เกษตรฯ ยกเครื่องผลิตสมุนไพรไทย-ดันมาตรฐานชิงส่วนแบ่งตลาดนอก

นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันความต้องการบริโภคสมุนไพร เพื่อดูแลสุขภาพแทนการใช้สารสังเคราะห์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) ปี 2555 ของกรมส่งเสริมการเกษตร มีพื้นที่ปลูกสมุนไพรรวม 45,340 ไร่ มีพืชสมุนไพรที่เกษตรกรขึ้นทะเบียนปลูก 55 ชนิด มีครัวเรือนที่ปลูก 11,673 ครัวเรือน แหล่งผลิตกระจายทั่วประเทศ โดยพืชสมุนไพรที่มีพื้นที่ปลูกมาก คือ กระวาน กฤษณา ขมิ้นชัน ตะไคร้หอม บัวบก พริกไทย ไพล และว่านหางจระเข้ ในส่วนการส่งออกนั้น ประเทศไทยส่งพืชสมุนไพรในลักษณะเป็นวัตถุดิบแห้งและบด สารสกัดหยาบและผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังแฝงอยู่ในสินค้าอีกหลายประเภทที่มีมูลค่าสูง เช่น อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องดื่ม การนวด และสปา

สำหรับบทบาทของกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ผ่านมา ได้จัดกิจกรรมส่งเสริม พัฒนากลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนด้านสมุนไพร ให้มีขีดความสามารถในการผลิต และจัดการสินค้าสมุนไพรตามความต้องการของตลาด โดยดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตสมุนไพร ปี 2556 เพื่อยกระดับการผลิตสมุนไพร อาหารสุขภาพ เครื่องดื่ม อาหารเสริมและยาของเกษตรกร มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกร 4,500 ราย ใน 35 จังหวัด นอกจากนี้ ยังได้จัดสัมมนาเชื่อมโยงการผลิตการตลาดสมุนไพร ปี 2556 ขึ้น เมื่อวันที่ 10-11 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ผู้ประกอบการ และเกษตรกร ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการผลิต การตลาด นำไปสู่การเชื่อมโยงทั้งส่วนการผลิตการตลาดที่ลงตัวต่อไปในอนาคต

สำหรับเนื้อหาการสัมมนานั้น มีการอภิปรายถึงโอกาสตลาดธุรกิจสมุนไพรในอาเซียน ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปรียบเทียบมูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรอาเซียน ปี 2011 โดยประเทศไทย มีมูลค่าตลาด 23,138.3 ล้านบาท สูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน และยังพบด้วยว่า ตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพสมุนไพรของไทยขยายตัวสูงถึง 32% และถึงแม้จะใช้ยาแผนปัจจุบันเป็นหลักในการดูแลสุขภาพ แต่ผลิตภัณฑ์สมุนไพรยังได้รับความนิยมแพร่หลาย แนวโน้มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสมัยใหม่ใช้สมุนไพรเป็นส่วนผสมอาหาร/เครื่องดื่มในสัดส่วนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์แผนปัจจุบัน การใช้สมุนไพรในครัวเรือนยังมีน้อย

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า วงเสวนายังอภิปรายถึงปัญหาการเชื่อมโยงตลาดวัตถุดิบสมุนไพร ระเบียบเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรระดับชุมชน และการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบสมุนไพรในประชาคมอาเซียน หรือเออีซี รวมถึงการพัฒนาผู้ผลิตและผลิตภัณฑ์สมุนไพรระดับชุมชนสู่สากล ที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับระบบการผลิตสมุนไพรตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยว และนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ ตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับทั้งตลาดในและต่างประเทศ

 

 

วันที่ 23/07/2556 เวลา 22:21 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

215

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน