สมาคมผู้ค้าปลีก ห่วง กำลังซื้อชะลอตัว

วอนรัฐหนุนค้าปลีกไทยออกต่างประเทศรับ AEC

 

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ชี้แนวโน้มอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งปี 2556 เติบโต 9% ปรับตัวลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ จากกำลังซื้อที่ลดลง เนื่องจากเงินจับจ่ายของประชาชนถูกแบ่งไปใช้จ่ายกับการซื้อรถยนต์รวมถึงค่าใช้จ่ายต่อเนื่องจากการใช้รถยนต์ ในส่วนของยอดเงินจากนักท่องเที่ยวยังคงเพิ่มขึ้นจากยอดนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังประเทศไทยเพิ่มขึ้น 20% จากปีที่ผ่านมา โดยครึ่งปีแรกของปี 2556 มียอดนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยประมาณ 12 ล้านคน พร้อมแนะรัฐบาลเร่งให้ความสำคัญและสนับสนุนผู้ค้าปลีกไทยลงทุนในอาเซียน บุกตลาด AEC

โดยภาคส่วนที่ได้ผลกระทบมากคือ ซูเปอร์เซ็นเตอร์ คอนวีเนี่ยนสโตร์ ดีพาร์ตเมนตสโตร์ เนื่องจากการเติบโตที่ชะลอตัวลง โดยซูเปอร์เซ็นเตอร์ขยายตัว 7% (ปี 2012 ขยายตัว 10% ) คอนวีเนี่ยนสโตร์ขยายตัว 12% (ปี2012 ขยายตัว 18%) ส่วนดีพาร์ตเมนต์สโตร์ ขยายตัวจาก 7.5% (ปี 2012 ขยายตัว 12%) และเนื่องจากซูเปอร์เซ็นเตอร์ และคอนวีเนี่ยนสโตร์ นั้นมียอดขายสูง เมื่อมีการชะลอตัว จึงส่งผลกระทบอย่างมากต่อยอดการขยายตัวโดยรวมของธุรกิจค้าปลีก

น.ส.บุษบา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทย ในต้นปี 2556 ทุกหน่วยงานต่างก็ประเมินว่า GDP ทั้งปีน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 5.5-6.0 การบริโภคเติบโตร้อยละ 6.0 ฯลฯ สมาคมฯ คาดว่า อุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งปี 2556 เติบโตไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมาหรือประมาณ 10-12% จากที่มีความเชื่อมั่นว่าอุปสงค์ภายในประเทศยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก โดยจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงกว่า 5-6 แสนล้านบาท นอกเหนือจากงบประมาณประจำปี น่าจะทำให้ GDP เติบโตสูงตามไปด้วย แต่การอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากเข้าระบบเศรษฐกิจกลับไม่ก่อให้เกิดผลทางเศรษฐกิจตามที่เคยคาดหมายไว้ มีผลต่ออุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งในครึ่งปีแรกต่ำกว่าที่คาดไว้ 3-4% จากที่คาดการณ์ไว้ประมาณ 12% มาอยู่ที่ 9% หรือมูลค่าการบริโภคหายไปกว่า 1.2 แสนล้าน หรือประมาณ 1-2% ของ GDP ในสัดส่วนของการบริโภคภายใน

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ชี้ตัวเลขการบริโภคของภาคเอกชนลดลงต่อเนื่อง ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ที่มีการเติบโต 3.9% ซึ่งต่ำจากเป้าหมายที่มีการประมาณการว่าจะเติบโต 6% และการบริโภคภาคเอกชนลดลงต่อเนื่อง โดยในเดือนเมษายน มีการเติบโต 1.8% และหดตัว 0.2% ในเดือนพฤษภาคม ในส่วนของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจจาก 4.3-5.3% เหลือ 3.8-4.3% โดยประเมินว่าธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจค้าปลีก รถยนต์ และอสังหาริมทรัพย์

โดยทางสมาคมฯ เห็นว่า รัฐบาลควรมีมาตรการเสริมออกมาดูแลเศรษฐกิจไทย นอกเหนือจากมาตรการทางการเงิน (อัตราดอกเบี้ย) และมาตรการทางการคลัง (การลดหย่อนภาษี) มากระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ซึ่งเชื่อว่าจะชะลอตัวทุก Sectors ยกเว้นการท่องเที่ยวและการค้าชายแดน ที่ยังคงดีอยู่

ในครึ่งปีหลัง สมาคมฯ เชื่อว่า แม้สภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังมีทิศทางชะลอตัว ซึ่งเป็นผลมาจากหนี้ครัวเรือนที่มีตัวเลขสูงขึ้น แต่ธุรกิจค้าปลีกจะยังคงสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากปัจจัยสนับสนุน อาทิ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ขยายตัวในทิศทางบวก และมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้าประเทศไทยกว่า 12 ล้านคน ในครึ่งปีแรก ซึ่งสูงขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และจะมีทิศทางเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

อีกทั้งภาคเอกชนต่างๆ ร่วมกันจัดกิจกรรมทางการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายและบรรยากาศการจับจ่าย และอาจมีเพิ่มแคมเปญส่งเสริมการขายขึ้นอีกในปลายไตรมาสที่ 3 และในไตรมาสที่ 4 ในส่วนของแรงกดดันในช่วงครึ่งปีหลังนี้ คือ หนี้ครัวเรือน ทำให้ภาคครัวเรือนจะเริ่มมีการตัดลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวัน ในขณะเดียวกัน จำนวนนักท่องเที่ยวคนไทยที่เดินทางออกนอกประเทศ ครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นถึง 17.7% และอาจเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง ดังนั้นหากสามารถดึงกำลังซื้อกลับมาจับจ่ายในประเทศได้จะส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและภาคค้าปลีกไปพร้อมกัน

สำหรับข้อเสนอมาตรการกระตุ้นอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่ง ปี 2556 ประกอบด้วย รัฐบาลต้องกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยการตรึงราคาสินค้าที่จำเป็น นับตั้งแต่ หมวดอาหาร ค่าโดยสาร ค่าเชื้อเพลิง รัฐบาลควรให้การสนับสนุนการขยายตัวของภาคค้าปลีกอย่าง ต้องการให้รัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนผู้ค้าปลีกไทยไปลงทุนในอาเซียนอย่างชัดเจน เพราะ การที่ผู้ค้าปลีกไทยสามารถไปขยายธุรกิจในอาเซียน นั่นหมายถึง จะมีผู้ประกอบซัพพลายเออร์ตามไปขยายธุรกิจด้วยเป็นพันๆ ราย

รัฐบาลกำหนดให้ BOI เป็นศูนย์กลางประสานการลงทุนในอาเซียน มีการเจรจาแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) เพื่อสนับสนุนภาคค้าปลีกในการบุกตลาด AEC ในลักษณะ one stop service แบบ JETRO ของญี่ปุ่น รัฐต้องมีมาตรการส่งเสริมการค้าชายแดนอย่างชัดเจน โดยพิจารณาผ่อนผันการเปิดด่านต่างๆ เพิ่มด่านและอำนวยความสะดวก รัฐต้องหามาตรการสร้างความเชื่อมั่นเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศในการจับจ่ายและการลงทุน รัฐบาลควรเปิดช่องให้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs Bank) เข้ามาช่วยดูแลกลุ่มธุรกิจ SME ในลักษณะ Fast Track เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง สมาคมฯ ขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาลดภาษีนำเข้าสินค้า Luxury Brand มาในระดับ 0-5% เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายช็อปปิ้งของนักท่องเที่ยวต่างประเทศให้เพิ่มขึ้น และเพื่อจูงใจให้นักช็อปปิ้งไทยจับจ่ายภายในประเทศแทนที่จะนำเงินตราไปใช้จ่ายยังต่างประเทศ

 

 

วันที่ 26/07/2556 เวลา 11:59 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

203

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน