ธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ก้าวสู่ทศวรรษที่ 3

เตรียมเปิด 2 คณะใหม่ พาณิชย์ –สาธารณสุขศาสตร์

 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ครบรอบ 20 ปี แห่งการสถาปนา สานต่อเจตนารมณ์ ขยายโอกาสสู่ภูมิภาค เพิ่มหลักสูตรใหม่ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และสาธารณสุขศาสตร์ ในปีการศึกษา 2557 ตั้งเป้ารับนักศึกษาใหม่เพิ่มเป็น 5,000 คน

ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ด้วยวิสัยทัศน์และภารกิจแนวทางการบริหารงานของ มธ.คือรับใช้ประชาชน เสียลสะ มีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งจะฉลอง 80 ปี ในปี 2556 โดย มธ.จะจัดกิจกรรมใหญ่ตั้งแต่วันที่ 10 ธ.ค. 2556 จนถึง 27 มิ.ย.2557 ซึ่ง มธ.ไม่ได้มีแค่ท่าพระจันทร์ แต่ว่าได้ขยายศูนย์การศึกษาออกไปเรื่อยๆ โดยที่ มธ.ศูนย์รังสิต มีเนื้อที่ 1500 ไร่, มธ. ท่าพระจันทร์ มีเนื้อที่ 50 ไร่, มธ.ศูนย์พัทยา มีเนื้อที่ 500 ไร่ และ มธ.ศูนย์ลำปาง มีเนื้อที่ 364 ไร่

สำหรับ มธ.ศูนย์ลำปาง ได้เริ่มเปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง ในปี 2535 ในระยะแรกมีความยากลำบากพอควร เพราะต้องใช้ศาลากลางจังหวัดเป็นที่สอน ต่อมาในปี 2539 จึงได้จัดตั้ง “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง” ขึ้น และเปิดสอนระดับปริญญาตรี 4 คณะ ได้แก่ วิทยาลัยสหวิทยาการ, คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์, คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาศิลปะการออกแบบหัตถอุสาหกรรม เน้นการออกแบบเซรามิค ซึ่งมีชื่อเสียงในจังหวัดลำปาง และคณะ นิติศาสตร์ โดยได้รับการอนุเคราะห์จากนายบุญชู ตรีทอง อดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ได้มอบที่ดิน 364 ไร่ หมู่ 2 ต.ปงยางคก อ.ห้างฉัตร ห่างจากตัวเมือง 15 กิโลเมตร เพื่อจัดตั้งมหาวิทยาลัย นอกจากนี้นายบุญชู ยังได้บริจาคเงินประมาณ 62 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารเรียนหลังแรก “สิรินธรารัตน์” (ตึกโดมแก้ว) โดยนักศึกษาก็จะเรียนรวมอยู่ที่อาคารสิรินธรารัตน์ดังกล่าว ปัจจุบัน มธ.ศูนย์ลำปาง มีนักศึกษา ประมาณ 1,900 คน โดยตั้งเป้าหมายว่าในอนาคตอาจจะเปิดการเรียนการสอน 8 คณะ และจะรับนักศึกษาเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 คน สำหรับในปีการศึกษา 2557 ได้เพิ่มสาขาการเรียนการสอนอีก 2 คณะได้แก่ คณะสาธาณสุขศาสตร์ และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี

“การมาเปิดคณะต่างๆ ที่นี่ เราเริ่มต้นจากประชาชนในพื้นที่ต้องการ เช่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ อุตสาหกรรม ที่เน้นเรื่องออกแบบเซรามิก เพราะลำปางเป็นแหล่งเซรามิก และเฟอร์นิเจอร์ไม้ ส่วนคณะบัญชี ก็เป็นคณะที่คนลำปางอยากเรียนมาก เนื่องจากรู้เรื่องระบบบัญชีน้อยแต่ทำธุรกิจกันมาก สำหรับหลักการในการพิจารณาเปิดการเรียนการสอนในแต่ละคณะก็คือ ชาวเหนือและชาวลำปางต้องการ รวมทั้งธรรมศาสตร์ก็ต้องมีความพร้อมที่จะเปิดสอนด้วย เพราะมาตรฐานที่ลำปางต้องเท่ากับ มธ.ที่กรุงเทพ ในอนาคตก็แนวโน้มอาจจะเปิดหลักสูตรภาษาอังกฤษ และให้ความรู้ด้านอาเซียนมากขึ้น ส่วนเรื่องที่มหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบประมาณปลายปี ก็จะทำให้การบริหารงานคล่องตัวขึ้น โดยในปัจจุบัน มธ.ศูนย์ลำปางก็มีอิสระในการตัดสินใจบริหารงานเอง ไม่ต้องรออนุมัติจากส่วนกลาง”

รศ.พรชัย ตระกูลวรานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มธ.ศูนย์ลำปาง กล่าวว่า มธ.เปิดการเรียนการสอน และพัฒนาอาคารสถานที่มาอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น ขยายห้องสมุดจาก 1 ชั้นเป็น 2 ชั้น จำนวนหนังสือมีมากขึ้น ระบบยืมหนังสือจากส่วนกลาง ทั้งหอสมุดปรีดี ทั้งท่าพระจันทร์ ใช้เวลาแค่ 2 วัน ส่วนการคืนหนังสือก็ทำได้รวดเร็ว มีสื่อดิจิตอลเท่าเทียมกับธรรมศาสตร์ทุกศูนย์ นอกจากนี้ยังมีไอแพดให้บริการแก่นักศึกษา 10 เครื่อง มีห้องเรียนภาษาอังกฤษ มีบุคลากร ชาวอเมริกัน ทั้งอาสาสมัครและอาจารย์พิเศษ ได้ฝึกกับเจ้าของภาษาตัวจริง นอกจากนั้นยังจะมีการเปิดศูนย์อาเซียน +1 เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดเสรีอาเซียนอีกด้วย

“มธ.ศูนย์ลำปางได้ร่วมหารือกับโรงเรียนมัธยมในจังหวัดลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีความพร้อมในการสร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่ภาคเหนือ โดยใช้สื่อการเรียนการสอนให้เกิดประโยชน์กับนักเรียนระดับมัธยมได้ โดยในปี 2557 ได้จัดสรรงบเพื่อเผยแพร่ความรู้อาเซียนศึกษาในพื้นที่จังหวัดลำปาง 1 ล้านบาท และเป็นที่น่ายินดีว่าภาพรวมล่าสุดบัณฑิตที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย จำนวน 67% ทำงานในพื้นที่ภาคเหนือ 20% ทำงานนอกพื้นที่ ส่วนที่เหลือศึกษาต่อ”

สำหรับการให้บริการวิชาการสู่สังคมนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ได้ร่วมกับร่วมกับสถาบันไทยคดีศึกษา ทำโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม “พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุเสด็จ” ต.เสด็จ อ.เมือง จ.ลำปาง เนื่องจากวัดนี้มีความสำคัญมาแต่อดีต เพราะได้รับการอุปถัมภ์จากเจ้าหลวงเมืองลำปาง พระเถระสำคัญ ตลอดจนคหบดี ทำให้มีโบราณสถานและโบราณวัตถุจำนวนมาก ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าว ได้รวบรวมและขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุที่สำคัญของวัด การแปลจารึกอักษรธรรมล้านนาที่ฐานพระพุทธรูป รวมทั้งให้ความรู้กับประชาชนในการดูแลและอนุรักษ์โบราณวัตถุ และโบราณสถาน อีกทั้งยังทำวิจัยเรื่องพระธาตุเสด็จ : วัด ชุมชน คน พิพิธภัณฑ์” โดยเนื้อหางานวิจัยได้ถูกนำไปประกอบการจัดทำนิทรรศการถาวรของพิพิธภัณฑ์อีกด้วย

นอกจากนี้ มธ.ศูนย์ลำปาง ได้ลงพื้นที่ชุมชนวอแก้ว ต.วอแก้ว อ.ห้างฉัตร เพื่อร่วมพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันชุมชนวอแก้วได้พัฒนาจนเป็นชุมชนท่องเที่ยวยั่งยืน ได้รับมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยจำนวน 16 ครัวเรือน

ดร.กิตติภูมิ นามวงศ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครลำปาง ในฐานะศิษย์เก่า กล่าวว่า เมื่อก่อน คนในภูมิภาค จะมอง มธ.เป็นที่สถาบันการศึกษาไกลตัว แตะต้องยาก เมื่อจะศึกษาต่อก็จะมองมหาวิทยาลัยในภูมิภาคมากกว่า การที่ มธ.มาเปิดศูนย์ที่ลำปาง เป็นการทลายความคิดของคนภูมิภาคในเรื่องมหาวิทยาลัยอย่างสิ้นเชิง มีคนที่เรียนปริญญาโทในช่วงนั้นค่อนข้างมาก ต่อมาก็มีโครงการ ป.โท ของหลายมหาวิทยาลัยเข้ามาเปิด ซึ่งผลพวงของ นศ.รุ่นต้นๆ ที่จบการศึกษาก็กระจายอยู่ในภาคเหนือ ทำให้สามารถรวมตัวประสานงานกันได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นได้มีการหารือร่วมกันว่า ทางจังหวัด และ มธ.น่าจะร่วมมือกันมากกว่านี้ และให้มีความชัดเจนมากขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์กับลำปางและเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่นๆ

 

 

วันที่ 8/07/2556 เวลา 11:31 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

337

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน