเช่นนี้คนไทยทำได้อย่างไร”
ตั้งป้อมในไทยสร้างเกราะป้องกัน
อิตัลไทย เราคิดเพียงว่า เมื่อเปิดเสรีอาเซียน บริษัทเราจะไม่โดนซื้อ ไม่โดนกลืนไปกับการไหลบ่าของเงินทุน ดังนั้นเราจึงสร้างคน ฝึกอบรมเอาความรู้เทคโนโลยีจากต่างชาติมาพัฒนา ให้เป็นแบบฉบับของเราเอง เพื่อสร้างจุดแข็งให้กับองค์กรของตนเอง ฉะนั้นในส่วนของอิตัลไทยเราจะสร้างจุดแข็งในตลาดเมืองไทยต้องยอมรับว่ากฎหมายไทยยังไม่แข็งแกร่งพอที่จะปกป้องธุรกิจเทรดเดอร์ได้
สำหรับธุรกิจที่อยู่ในความดูแลของอิตัลไทย แบ่งเป็น 4 ประเภท ดังนี้ 1.สายธุรกิจอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล 2.บริการด้านวิศวกรรม 3.สายธุรกิจโรงแรม และอสังหาริมทรัพย์ จะอยู่ภายใต้การดูแลของออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป 4.สายธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจค้าปลีก มั่นใจต่อจากนี้ไปภาพรวมธุรกิจของกลุ่มบริษัท อิตัลไทย จะขยายตัวได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 56 มีรายได้ 1.3 หมื่นล้านบาท โตเพิ่มขึ้นจากปี 54 คิดเป็น 20% ส่วนหนึ่งมาจากอานิสงส์น้ำท่วม และคาดว่าอัตราการเติบโตของกลุ่มจะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่าปีละ 10% อย่างแน่นอน
ต้องทำวิจัยก่อนลงทุน
ด้านนายปิยะ ซอโสตถิกุล กรรมการบริหารกลุ่มซีคอน กล่าวเสริมว่า ก่อนที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศไทย จะต้องทำการหาข้อมูลเชิงลึกในทุกด้าน และต้องลงสำรวจพื้นที่อย่างละเอียด สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนประเทศที่กำลังเนื้อหอม เป็นที่จับจ้องของนักลงทุนที่จะยกตัวอย่างคือ ประเทศพม่า แต่สิ่งที่ต้องระวังอย่างมากและเป็นปัญหาอันดับแรกคือระบบขนส่งสินค้าภายในประเทศ พม่ายังไม่มีระบบจัดส่งที่ดีเหมือนในประเทศไทย ดังนั้น นักธุรกิจที่เข้าไปลงทุนต้องมีการจัดระบบการขนส่งสินค้าที่จะไปขายให้ดี
ระบบการเงินยังไม่รองรับกับการค้าระหว่างประเทศ ใช้ระบบเงินสด ไม่มีการให้เครดิตสำหรับการซื้อหรือขายสินค้า และไม่มีระบบสินเชื่อ มีระบบคอรัปชั่นสูง มีการเปลี่ยนกฎกติตามอยู่ตลอดเวลา การนำเงินออกประเทศยาก และการเมืองยังไม่มีเสถียรภาพมากนัก สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาในการทำธุรกิจของนักลงทุนที่จะเข้าไปลงทุน
สำหรับคำแนะนำจากประสบการณ์ในการทำธุรกิจในพม่าอยู่แล้ว แม้จะได้รับคำแนะนำด้านการลงทุน แต่ต้องหาข้อมูลประกอบจากคนในท้องถิ่น ที่ทำธุรกิจจริงมาประกอบในการวางแผนอย่างไรเข้าไปลงทุน นอกจากนี้ยังต้องหาพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นคนในท้องถิ่น เพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องกฎระเบียบ หรือเรื่องอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคทางการค้า และต้องระมัดระวังค่อยๆ ทยอยลงทุน ที่สำคัญต้องเข้าใจวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ ที่จะเข้าไปทำธุรกิจ
และทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วข้างต้นคือ มุมมองทั้งในภาครัฐบาลและเอกชนในเรื่อง เป้าหมายในการขยายระบบการขนส่งไทย การส่งเสริมการลงทุนข้ามชาติ รวมถึงระบบการไหลของเงินทุนแต่สิ่งสำคัญของเอกชน ที่จะต้องเตรียมพร้อมกับการเปิดเสรี นั่นคือการเตรียมความพร้อมให้กับตนเอง องค์กรให้แข็งแกร่ง และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องบุคลากร และความเข้าในเรื่องวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายนั่นเอง
ชุติมณฑน์ ศรีขำ/รายงาน
วันที่ 29/07/2556 เวลา 7:06 น.