“อาคารสิรินธร” ศูนย์ฝึกทักษะภาคปฏิบัติของนักศึกษา

ม.เทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารสิรินธรอย่างเป็นทางการ เมื่อวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2556

ดร.สาธิต พุทธชัยยงค์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ได้กล่าวถึงอาคารสิรินธร ว่า ก่อสร้างขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นอาคารศูนย์กลางปฏิบัติการรวม ของคณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ตลอดจนยังเป็นศูนย์รวมห้องปฏิบัติการสำหรับรายวิชาเรียนภาคปฏิบัติของนักศึกษาในคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ที่ต้องใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือฝึกวิชาชีพ เพื่อประกอบการเรียนการสอน

อาคารสิรินธร มีลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 หลัง เชื่อมต่อกันด้วยสะพานเหล็กถักที่ระดับพื้นชั้น 2 และระดับพื้นชั้น 3 อาคารส่วนหน้าสูง 4 ชั้น อาคารส่วนหลังสูง 8 ชั้น มีพื้นที่รวม 22,000 ตารางเมตร ใช้เป็นห้องบรรยาย ห้องปฏิบัติการเครื่องมือพื้นฐาน ห้องปฏิบัติการด้านวิศวกรรม ห้องเขียนแบบคอมพิวเตอร์ ห้องประชุม และห้องจัดแสดงผลงานของคณาจารย์ และนักศึกษา นับเป็นสถานที่ ที่รวมเอาห้องปฏิบัติการและอุปกรณ์งานช่างภาคปฏิบัติให้มารวมศูนย์อยู่ในที่แห่งเดียว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแล การบริหารจัดการ และเพื่อให้คณาจารย์และนักศึกษาสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ต่างๆเพื่อการเรียนการสอนภาคปฏิบัติได้โดยสะดวก

“อาคารสิรินธร จะเป็นศูนย์รวมอุปกรณ์เครื่องมือและสื่อการสอนสำหรับการเรียนภาคปฏิบัติที่มีความครบวงจรและมีความทันสมัยที่สุด ตลอดจนเป็นสถานที่แสดงผลงานและแลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อคิดค้นนวัตกรรมและการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ของนักศึกษาและคณาจารย์ ซึ่งเป็นการสะท้อนให้สาธารณชนได้เห็น และให้ความเชื่อมั่นว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ไม่เคยหยุดนิ่งที่จะสร้างนักศึกษาสายช่างหรือนักปฏิบัติ และยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนยังได้ยกระดับทักษะด้านการปฏิบัติให้กับนักศึกษา ให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัย นอกจากจะเก่งในเรื่องการปฏิบัติแล้ว ยังมีกระบวนการเรียนการสอนที่ช่วยกระตุ้นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษา ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะความรู้ที่เป็นสากลให้กับนักศึกษา” ดร.สาธิตพร้อมเสริมว่า

ในวันนี้นักศึกษาที่เดินเข้าสู่รั้วราชมงคลกรุงเทพ สองในสามส่วนจะเรียนจบมาจากสายสามัญคือ เรียบจบ ม.6 แล้วมาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย อีกหนึ่งส่วนจะมาจากสาย ปวช. หรือจบ ปวส. เพราะค่านิยมของผู้ปกครองที่มักส่งบุตรหลานเรียนต่อสายสามัญจนจบ ม.6 มากกว่าที่จะส่งบุตรหลานเรียนเรียน ปวช. ซึ่งเป็นสายอาชีพตั้งแต่เริ่มต้น และคาดการณ์ว่านักเรียนที่จบ ม.6 จะเป็นนักศึกษาส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยฯ ต่อไปในอนาคต

จุดเด่นของนักศึกษาที่จบสายสามัญแล้วเข้ามาเรียนต่อระดับปริญญาตรีสายอาชีพคือ เก่งทักษะด้านวิชาการ แต่จุดอ่อนคือพื้นฐานทักษะด้านการปฏิบัติ จะไม่เก่งเท่านักเรียนที่จบจากสาย ปวช. หรือ ปวส. ดังนั้นสาธารณูปโภค อุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับการฝึกปฏิบัติ ในอาคารสิรินธร จะเป็นสถานที่บ่มเพาะทักษะการทำงานภาคปฏิบัติให้นักศึกษาที่จบ ม.6 แล้วมาศึกษาต่อ เพื่อให้มีพื้นฐานและความชำนาญด้านการปฏิบัติงานที่เทียบเคียงกับนักศึกษาที่มีฐานมาจากสายอาชีพตรง เพื่อผลิตนักศึกษาที่เก่งคิด เก่งปฏิบัติ เข้าสู่ภาคธุรกิจและรักษาจุดแข่งที่เป็นแก่นแท้ของมหาวิทยาลัยคือ ผลิตบุคลากรสายอาชีพที่มีคุณภาพ และพร้อมปฏิบัติงานได้ทันทีที่เข้าสู่องค์กร วิสัยทัศน์ของราชมงคลกรุงเทพในวันนี้“ทักษะเก่งปฏิบัติ” ก็ยังคงอยู่ในสายเลือดของนักศึกษาราชมงคลกรุงเทพทุกคน และนับวันจะยิ่งทวีความสมบูรณ์และครบเครื่องมากยิ่งขึ้น ทั้งด้านทักษะเรื่องฝีมือ ทักษะเรื่องการคิดสร้างสรรค์ และเรื่องของจิตใจ

เพราะเป้าหมายของราชมงคลกรุงเทพไม่ได้มีวิสัยทัศน์เพียงแค่การผลิตบัณฑิตสายอาชีพเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานในประเทศเท่านั้น ในวันนี้ระบบเศรษฐกิจแบบเปิดและเชื่อมถึงกันไปทั่วโลก ผ่านเทคโนโลยีที่มีให้เลือกมากมาย โดยเฉพาะอีกราว 2 ปีข้างหน้า ระบบเศรษฐกิจไทยก็จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สิ่งเหล่านี้คือโจทย์ที่กลับมาสู่มหาวิทยาลัยฯ ว่า เรายังผลิตนักศึกษาแบบเดิมๆ อยู่หรือไม่

สิ่งที่มหาวิทยาลัยฯ กำลังพยายามทำให้กับนักศึกษาราชมงคลกรุงเทพทุกคนคือ สร้างพื้นที่ให้กับนักศึกษาในภูมิภาคอาเซียน นักศึกษาต้องสามารถที่จะเข้าไปทำงานได้ทุกที่ทุกประเทศ โดยเฉพาะในอีก 9 ประเทศสมาชิก ด้วยอัตลักษณ์ที่มหาวิทยาลัยฯ พยายามพัฒนาให้เกิดขึ้นในบัณฑิตที่จบจากราชมงคลกรุงเทพทุกคน คือ มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นคนที่มีจิตอาสา มีวินัย รู้จักหน้าที่ สามารถทำงานเป็นทีม เพื่อสร้างบัณฑิตที่ครบเครื่องคือ “เก่งคิด เก่งปฏิบัติ มีความคิดสร้างสรรค์ และเป็นคนดี”

นอกจากนี้ นักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยฯ แห่งนี้ ยังจะต้องมีทักษะที่เป็นสากล 4 ด้านคือ 1.ทักษะด้าน IT จะต้องได้มาตรฐาน นักศึกษาจะต้องมีความรู้ด้าน IT โดยเฉพาะเทคโนโลยีโปรแกรมต่างๆ ขั้นพื้นฐานเพื่อใช้ในการทำงาน 2.ทักษะด้านการนำเสนองาน หมายถึงต้องมีความสามารถด้านการนำเสนอได้ดี ทั้งด้านการพูดนำเสนอและการผลิตสื่อเพื่อนำเสนอ ซึ่งทักษะนี้จะเป็นแต้มต่อและสร้างโอกาสที่ดีให้กับนักศึกษา เพราะถึงจะเก่งคิดเก่งปฏิบัติ และถ้าถ่ายทอดออกมาให้องค์กรธุรกิจหรือคนที่ต้องเกี่ยวข้องกับนักศึกษาในการทำงานได้รับรู้และเข้าใจไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ 3.ทักษะด้านภาษาอังกฤษสื่อสาร โดยมุ่งเน้นพัฒนาความรู้ด้านภาษาอังกฤษให้กับนักศึกษา เพื่อสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวันและการทำงานได้ และ 4.ทักษะในการทำงานต่างวัฒนธรรม หมายถึง การเรียนรู้วัฒนธรรม กฎ ระเบียบ และข้อห้ามต่างๆ ของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศใน AEC เพื่อช่วยในการสร้างสรรค์ผลงาน และสร้างโอกาสในการทำงานและดำรงชีวิตในวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างได้

 

วันที่ 26/07/2556 เวลา 4:15 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

209

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน