ดัน SMEs สู้ศึกเวทีอาเซียน

เปิด 6 แนวทางเชิงรุกผู้ประกอบการไทยรับมือ

นายโสภณ ผลประสิทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นับเป็นการรวมตัวในระดับภูมิภาค โดยใช้ฐานการผลิตร่วมกัน เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาคอาเซียน มีการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน อันจะส่งผลให้ตลาดของกลุ่มประเทศอาเซียนรวมกันเป็นตลาดเดียว เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและภูมิคุ้มกันให้ภูมิภาคมากขึ้น ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน หากพิจารณาภาพรวมของมูลค่าอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดของภูมิภาคอาเซียน ในปี 2010 คือ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ รองลงมาคือ อุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียม และกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบ โดยมีมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมทั้งหมดของภูมิภาค ประมาณ 1.07 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มวิสาหกิจที่น่าจับตามองและเป็นกลุ่มที่มีการประกอบการมากที่สุดคือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอาเซียน อีกทั้งยังมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการลงทุนในประเทศ ซึ่งยังเป็นแหล่งการจ้างงานที่สำคัญ มีอัตราการจ้างงานกว่า 73% จากจำนวนแรงงาน กว่า 300 ล้านคนในภูมิภาค ดังนั้น SMEs จึงเป็นรากฐานสำคัญและเป็นกลไกหลักในการเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของทุกประเทศในภูมิภาค ขณะที่อัตราค่าจ้างแรงงานของไทยในปัจจุบันค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับลาว กัมพูชา พม่า อินโดนีเซีย และเวียดนาม ทำให้ต้นทุนในภาคการผลิตมีการปรับตัวสูงขึ้น เราจึงต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อลดต้นทุนและลดอัตราการสูญเปล่าในกระบวนการผลิต เพื่อชดเชยกับต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ กสอ.ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักด้านการส่งเสริมพัฒนา และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการยกระดับ SMEs ในประเทศไทย จึงกำหนดยุทธศาสตร์ในการเสริมสร้างศักยภาพของ SMEs เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงสร้างเสถียรภาพทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศให้แก่ SMEs โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ AEC ในปี 2558

นายโสภณ กล่าวว่า กรมฯ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนา SMEs ของไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดย SMEs ไทยมีจุดแข็งอยู่ที่การเข้าถึงตลาดท้องถิ่นได้ดี มีทักษะในธุรกิจบริการและด้านศิลปะ เชี่ยวชาญในการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบ แรงงานมีประสิทธิภาพสูง และตลาดของประเทศไทยค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับประเทศในแถบภูมิภาคอาเซียน ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีศักยภาพที่สามารถขยายตัวได้ในอนาคต

“กลยุทธ์ในการปั้น SMEs ไทยให้แข็งแกร่งในเวที AEC นั้น ได้แก่ การสร้าง “ความรู้” ให้แก่ผู้ประกอบการ โดยส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์การค้าและการลงทุน อาทิ ข้อตกลงทางการค้า/การลงทุนในแต่ละประเทศ สิทธิประโยชน์ สิ่งอำนวยความสะดวก และกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความรู้อย่างเพียงพอในการปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์”

ปัจจุบันประเทศไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) กว่า 2.6 ล้านราย หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 99% ของวิสาหกิจทั้งหมด มีมูลค่าการส่งออก 1.75 ล้านล้านบาท และมีแรงงานถึง 10.5 ล้านคน หรือราว 77.9% ของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ ทำให้ SMEs ไทยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศ

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนในการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย (SMEs) ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ด้วยการสร้างความพร้อมให้ผู้ประกอบการมองเห็นโอกาสและช่องทางใหม่ๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่กระแสเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั้งเรื่องข่าวสารและเทคโนโลยี มาตรฐาน กฎระเบียบ การเจรจาเปิดการค้าเสรีทั้งในระดับทวิภาคและพหุภาคี รวมทั้งกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้โครงสร้างธุรกิจอุตสาหกรรมในแต่ละประเทศมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม

“ผมได้มอบนโยบายให้สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) ไปหาแนวทางพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่ง ISMED จะเป็นหน่วยงานหลักในการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกในด้านต่างๆ ทำการศึกษาวิจัย ซึ่งผลการวิจัยล่าสุดเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัจจัยและแนวโน้มที่มีผลต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลกทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ โดยได้จัดทำข้อมูล SME Foresight Monitoring (SFM) เบื้องต้นของไทย ศึกษารวบรวมผลกระทบแนวโน้มสำคัญในโลกธุรกิจปัจจุบัน โดยใช้บริบทของสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม มีทั้งสิ้น 6 ด้าน” นายวิฑูรย์ กล่าว

 

วันที่ 22/07/2556 เวลา 8:30 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

235

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน