เร่งคลอดมาสเตอร์ แพลน ไอซีที

หวังช่วยหนุน จีดีพี ไทยโตยั่งยืน

กระทรวงไอซีทีเร่งเดินหน้ามาสเตอร์ แพลนเต็มสูบ หวังไทยติด 1 ใน 50 อันดับโลก หลังจากกระเถิบขึ้นมาจากอันดับ 77 เป็น 74 ส่วนร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ใกล้เป็นจริง ซึ่งผ่านคณะกลั่นกรองฯ แล้ว พร้อมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายใน 2 เดือนนี้

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือไอซีที มาสเตอร์ แพลน ฉบับที่ 3 ระยะ พ.ศ.2557-2561 อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ จากนั้นผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการกำกับการจัดทำร่างแผนแม่บทฯ ของกระทรวงไอซีทีก่อนขอความเห็นชอบจาก ครม. จึงจัดทำแผนแม่บทฉบับสมบูรณ์

โดยเบื้องต้นคาดว่าจะดำเนินการให้เสร็จภายในเดือน ก.ย.56 ซึ่งต่อยอดจากฉบับที่ 2 ด้วยการกระจายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ให้ครอบคลุมประชากรทั่วประเทศและเน้นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐให้มากขึ้น ผ่านเทคโนโลยีและแอพพลิเคชั่นต่างๆ ขณะเดียวกันก็จะให้ความสำคัญกับระบบการรักษาความปลอดภัย หรือไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ เพิ่มขึ้น โดยจะให้เน้นการใช้งานและการเก็บข้อมูลมากขึ้นปัจจุบันถูกบรรจุไว้ในระบบประมวลผลขนาดใหญ่ หรือคลาวด์คอมพิวติ้ง

ทั้งนี้ แผนแม่บทไอซีทีฉบับที่ 3 นี้ มีเป้าหมายเพื่อเป็นการเพิ่มสัดส่วนด้านไอซีที ที่จะส่งผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ให้สูงขึ้น โดยเฉพาะจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี และเพื่อยกระดับสู่การบูรณาการที่สมบูรณแบบ

โดยแนวทางการพัฒนาด้านไอซีทีแบบบูรณาการเป็นประเด็นสําคัญของการพัฒนาแบบยั่งยืน และสามารถตอบโจทย์ในเรื่องธรรมาภิบาลที่ดี ให้สอดคลองกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยุทธศาสตร์การยกระดับการพัฒนา อี กอฟเวิร์นเมนต์ (e-Government) จะต้องยกระดับสู่สังคม ชุมชน และท้องถิ่นมีส่วนร่วมและเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา เพื่อเปิดโอกาสทางดิจิตอลที่มีความมั่นคง ปลอดภัย พร้อมกันนี้ต้องยกระดับสู่ความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หรือเออีซี โดยดําเนินการให้สอดคล้องกับแผนแม่บทไอซีทีของประชาคมอาเซียน (ASEAN ICT Master Plan 2015 : AIM 2015)

สำหรับ โครงการนำร่องของบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ หรือ อี กอฟเวิร์นเมนต์ คือโครงการที่ จ.นครนายก ที่มีการเชื่อมต่อบริการอิเล็กทรอนิกส์จากระดับจังหวัดสู่ชุมชน มีศูนย์บริการข้อมูลระดับชุมชน โครงการต้นแบบให้เกษตรกรใช้บัตรสมาร์ทการ์ดในการเชื่อมต่อข้อมูลด้านการ เกษตร โครงการอินเตอร์เน็ตไร้สาย เชื่อมการเรียนรู้ออนไลน์สู่แท็บเล็ตในโรงเรียน ซึ่งจะมีการประเมินผลหลังจากนี้ 6 เดือน หากโครงการใดประสบความสำเร็จก็จะนำไปให้บริการในจังหวัดอื่นๆ อีก 10 จังหวัดต่อไป เพื่อขยายเครือข่ายบริการนี้ให้ครอบคลุมมากขึ้น

นอกจากนี้ยังต้องยกระดับการพัฒนาระบบไอซีทีในภาพรวมของประเทศตามดัชนีวัดความสําคัญในระดับสากล ซึ่งรวมถึง Network Readiness Index: NRI, UN e-Government และ Waseda e-Government Ranking และเปรียบเทียบอันดับของประเทศไทยกับประเทศเป้าหมายที่ทําการเทียบเคียงจํานวน 10 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สวีเดน และออสเตรเลีย โดยตอนนี้ไทยอยู่ในอันดับที่ 74 ของโลก และคาดว่าด้วยศักยภาพของระบบไอซีทีไทย จะสามารถไต่อันดับให้ติด 1 ใน 50 อันดับโลกได้

ทั้งนี้ การจัดอันดับดัชนีชี้วัดความพร้อมใช้ของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในการพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ (เอ็นอาร์ไอ) ซึ่งจัดทำขึ้นโดย เวิร์ด อีโคโนมิค ฟอรั่ม ที่ได้ศึกษาวิจัยในประเทศต่างๆ จำนวน 142 ประเทศ ได้มีการขยับอันดับไทย 77 ของโลกในปี 2555 มาเป็นอันดับ 74 ในปี 2556 นอกจากนี้ อันดับการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในระดับสากล โดยมหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น ไทยขยับอันดับจาก 23 ในปี 2555 มาเป็นอันดับที่ 20 ของโลก หรืออันดับที่ 2 ของอาเซียนในปี 2556

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่นั้น ตอนนี้ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นแล้ว และเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติภายใน 2 เดือนนี้ และหลังจาก ครม.อนุมัติปกติจะใช้เวลา 6-24 เดือน เพื่อประกาศใช้อย่างเป็นทางการ โดยมีการปรับเปลี่ยน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่

1.เรื่องของพื้นฐานด้านเทคโนโลยี เนื่องจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ที่ใช้ในปัจจุบันได้อ้างอิงพื้นฐานของเทคโนโลยีใน 2540 มาเป็นหลัก แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา ไม่สอดคล้องกับเทคโนโลยีในยุคใหม่ ซึ่งจะต้องปรับเนื้อหาให้ครอบคลุม และให้เข้ากับระบบคลาวด์คอมพิวติ้งที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น

2.การให้อำนาจในการตรวจสอบมากขึ้น และการดำเนินการกับผู้กระทำผิดที่มีหลักฐานชี้ชัดว่าผิดจริง เช่น การถูกเจาะข้อมูล หากผู้ถูกกระทำมีหลักฐานยืนยันในตัวผู้กระทำผิด ก็สามารถระงับการเข้าถึงข้อมูลได้ทันที โดยไม่ต้องรออำนาจศาล หรือกระบวนการตรวจสอบหลายขั้นตอนแบบฉบับเดิม เพื่อให้ลงโทษผู้กระทำผิดได้ทันท่วงที ทั้งนี้การปรับปรุงเนื้อหาใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้มีเนื้อหาทันกับยุคสมัยจะมีระยะเวลาราว 6 ปี

นอกจากนี้ รมว.ไอซีที ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนความพร้อมด้านโครงข่าย จะดำเนินการผ่านหน่วยงานโทรคมนาคมในสังกัด คือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่มีทั้งระบบเคเบิลใยแก้วใต้น้ำ โครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง โครงข่าย 3จี ทั่วประเทศและอยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยี 4จี ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพด้านโครงข่ายและเทคโนโลยีทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ และดึงความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยในส่วนคลื่นความถี่ 1,800 เมกะเฮิรตซ์ ไอซีที ยืนยันว่า บมจ.กสท มีสิทธิ์ถือครองคลื่นต่อไป หลังจากสิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับเอกชน โดยผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ เหลือเพียงเสนอ ครม.อนุมัติเท่านั้น

วันที่ 17/07/2556 เวลา 9:18 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

206

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน