“จาตุรนต์” จี้ สพฐ.เสริมภาษาอังกฤษ
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดงาน “1 ทศวรรษ สพฐ. ฐานพลังการศึกษาของปวงชน” โดยมี นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานพร้อมกล่าวบรรยายพิเศษตอนหนึ่ง ว่า สพฐ.ถือเป็นหน่วยงานหลักของ ศธ.ดำเนินการมาเป็นเวลา 10 ปีในการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่เด็กและเยาวชนวัยเรียน ซึ่งผลงานที่ผ่านมาได้ปรากฏชัดต่อสาธารณชนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพของประชากรไทย เพื่อความมั่นคงยั่งยืนและสร้างความเจริญก้าวหน้าต่อประเทศชาติในอนาคต อย่างไรก็ตาม หากมองไปข้างหน้าเวลานี้สังคมมีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น การเตรียมความพร้อมของบุคลากรทุกคนเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงและต้องสร้างความตระหนักว่าเวลานี้ไทยอยู่ในประชาคมอาเซียนและกำลังจะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่ง สพฐ.จะต้องส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ การปฏิรูปหลักสูตรให้ตอบสนองกับความต้องการของผู้เรียน และพัฒนาครูด้วยการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนให้เท่าทันกับเทคโนโลยี
“โจทย์สำคัญของการศึกษาอยู่ที่จะผลิตคนอย่างไรให้ตรงกับความต้องการของประเทศ และพลิกโฉมการจัดการศึกษาให้ทันและสอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมของคนให้รู้จักคิดวิเคราะห์ มีทักษะทางด้านภาษา และปรับตัวเข้าสู่โลกใหม่ที่เรียกว่ายุคโลกดิจิตอล พร้อมกันนี้จะต้องมีการเตรียมความพร้อมให้คนสามารถเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และแข่งขันกับนานาประเทศได้ด้วย ขณะเดียวกัน ยังมีปัญหาใหญ่ที่จะต้องเร่งแก้ไข คือ ปัญหาเด็กออกกลางคัน ซึ่งเด็กเหล่านี้ไม่สามารถไปประกอบอาชีพเองได้ ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องมาร่วมกันคิดว่าจะแก้ปัญหานี้และสร้างอาชีพให้กับเด็กกลุ่มนี้ได้อย่างไร ทั้งนี้ อยากฝากไปถึง สพฐ.ว่าไม่อยากให้ไปยึดติดกับเงินอุดหนุนรายหัวของนักเรียนจนไม่ปล่อยเด็กไปเรียนสายอาชีวศึกษา เพราะขณะนี้สัดส่วนการเรียนสายอาชีพและสายสามัญยังไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ที่ 50 : 50 แต่อยากให้ สพฐ.ร่วมกับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาในการเตรียมพร้อมเด็กตั้งแต่พื้นฐาน” รมว.ศธ.กล่าว
นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า ตนได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ สร 466/2556 เรื่อง มอบอำนาจให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สั่งและปฏิบัติราชการแทน โดยได้แบ่งงานให้กับ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศธ. เรียบร้อย ซึ่งการแบ่งงานครั้งนี้มีส่วนคล้ายคลึงกับการแบ่งงานระหว่างนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีต รมว.ศธ. กับนายเสริมศักดิ์ ซึ่งสมัยนายพงศ์เทพ ได้แบ่งงานให้นายเสริมศักดิ์รับผิดชอบหลายหน่วยงาน เพราะนายพงศ์เทพ ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ควบ รมว.ศธ. จึงมีภารกิจมากมาย แต่ตนเป็น รมว.ศึกษาธิการเต็มเวลาและต้องการเน้นงานที่คิดว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน ต้องการปฏิรูปหรือการผลักดันให้ทันกับความต้องการ เพราะฉะนั้นตนจึงตัดสินใจที่จะดูแลสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานปลัด ศธ. โดยมอบอำนาจให้นายเสริมศักดิ์ ดูแลสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ รวมถึงการตอบกระทู้ชี้แจงญัตติ การเสนอและชี้แจงกฎหมายด้วย
“การแบ่งงานนี้เห็นว่าจะเป็นผลดี และคำนึงถึงการทำงานของรัฐมนตรีทั้ง 2 คนในภาพรวม ส่วนการดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการทุจริตสอบครูผู้ช่วยนั้น ก็จะเร่งผลักดันให้การทำงานสืบสวนให้ได้ตามข้อเท็จจริงเพื่อรักษาผลประโยชน์ของทางราชการให้ดีที่สุด โดยผมไม่มีนโยบายลดราวาศอกแน่นอนทุกอย่างต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริง” นายจาตุรนต์ กล่าว
วันที่ 11/07/2556 เวลา 9:00 น.