“ไบโอแมส” พาสื่อและมวลชนเยี่ยมชมการผลิต

กระแสไฟฟ้าจากชีวมวล-สร้างความมั่นคงทางพลังงานและสิ่งแวดล้อม

“หลังจากชาวบ้านใน ต.วังกะพี้ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ประมาณ 800 คน นำโดยนายประหยัด ครุฑเมือง กำนัน ต.วังกะพี้ พร้อมนายอนิรุธ ครุฑเมือง นายกเทศมนตรีตำบลวังกะพี้ และ นายชัยพล เมฆไหว รองประธานสภาเกษตรกร จ.อุตรดิตถ์ ได้ไปรวมตัวกันที่สนามหน้าสำนักงานสหกรณ์การเกษตรเมืองตรอน จำกัด พร้อมถือป้ายประท้วงเพื่อต่อต้านคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 9.9 กิโลวัตต์ พื้นที่ก่อสร้างราว 90 ไร่ ของบริษัท ต.ประเสริฐไบโอแมส จำกัด ซึ่งจะทำการก่อสร้างบริเวณหมู่ 1 ต.วังแดง อ.ตรอน แต่ผลกระทบได้สร้างปัญหาความเดือดร้อนต่อประชาชนชาว ต.วังกะพี้”

นายเรืองศักดิ์ เตียเอี่ยมดี กรรมการผู้จัดการบริษัท ต.ประเสริฐไบโอแมส จำกัด และ โรงสีข้าว ต.ประเสริฐ เปิดเผยถึงโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ต.ประเสริฐไบโอแมส จ.อุตรดิตถ์ ว่า เป็นโครงการผลิตไฟฟ้าจากแกลบ เพราะเชื้อเพลิงที่ใช้ส่วนมากเป็นแกลบของโรงสีข้าวและเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ตามนโยบายของกรมพัฒนา พลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ซึ่งจะมีแผนเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนให้เป็นร้อยละ 25 ในปี 2565 โดยมีเป้าหมายคือ การเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ลดภาวะมลพิษ ใช้วัสดุเหลือใช้ของโรงสี สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานหมุนเวียนในระดับท้องถิ่นภายใต้มาตรการสร้างแรงจูงใจ การส่งเสริมและวิจัยพัฒนาพลังงานทดแทนทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการชี้แจงถึงรายละเอียดของการดำเนินงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 9.9 กิโลวัตต์ โดยทางบริษัทฯ ยังได้เปิดกว้างให้ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ตัวแทนกลุ่มเกษตรกร และประชาชนที่อาศัยอยูรอบบริเวณโรงไฟฟ้า ตลอดจนหน่วยงานราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในพหุภาคี เพื่อดูแลสอดส่องว่าโครงการดังกล่าวได้ดำเนินงานเป็นไปตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้หรือไม่ โดยเฉพาะทีมคณะผู้บริหารฯ มีความมั่นใจถึงเทคโนโลยีเครื่องจักรที่ดีที่สุดและทันสมัยที่สุดเพื่อนำมาใช้ในโครงการ ตลอดจนการบริหารจัดการที่ดี รวมถึงการติดตามตรวจสอบควบคุม และสอบถามชุมชนโดยรอบ เพื่อลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และผลผลิตทางการเกษตรให้ดีกว่าค่ามาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อแสดงเจตนารมณ์ถึงกิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์ที่โรงสีได้เคยปฏิบัติมา

อย่างไรก็ตาม หากมีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นจะมีกองทุนของโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า เพื่อดูแลทั้งทางด้านสุขภาพ และพัฒนาอาชีพ รวมถึงผลกระทบของคนในชุมชนที่อาจจะเกิดขึ้น ในส่วนข้อกังวลใจด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ผลผลิตทางการเกษตร และการมีส่วนช่วยทางสังคม เราพร้อมที่จะนำมาปรับปรุง แก้ไขให้ลดผลกระทบให้น้อยที่สุด จนไม่ก่อให้เกิดปัญหาความเดือดร้อน ตลอดจนการสร้างความเข้าใจให้ชาวบ้านและผู้นำชุมชนได้รับทราบ

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัท ต.ประเสริฐ ไบโอแมส จำกัด ผู้นำภาคเอกชนรายใหญ่ในกลุ่มธุรกิจค้าพืชผลทางการเกษตรของ จ.อุตรดิตถ์ นำโดยนายเรืองศักดิ์ เตียเอี่ยมดี กรรมการผู้จัดการบริษัท ต.ประเสริฐไบโอแมส ได้เชิญคณะสื่อมวลชนท้องถิ่น จ.อุตรดิตถ์ ตลอดจนกลุ่มมวลชนจากทุกภาคส่วน เดินทางไปทัศนศึกษาดูงานการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล ที่ได้จากการเกษตรในพื้นที่ของ จ.สุรินทร์ ที่บริษัท โรงไฟฟ้ามุ่งเจริญ ไบโอแมส จำกัด ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 333 ถนนสุรินทร์-ศีขรภูมิ หมู่ 7 ต.บุฤาษี อ.เมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทกระแสไฟฟ้าภาคเอกชนในจังหวัดสุรินทร์ เพื่อให้หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ผู้นำชุมชน ประชาชนชาวอุตรดิตถ์ และภาคประชาสังคมในพื้นที่ ต.วังกะพี้ อ.เมืองอุตรดิตถ์ ต.ไผ่ล้อม อ.ลับแล และ ต.วังแดง อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ ให้ได้รับประสบการณ์จริงและสัมผัสกับต้นแบบของการผลิตพลังงานกระแสไฟฟ้าของภาคเอกชน เพื่อเป็นการสร้างเสริมความมั่นคงทางพลังงานของพื้นที่ด้วยสิ่งเหลือใช้จากภาคการเกษตรที่มีอยู่เป็นจำนวนมากใน จ.อุตรดิตถ์ และยังเป็นการต่อยอดการพัฒนาพลังงานทดแทนโดยใช้วัตถุดิบภาคการเกษตรที่มีในพื้นที่ของจังหวัด ซึ่งมีสื่อมวลชนทุกแขนง ทั้งสื่อโทรทัศน์ เคเบิ้ลทีวี หนังสื่อพิมพ์ส่วนกลาง ท้องถิ่น วิทยุชุมชน ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติร่วมเดินทางมาจาก จ.อุตรดิตถ์ จำนวน 150 คน

นายศิริวัฒน์ มุ่งเจริญพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงไฟฟ้ามุ่งเจริญ ไบโอแมส จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ได้รับอนุญาตให้ทำการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังชีวะมวลโดยผ่านขั้นตอนและกระบวนการตามกฎหมายเนื่องจากได้มีการศึกษาและ จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ซึ่งได้รับความเห็นชอบเมื่อวันที่ 4 ม.ค.54 ทั้งเป็นโรงไฟฟ้าที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยวัตถุดิบ และกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งพื้นที่ของโรงไฟฟ้าออกเป็น 2 แห่ง โรงแรกมีกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ส่วนโรงที่สองตั้งอยู่บนพื้นที่ในกลุ่มธุรกิจประเภทโรงสีของ จ.สุรินทร์ จำนวน 314 ไร่ โดยใช้ประโยชน์จากพื้นที่ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากไอน้ำที่มีกำลังการผลิต 17 เมกะวัตต์ มีพื้นที่จำนวน 40 ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่สีเขียวที่จัดระบบการดูแลสิ่งแวดล้อม และ สภาพแวดล้อมในเชิงอนุรักษ์ รวมทั้งเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานชีวะมวล ภายในบริเวณโรงงานมีการจัดบรรยากาศของการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม และการบำบัดของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตด้วยชีวะวิธีที่ไม่เป็นภัยต่อมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จะจำหน่ายโดยตรงให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ผลิตกระแสไฟฟ้าต่อเนื่องตลอดเวลา 24 ชั่วโมงตลอดปี และมีช่วงการหยุดเพื่อบำรุงรักษาปีละ 2 ครั้ง

นายศิริวัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับกระแสไฟฟ้าส่วนเกินที่เหลือจะนำไปใช้เป็นพลังงานในการกระบวนการผลิตข้าวในโรงสีข้าวของบริษัท และยังสามารถนำไอน้ำที่ผลิตมาใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับการผลิตข้าวในอนาคต โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีมิติให้โครงการได้รับการส่งเสริมการลงทุนเมื่อวันที่ 11 เม.ย.54 ส่วนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตประกอบด้วยแกลบ เศษไม้ และเปลือกไม้สับเป็นเชื้อเพลิง โครงสร้างอุปกรณ์หลักได้แก่หม้อต้มไอน้ำ เครื่องกำเนินไฟฟ้า กังหันไอน้ำ ระบบหล่อเย็นแบบปิด และระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยรอบยังมีการขุดบ่อน้ำดิบขนาด 768,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อกักเก็บน้ำฝนในช่วงฤดูน้ำหลากและเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้น้ำทั้งหมด ซึ่งโครงการยังนำน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานกลับไปใช้ใหม่ ด้วยการนำไปรดน้ำต้นไม้ภายในพื้นที่สีเขียว ด้วยอรรถประโยชน์ที่เกิดขึ้น จึงได้รับรางวัลต้นแบบโรงไฟฟ้าชีวะมวลดีเด่นด้านความสะอาดและการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดี ทั้งในระดับประเทศและในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งกระบวนการผลิตที่ได้รับการยอมรับ อีกทั้งยังขึ้นทะเบียนกับองค์การสหประชาชาติ ในการเป็นผู้จำหน่ายคาร์บอนเครดิตอีกด้วย

ในการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าชีวะมวล แม้จะก่อสร้างมาได้เพียง 2 ปี แต่ได้สร้างผลประโยชน์โดยตรงต่อการสร้างเสริมความมั่นคงในระบบพลังงานของชาติ และ ของ จ.สุรินทร์เป็นอย่างมากมาย ตลอดจนการมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ราคาพลังงานที่ปรับตัวขึ้นโดยตลอด ที่สำคัญเรามีการจัดตั้งกองทุนรอบโรงไฟฟ้าเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดการความเจริญของประชาชนโดยรอบและด้านต่างๆ อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ด้านโรงไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้การจัดการที่ได้มาตรฐานสูง และมีเป้าหมายในการนำสิ่งเหลือใช้จากผลผลิตภาคการเกษตรในพื้นที่มาใช้แปรรูปเป็นพลังงานกระแสไฟฟ้าที่จำเป็นต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและการผลิต การบริโภคของประชาชน รวมทั้งการพัฒนาประเทศในอนาคตอีกด้วย

ณัฏยา หารบุตร/อุตรดิตถ์

 

วันที่ 26/07/2556 เวลา 9:13 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

488

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน