พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดตัว ระบบสารสนเทศชุมชนตัวอย่าง

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จัดโครงการพัฒนาและบริการระบบสารสนเทศชุมชน ประเดิมจัดทำระบบสารสนเทศกับ 3 ชุมชนตัวอย่าง ได้แก่ ชุมชนบึงบัว ชุมชนเลียบคลองมอญ และชุมชนคลองตาสอน ที่อยู่ในเขตลาดกระบัง และนำเอาจุดเด่นของแต่ละชุมชนมาพัฒนาและเผยแพร่ผ่านระบบสารสนเทศ โดยชุมชนบึงบัว มีจุดเด่นในเรื่องของการจัดการวิสาหกิจชุมชน ชุมชนเลียบคลองมอญ มีจุดเด่นเรื่องศิลปวัฒนธรรมของชาวมอญ ชุมชนคลองตาสอน มีจุดเด่นเรื่องการอยู่ร่วมกันของชาวพุทธและชาวมุสลิม และการเกษตรอินทรีย์ ซึ่งในขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้วเสร็จ 2 ระบบงาน คือ ระบบงานรองรับด้านการขนส่งความช่วยเหลือ โดยเป็นการรองรับการบริหารและจัดการด้านพื้นที่พักอาศัย สถานที่ส่งของ เส้นทางการขนส่ง สามารถตอบโจทย์ประวัติการขนส่งสิ่งของช่วยเหลือเมื่อมีเหตุการณ์จากภัยธรรมชาติ หรืออุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นในชุมชน

ระบบงานฐานข้อมูลชุมชน เป็นการรองรับการบริหารและจัดการด้านข้อมูลบ้านพักอาศัย และข้อมูลสมาชิกของประชาคมในชุมชน ข้อมูลอาชีพ ข้อมูลความเชี่ยวชาญ ข้อมูลสินค้าเด่นในชุมชน ตลอดจนข้อมูลสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพื่อให้หน่วยงาน หรือองค์กร สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปพัฒนา แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด และเสริมสร้างจุดแข็งของชุมชนได้ โดยระบบสารสนเทศถือเป็นหนึ่งในความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่อาจยังไม่เป็นที่แพร่หลายต่อการใช้งานภายในชุมชนนัก ซึ่งหากมีการนำระบบสารสนเทศมาใช้ได้ภายในชุมชน จะสามารถทำให้ระบบการบริหารงานภายในชุมชนมีประสิทธิภาพได้ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตจะมีการขยายการติดตั้งและพัฒนาระบบสารสนเทศไปยังชุมชนต่างๆ เพิ่มเติม อย่างน้อยปีละ 3 ชุมชน เพื่อให้ชุมชนทั้งหมดสามารถพัฒนาศักยภาพของชุมชนตนเองได้ โดย สจล. มุ่งเป้าการให้บริการงานวิชาการ สร้างประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน เพื่อให้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นที่แพร่หลาย และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ ตามแนวคิดของสถาบัน “สังคมแห่ง นวัตกรรม”

ศ.ดร.ถวิล พึ่งมา อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี สถาบันมีความมุ่งมั่นในการให้การศึกษาและพัฒนางานวิจัยเพื่อผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาโดยตลอด โดยดำเนินงานการพัฒนาการศึกษาควบคู่ไปกับการจัดการเรียนการสอนการวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นพันธกิจหลักของสถาบัน เพื่อสร้างรากฐานของการก้าวสู่การเป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 1 ใน 10 แห่งของภูมิภาคอาเซียน ในปี พ.ศ.2563 โดยการให้บริการวิชาการนั้น ถือเป็นหนึ่งพันธกิจหลักสำคัญที่สถาบันมีจุดมุ่งหมายให้บริการงานวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน เพื่อให้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นที่แพร่หลาย และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ ซึ่งที่ผ่านมา สถาบันได้มีการนำความรู้ของคณาจารย์และนักศึกษาจากทุกคณะและวิทยาลัยไปสร้างประโยชน์ต่อสังคมและชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ทางคณะวิทยาศาสตร์ ได้มีการสร้างระบบงานสารสนเทศให้กับชุมชนโดยรอบสถาบัน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโครงการการให้บริการทางวิชาการที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

รศ.ดร.ดุษณี ธนะบริพัฒน์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ มีแนวทางในการพัฒนาองค์ความรู้ตามพันธกิจหลักของสถาบัน โดยทางคณะเล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำความรู้ต่างๆ มาสร้างให้เกิดเป็นรูปธรรมและนำไปใช้ประโยชน์จริงได้ จึงได้จัดทำโครงการการให้บริการทางวิชาการแก่สังคมและชุมชน เพื่อให้สังคมและชุมชนสามารถนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่ได้เหล่านั้นไปพัฒนาสังคม หรือชุมชนของตนเองต่อไป โดยหนึ่งในการให้บริการทางวิชาการที่คณะวิทยาศาสตร์ นำองค์ความรู้ของเหล่าคณาจารย์และนักศึกษาไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์นั้น คือการพัฒนาและบริการระบบสารสนเทศเพื่อประโยชน์สาธารณะ เนื่องจากระบบสารสนเทศมีความสำคัญต่อการบริหารจัดการ เพราะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันสิ่งแวดล้อมโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอีกทั้งการนำระบบสารสนเทศมาใช้ภายในชุมชนก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก ดังนั้นหากมีวิธีการในการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกรวดเร็วก็จะสามารถทำให้ระบบการบริหารงานภายในชุมชน องค์กร และสังคมเกิดประสิทธิภาพได้ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต่อไปในอนาคต

รศ.ดร.ดุษณี กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางคณะจึงได้มีการหารือร่วมกันและสร้างระบบสารสนเทศขึ้นมาภายใต้โครงการพัฒนาและบริการระบบสารสนเทศเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อรองรับการใช้งานให้กับ 3 ชุมชนตัวอย่าง ได้แก่ ชุมชนบึงบัว ชุมชนเลียบคลองมอญ และชุมชนคลองตาสอน ที่อยู่ในเขตลาดกระบัง ซึ่งแต่ละชุมชนนั้นมีจุดเด่นแตกต่างกัน โดยชุมชนบึงบัว มีจุดเด่นในเรื่องของการจัดการวิสาหกิจชุมชน ชุมชนเลียบคลองมอญ มีจุดเด่นเรื่องศิลปวัฒนธรรมของชาวมอญ ชุมชนคลองตาสอน มีจุดเด่นเรื่องการอยู่ร่วมกันของชาวพุทธและชาวมุสลิม และการเกษตรอินทรีย์ ทางกลุ่มคณาจารย์และนักศึกษาที่ร่วมพัฒนาโครงการนี้ จึงได้ทำการลงพื้นที่และประชุมร่วมกับผู้นำทั้ง 3 ชุมชน โดยนำเอาจุดเด่นของแต่ละชุมชนมาพัฒนาและเผยแพร่ผ่านระบบสารสนเทศที่คณะได้จัดทำขึ้นให้แก่ชุมชน ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นหนึ่งในโครงการที่จะเสริมสร้างทักษะการทำงานของนักศึกษาและบุคลากรที่เข้าร่วมโครงการทั้งด้าน Technical Skill และ Soft Skill ตลอดจนสามารถนำระบบสารสนเทศไปใช้เพื่อประโยชน์ให้แก่สาธารณะอย่างยั่งยืนได้

ผศ.กฤษฎา บุศรา อาจารย์ประจำสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ และอาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาและบริการระบบสารสนเทศเพื่อประโยชน์สาธารณะ กล่าวว่า

ระบบสารสนเทศที่ทำขึ้นเพื่อชุมชน มีทั้งหมด 3 ระบบงาน ได้แก่ ระบบบริหารการพักอาศัยและพยาบาล ระบบงานรองรับด้านการขนส่งความช่วยเหลือ และระบบงานฐานข้อมูลชุมชน ซึ่งในขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้วเสร็จ 2 ระบบงาน คือ ระบบงานรองรับด้านการขนส่งความช่วยเหลือ โดยเป็นการรองรับการบริหารและจัดการด้านพื้นที่พักอาศัย สถานที่ส่งของ เส้นทางการขนส่ง สามารถตอบโจทย์ประวัติการขนส่งสิ่งของช่วยเหลือเมื่อมีเหตุการณ์จากภัยธรรมชาติ หรืออุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นในชุมชน สามารถปรับปรุงสถานภาพการขนส่งแบบ Real Time และรองรับการร้องขอสิ่งของที่ตรงกับความต้องการแบบทันเวลาในแต่ละสถานที่พักอาศัย

ในส่วนของระบบงานฐานข้อมูลชุมชน เป็นการรองรับการบริหารและจัดการด้านข้อมูลบ้านพักอาศัย และข้อมูลสมาชิกของประชาคมในชุมชน ข้อมูลอาชีพ ข้อมูลความเชี่ยวชาญ ข้อมูลสินค้าเด่นในชุมชน ตลอดจนข้อมูลสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพื่อให้หน่วยงาน หรือองค์กร สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปพัฒนา แก้ปัญหาได้ตรงจุด และเสริมสร้างจุดแข็งของชุมชนได้ นอกจากนี้ ยังได้มีการสร้างเว็บเพจขึ้นให้กับชุมชน เพื่อรองรับการทำงานในด้านต่างๆ ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารวิสาหกิจชุมชน ระบบการจัดการความรู้สำหรับวิสาหกิจชุมชน การพัฒนาระบบงานฐานข้อมูลสุขภาพชุมชนด้วย รวมถึงทำการทดลองพัฒนาระบบงานฐานข้อมูลมลภาวะทางน้ำของชุมชนอีกด้วย โดยในอนาคตจะมีการขยายการติดตั้งและพัฒนาระบบสารสนเทศไปยังชุมชนต่างๆ เพิ่มเติม อย่างน้อยปีละ 3 ชุมชน เพื่อให้ชุมชนทั้งหมดสามารถพัฒนาศักยภาพของชุมชนได้ โดยมีระบบสารสนเทศนี้เป็นฐานของการพัฒนาชุมชนต่อไป

 

 

วันที่ 27/07/2556 เวลา 8:39 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

290

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน