สว.ชี้ไทยต้องปรับระบบโลจิสติกส์เทียบเท่าสิงคโปร์-มาเลย์-บรูไน
เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม วุฒิสภาร่วมกับมูลนิธิคอนราด อเดนาวร์ จัดโครงการ “สมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน” ณ โรงแรมเฟลิกซ์ ริเวอร์แคว รีสอร์ท จ.กาญจนบุรี โดยมีนายนิคม ไวยรัชพานิช สว.ฉะเชิงเทรา ในฐานะประธานวุฒิสภา เป็นประธานจัดโครงการพร้อมเปิดการอภิปรายเรื่อง “ไทยจะได้ประโยชน์อันจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน : กรณีเส้นทางคมนาคมสู่ท่าเทียบเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย”
ทั้งนี้ นายสมชาย ศักดาเวคีอิศร ที่ปรึกษาด้านการวางแผนการพัฒนาพื้นที่และจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า การเปิดประชาคมอาเซียนนอกจาก 3 เสาหลัก คือ การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ที่ต้องคำนึงแล้ว ยังมีเรื่องความเชื่อมโยงด้านคมนาคม กฎระเบียบระหว่างประเทศ และความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน
นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่ต้องเปลี่ยนแปลง คือ การค้า การตลาด ยังมีในเรื่องผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมจะต้องปรับตัว ซึ่งเป็นโจทย์ต้องคิด อย่างไรก็ดี ประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพ เพราะได้เปรียบในเรื่องที่ตั้งของภูมิประเทศ อีกทั้ง เป็นทางผ่านรวมถึงศูนย์กลางการกระจายสินค้า รวมถึงยังเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญ จึงเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทย
“ความสามารถในการทำธุรกิจ 185 ประเทศทั่วโลก ไทยติดอยู่อันดับที่ 18 แต่มีจุดอ่อนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นรอง สิงคโปร์ มาเลเซีย และบูรไน โดยเฉพาะ ถนน รถไฟ และสนามบิน จึงจำเป็นต้องแก้ไขให้เข้มแข็ง เพื่อศักยภาพในการแข่งขัน และสินค้าไทยถือว่ามีความได้เปรียบและมีความพร้อม โดยเฉพาะจ.กาญนบุรี มีมันสำปะหลัง ข้าว น้ำตาล และท่องเที่ยว ข้อได้เปรียบเหล่านี้ยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เพราะหลายประเทศก็สามารถผลิตได้”นายสมชาย กล่าว
อย่างไรก็ดี รัฐบาลมีความพร้อมในการเปิดประชาคมอาเซียน เพราะมีแผนพัฒนาที่11 ในการเชื่อมโยงเพื่อยกระดับรายได้ประชากร แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ นอกจากนั้นประโยชน์จะได้ คือ การลงทุน แรงงาน ท่องเที่ยว และศึกษา ดังนั้น การเตรียมตัวของไทย ภายใต้โอกาสที่เกิดขึ้น คือ ต้องพัฒนาผู้ประกอบการ พัฒนาคุณภาพแรงงานทั้งในและต่างประเทศที่เข้ามา รวมถึงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์
ด้านนายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย สร้างโอกาสในการพัฒนาจ.กาญจนบุรีให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนและโลจิสติกส์ ซึ่งในอนาคตจะเป็นแหล่งกระจายสินค้า ปัจจุบันจ.กาญจนบุรีเป็นเมืองเกษตรกรรมที่มีความพร้อมในการปรับตัวเพื่อรองรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หลังจากที่รัฐบาลอนุมัติโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ดังนั้น ประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่จะต้องศึกษาแนวทางเพื่อรองรับการเป็นเส้นทางเศรษฐกิจ การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการพัฒนาการค้าผ่านแดนด้วย
ขณะที่ นางชวนทัศน์ ประไพพิศ รองผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า โครงการนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือนิคมทวาย มีพื้นที่ประมาณ 204.5ตารางกิโลเมตร รองรับอุตสาหกรรมเหล็ก พลังงาน ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเบา ซึ่งโครงการนี้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรฐษกิจแห่งใหม่ที่สำคัญของภูมิภาค และเชื่อมโยงเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกับตลาดตะวันตก รวมทั้งเส้นทางลัดโลจิสติกส์ของภูมิภาค ส่งผลให้อุตสาหกรรมไทย จะย้ายฐานการผลิตโดยใช้ทวายเป็นฐานการส่งออก
นอกจากนี้ ทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจที่เน้นแรงงาน สู่ระบบเศรษฐกิจที่เน้นมูลค่า ร่วมถึงเพิ่มความมั่งคงทางพลังงาน อีกทั้ง การที่ไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ถือเป็นทั้่งโอกาสและความท้าท้าย เพราะจะเพิ่มและขยายการลงทุน ขณะเดียวกันก็จะมีคู่แข่ง ซึ่งไทยจะต้องเตรียมการให้พร้อม แต่ยอมรับว่ายังมีจุดอ่อนเรื่องโลจิสติกส์และกฎหมายที่เอื้อต่อการลงทุน ซึ่งต้องแก้ไขกฎหมาย แต่ก็ต้องใช้เวลาอีกพอสมควร ดังนั้น อยากให้นำผลการศึกษา การพัฒนา ส่งเสริมการอุตสาหกรรมจากประเทศอื่นๆ ซึ่งมีข้อดี มาเป็นรูปแบบในการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย
วันที่ 26/07/2556 เวลา 13:46 น.