สรุปผลการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 22

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 22 เริ่มต้นอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 24-25 เมษายนที่ผ่านมา ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไน โดยสุลต่านฮัสซันนาล โบลเกียห์ ทรงต้อนรับผู้นำประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมการประชุม เว้นแต่ นายกฯ นาจิบ ราซัค ของมาเลเซีย ที่ปฏิเสธการร่วมประชุม เนื่องจากต้องการทุ่มเทเวลาให้กับการหาเสียงเลือกตั้งทั่วโลกที่จะมีขึ้นในต้นเดือนหน้า

การประชุมครั้งนี้ได้จัดการประชุมแบบโต๊ะกลม โดยมีเนื้อหาหลักอยู่ที่การทบทวนกฎบัตรอาเซียน ติดตามความคืบหน้าของการจัดตั้งประชาคมอาเซียนปี 2015 หารือเกี่ยวกับบทบาทของภาคประชาชนในการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนของภูมิภาค รวมไปถึงการแสวงหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงในระดับภูมิภาคต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ระหว่างชาติอาเซียนกับจีน

โดยนายเล เลือง มินห์ เลขาธิการอาเซียนได้กล่าวย้ำความสำคัญของการจัดตั้งประชาคมอาเซียนว่าเป็นเป้าหมายที่สมาชิกทุกประเทศล้วนตระหนักและร่วมมือกันให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ขณะที่นายมาร์ตี นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย ได้ย้ำถึงบทบาทของอินโดนีเซียในการเป็นตัวกลางแก้ไขความขัดแย้งทางศาสนาในพม่า โดยชี้ว่า ผู้นำอินโดนีเซียได้เดินทางเยือนและพบหารือกับผู้นำพม่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว และยืนยันว่า พม่ากำลังพม่าทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อยุติความขัดแย้ง ขณะเดียวกัน เขาและประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุดโดโยโน ยังได้แสดงบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ที่ประชุมเห็นชอบให้ผู้แทนจากติมอร์ เลสเต สามารถเข้าร่วม (Participate) ในการประชุมอาเซียนครั้งถัดไปได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ประเด็นทางการเมืองความมั่นคงที่สำคัญคือการแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้ โดยผู้นำชาติอาเซียนเห็นตรงกันว่า ควรผลักดันให้เกิดหลักปฏิบัติร่วมกันในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct) ให้เร็วที่สุด ทั้งยังร้องขอให้จีนเข้าร่วมการเจรจาแบบพหุภาคี เพื่อร่วมกันหาทางออกให้ปัญหาดังกล่าวด้วยความไว้วางใจกัน โดยไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานได้ย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความมั่นคงทางทะเลระหว่างภูมิภาค และเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการประชุมระหว่างอาเซียนกับจีนอย่างไม่เป็นทางการ

ขณะที่ประเด็นด้านความมั่นคงอื่นๆ ที่ประชุมเห็นชอบกับการส่งเสริมความมั่นคงปลอดภัยร่วมกัน เพื่อรักษาเสถียรภาพของภูมิภาคเอาไว้ โดยจะผลักดันการซ้อมรบ บรรเทาสาธารณภัย และการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ร่วมกับจีน ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐฯ รัสเซีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เพื่อพัฒนาความสามารถของอาเซียนในการรับมือกับภัยคุกคามแบบดั้งเดิมและไม่ดั้งเดิม นอกจากนี้ อาเซียนยังได้ออกแถลงการณ์ถึงสถานการณ์ทางความมั่นคงของโลกสองเหตุการณ์ ได้แก่ การยืนยันในสิทธิอันชอบธรรมในการปกครองตนเองของชาวปาเลสไตน์ และการเรียกร้องให้เกาหลีเหนือปฏิบัติตามพันธกรณีของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้คาบสมุทรเกาหลีเป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์โดยเร็ว

สำหรับประเด็นด้านเศรษฐกิจ อาเซียนจะให้ความสำคัญการติดตามความคืบหน้าของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะด้านความร่วมมือด้านการลดภาษีและอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก ติดตามความคืบหน้าของหลักปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการค้าการลงทุน การท่องเที่ยง ความร่วมมือด้านอาหารและพลังงาน มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่างๆ ส่งเสริมการสร้างงาน ประคับประคองธุรกิจ SMEs ขยายการเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาค ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน ทั้งในพื้นที่ทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมไปถึงการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ เพื่อเชื่อมโยงอาเซียนเข้ากับเศรษฐกิจโลกให้มากขึ้น

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังมีมติให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเปิดเจรจาเขตการค้าเสรีกับฮ่องกง และติดตามความคืบหน้าของการเจรจาความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่จะจัดขึ้นที่บรูไน ในเดือนพฤษภาคมนี้อย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกัน ระหว่างการประชุม ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ยังได้ร่วมหารือ การประชุมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ครั้งที่ 7 (IMT-GT) โดยทั้งสามประเทศเห็นตรงกันเกี่ยวกับแผนพัฒนาร่วมทางบก น้ำ และอากาศ ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยไทยได้เสนอแผนการบริหารจัดการด้านคมนาคมขนส่ง รวมไปถึงการพัฒนาความร่วมมือด้านอาหารฮาลาลและอุตสาหกรรมยางพาราร่วมกันอีกด้วย

แหล่งที่มา: asean.org asianewsnet.net และ mcot.net

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ aseanwatch.org ดูทั้งหมด

694

views
Credit : aseanwatch.org


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน