อินโดนีเซีย (24 เม.ย.-1 พ.ค. 56)

องค์กรสิทธิมนุษยชนเรียกร้องอินโดนีเซียปล่อยตัวนักโทษการเมือง

TAPOL องค์กรสิทธิมนุษยชนของอังกฤษ เปิดเผยรายงานเกี่ยวกับตัวเลขนักโทษการเมืองในอินโดนีเซีย โดยชี้ว่า ในขณะที่รัฐบาลของประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุดโดโยโน ย้ำอยู่ตลอดว่า ไม่มีนักโทษการเมืองในอินโดนีเซีย ทว่าความจริงกลับเป็นในทางตรงกันข้าม

รายงานฉบับดังกล่าวมีชื่อว่า  No political prisoners? The suppression of political protest in West Papua มีเนื้อหาหลักอยู่ที่บทสัมภาษณ์นักกิจกรรมทางการเมืองชาวปาปัวตะวันตกจำนวน 40 คน ที่เพิ่งถูกทางการอินโดนีเซียจับกุมเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังพวกเขาออกมาชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิให้กับชนกลุ่มน้อยชาวปาปัว

ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ในปีที่แล้ว มีชาวปาปัวตะวันตกถูกจับกุมโดยข้อหาลักษณะเดียวกันกว่า 200 คน ซึ่งหลายคนก็ถูกทรมานหรือถูกปฏิบัติอย่างไร้ความเคารพจากเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างไรก็ดี ทางการอินโดนีเซียยืนยันว่า คนเหล่านี้ไม่ใช่นักโทษการเมือง แต่เป็นเพียงผู้ละเมิดกฎหมายของประเทศเท่านั้น

เป็นที่ทราบกันดีว่าในปาปัวตะวันตก มีความขัดแย้งด้านดินแดน ชาติพันธุ์ และมีความพยายามเรียกร้องสิทธิต่างๆ ซึ่งก็รวมไปถึงสิทธิในการปกครองตนเองของชาวปาปัว ที่มิได้มองว่าพวกเขาเป็นหนึ่งเดียวกับชาวอินโดนีเซียในที่อื่นๆ กระนั้นก็ดูเหมือนรัฐบาลอินโดนีเซียจะไม่เคยพูดถึงการจัดการเรื่องนี้อย่างชัดเจนและเป็นทางการแต่อย่างใด

อนึ่ง รายงานฉบับดังกล่าวได้เรียกร้องให้อินโดนีเซียยอมรับความจริง ปล่อยนักโทษการเมืองชาวปาปัวตะวันตกทั้งหมด และหาหนทางที่จะสร้างประชาธิปไตยและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นให้กับคนเหล่านี้ แทนที่จะปิดป้ายว่าพวกเขาเป็นพวกแบ่งแยกดินแดนหรือเป็นคนทรยศ

แหล่งที่มา: bangkokpost.com และ tapol.org

พาณิชย์อินโดนีเซียประกาศยกเลิกกฎนำเข้าสินค้าเกษตรบางรายการ

กระทรวงพาณิชย์ของอินโดนีเซียประกาศคลายกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าเกษตรบางรายการ หลังสหรัฐฯ ร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลกว่า กฎระเบียบที่อินโดนีเซียใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะระบบการออกใบอนุญาต นั้นไม่โปร่งใสและซับซ้อนเกินไป ทั้งยังขัดต่อระเบียบขององค์การการค้าโลกอีกด้วย

สหรัฐฯ ยื่นร้องเรียนเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนมกราคม เนื่องจากกฎระเบียบข้างต้นส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไปอินโดนีเซียของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้อินโดนีเซียได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ และปฏิเสธข้อเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อคลี่คลายประเด็นดังกล่าว ก่อนจะออกมาประกาศว่าได้ยกเลิกกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าบางรายการ ซึ่งรวมไปถึงกระเทียม กระเทียมป่น พริกป่น กะหล่ำปลี ฯลฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

อนึ่ง ประเด็นนี้มีนัยยะสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากทำให้อินโดนีเซีย ซึ่งกำลังจะส่งนางมารี ปันเกสตู (Mari Pangestu) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เข้าชิงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การการค้าโลกในสมัยหน้า ได้รับการจับตามองยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี กระบวนการคัดสรรล่าสุดปรากฏว่า นางมารี ปันเกสตู ไม่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ทั้งนี้ การคัดสรรรอบสุดท้ายจะเป็นการชิงตำแหน่งกันระหว่างนายแอร์มินิโอ บลังโก (Herminio Blanco) ผู้สมัครจากเม็กซิโก และนายโรแบร์โต อาเซเบโด (Roberto Azevedo) จากบราซิล

แหล่งที่มา: channalnewsasia.com

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ aseanwatch.org ดูทั้งหมด

396

views
Credit : aseanwatch.org


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน