เจ้าสัวครองแชมป์56รวยสุดปีเดียวพุ่ง4แสนล้าน

เซ็นทรัล-จิราธิวัฒน์ที่ 2เจ้าพ่อน้ำเมาครองที่ 3 ทักษิณโผล่ติดอันดับ10เจ้าแม่โซล่าฟาร์มติด43

 

ฟอร์บส์เปิด 50 อันดับมหาเศรษฐีเมืองไทย “เจ้าสัวธนินท์” ครองแชมป์รวยสุดตลอดกาล ปีเดียวทรัพย์พุ่ง 1.12 แสนล้าน หลังเข้าเทคโอเวอร์แม็คโคร-บ.ประกันภัยจี เบ็ดเสร็จมีทรัพย์ถึง 3.93 แสนล้าน น ขณะที่อันดับ 2 เจ้าสัวเซ็นทรัล “ตระกูลจิราธิวัฒน์” มี 3.83 แสนล้าน ส่วนอันดับ 3.เป็นของเจ้าพ่อน้ำเมา “เสี่ยเจริญ-เบียร์ช้าง” มี 3.3 แสนล้าน ด้าน “ทักษิณ” ชื่อโผล่ติดรวยอันดับ 10 มี 5.3 หมื่นล้าน ฮือฮาเจ้าแม่โซล่าร์ฟาร์ม “ซีอีโอหญิง-วันดี” ติดเศรษฐีใหม่เมืองไทยอันดับ 43 หลังประสบความสำเร็จใช้แสงอาทิตย์ผลิตกระแสไฟฟ้า พลิกชีวิตรวยก้าวกระโดด

วันที่ 4 ก.ค. นิตยสารฟอร์บส์ เปิดเผยรายชื่อ 50 อันดับมหาเศรษฐีประเทศไทย ที่มีมูลค่าความร่ำรวยรวมสูงถึงกว่า 2.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 4 หรือ 25% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) นอกจากนี้ มหาเศรษฐีไทย 44 ราย จาก 50 ราย ยังมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน จากตลาดหุ้นไทยที่เติบโตขึ้น 14% นับจากวันที่ 20 ส.ค. 2555 ที่เป็นวันสุดท้ายที่มีการจัดอันดับก่อนหน้า ทั้งนี้ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ครองอันดับ 1 ของมหาเศรษฐีไทย ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 3.93 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.12 แสนล้านบาท จากการรุกเข้าซื้อกิจการครั้งใหญ่ในปี 2556 ทั้ง บริษัท ซีพี ออลล์ ที่เข้าซื้อสยามแม็คโคร และนายธนินท์เข้าซื้อหุ้นใหญ่ 15% ในบริษัทประกันภัย ผิงอัน ของจีน ที่ถือว่าเป็นมูลค่าการซื้อบริษัทจีนที่มากที่สุดโดยบริษัทต่างชาติ

สำหรับอันดับ 2 คือ ตระกูลจิราธิวัฒน์ ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 3.83 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.68 แสนล้านบาท ขณะที่นายเจริญ สิริวัฒนภักดี มั่งคั่งเป็นอันดับ 3 มูลค่าทรัพย์สิน 3.3 แสนล้านบาท หลังจากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เข้าซื้อกิจการกลุ่มบริษัท เอฟแอนด์เอ็น ในสิงคโปร์ วงเงิน 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 10 โดยมีทรัพย์สิน 5.3 หมื่นล้านบาท

 

สำหรับรายชื่อมหาเศรษฐีไทยทั้ง 50 อันดับมีดังนี้ 1.ธนินทร์ เจียรวนนท์ ประธานเครือเจริญโภคภัณฑ์ มูลค่าทรัพย์สิน 3.93 แสนล้านบาท 2.ตระกูลจิราธิวัฒน์ เครือเซ็นทรัล มูลค่าทรัพย์สิน 3.83 แสนล้านบาท 3.เจริญ สิริวัฒนภักดี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ มูลค่าทรัพย์สิน 3.30 แสนล้านบาท 4.ตระกูลอยู่วิทยา กลุ่มกระทิงแดง มูลค่าทรัพย์สิน 2.43 แสนล้านบาท 5.กฤตย์ รัตนรักษ์ บริษัท กรุงเทพ วิทยุโทรทัศน์ จำกัด ผู้บริหารช่อง 7 สี มูลค่าทรัพย์สิน 1.21 แสนล้านบาท 6.จำนงค์ ภิรมย์ภักดี ประธานบริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ มูลค่าทรัพย์สิน 7.48 หมื่นล้านบาท 7.วานิช ไชยวรรณ ประธานกรรมการ บมจ.ไทยประกันชีวิต มูลค่าทรัพย์สิน 6.55 หมื่นล้านบาท 8.วิชัย มาลีนนท์ ประธานกรรมการและผู้ร่วมก่อตั้ง BEC World มูลค่าทรัพย์สิน 6.24 หมื่นล้านบาท 9.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เครือกรุงเทพดุสิตเวชการ มูลค่าทรัพย์สิน 5.62 หมื่นล้านบาท 10.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มูลค่าทรัพย์สิน 5.30 หมื่นล้านบาท

11.วิชัย ศรีวัฒนประภา (นามสกุลเดิม รักศรีอักษร) กลุ่มคิง เพาเวอร์ มูลค่าทรัพย์สิน 4.99 หมื่นล้านบาท 12.บุญชัย เบญจรงคกุล ผู้ก่อตั้ง บมจ.โทเทิ่ล แอคเซส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค มูลค่าทรัพย์สิน 4.21 หมื่นล้านบาท 13.พรเทพ พรประภา กลุ่มสยามกลการ มูลค่าทรัพย์สิน 4.06 หมื่นล้านบาท 14.ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ผู้ก่อตั้ง บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท มูลค่าทรัพย์สิน 3.9 หมื่นล้านบาท 15.คีรี กาญจนพาสน์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ มูลค่าทรัพย์สิน 3.74 หมื่นล้านบาท 16.ประยุทธ มหากิจศิริ กลุ่มควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส (เนสต์กาแฟ) มูลค่าทรัพย์สิน 3.59 หมื่นล้านบาท 17.วิชัย ทองแตง ถือหุ้นเครือกรุงเทพดุสิตเวชการ, บมจ.ซีทีเอช มูลค่าทรัพย์สิน 3.43 หมื่นล้านบาท 18.อนันต์ อัศวโภคิน บมจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มูลค่าทรัพย์สิน 3.37 หมื่นล้านบาท 19.ประณีตศิลป์ วัชรพล หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มูลค่าทรัพย์สิน 3.28 หมื่นล้านบาท 20.William Heinecke บริษัท Minor International มูลค่าทรัพย์สิน 3.12 หมื่นล้านบาท

21.สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ถือหุ้นบริษัทกรุงเทพ โทรทัศน์และวิทยุฯ, ถือหุ้นธุรกิจธนาคาร ซีเมนต์ มูลค่าทรัพย์สิน 2.9 หมื่นล้านบาท 22.Aloke Lohia บริษัท Indorama Ventures มูลค่าทรัพย์สิน 2.85หมื่นล้านบาท 23.อิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มน้ำตาลมิตรผล มูลค่าทรัพย์สิน 2.84 หมื่นล้านบาท 24.พิชญ์ โพธารามิก บมจ.จัสมินอินเตอร์เนชั่นแนล มูลค่าทรัพย์สิน 2.68 หมื่นล้านบาท 25.สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานกรรมการกลุ่มไทยซัมมิท มูลค่าทรัพย์สิน 2.34 หมื่นล้านบาท 26.สรรเสริญ จุฬางกูร ถือหุ้นบริษัทไทยซัมมิทและบริษัทไทยสตีลเคเบิ้ล มูลค่าทรัพย์สิน 2.23 หมื่นล้านบาท 27.วิทูร สุริยวนากุล บริษัท สยาม โกลบอล เฮ้าส์ มูลค่าทรัพย์สิน 2.18 หมื่นล้านบาท 28.เพชร และ รัตน์ โอสถานุเคราะห์ กลุ่มบริษัทโอสถสภา มูลค่าทรัพย์สิน 1.97 หมื่นล้านบาท 29.พงษ์ศักดิ์ วิทยากร ผู้ร่วมก่อตั้งกรุงเทพดุสิตเวชการ มูลค่าทรัพย์สิน 1.87 หมื่นล้านบาท 30.นิติ โอสถานุเคราะห์ ถือหุ้นบริษัทโอสถสภา มูลค่าทรัพย์สิน 1.79 หมื่นล้านบาท

31.เฉลิม อยู่วิทยา กลุ่มกระทิงแดง มูลค่าทรัพย์สิน 1.72 หมื่นล้านบาท 32.ไกรสร จันศิริ ประธาน บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ มูลค่าทรัพย์สิน 1.7 หมื่นล้านบาท 33.สมยศ และ จรีพร อนันตประยูร บริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด มูลค่าทรัพย์สิน 1.64 หมื่นล้านบาท 34.จำรูญ ชินธรรมมิตร์ กลุ่มน้ำตาลขอนแก่น มูลค่าทรัพย์สิน 1.59 หมื่นล้านบาท 35.วิชา พูลวรลักษณ์ เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ มูลค่าทรัพย์สิน 1.5 หมื่นล้านบาท 36.ปลิว ตรีวิศวเวทย์ บมจ. ช.การช่าง มูลค่าทรัพย์สิน 1.44 หมื่นล้านบาท 37.นิจพร จรณะจิตต์ และ เปรมชัย กรรณสูต ถือหุ้น บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ มูลค่าทรัพย์สิน 1.26 หมื่นล้านบาท 38.Nishita Shah Federbush บมจ.พรีเชียส ชิปปิ้ง มูลค่าทรัพย์สิน 1.19 หมื่นล้านบาท 39.วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ บมจ.สามารถ คอร์ปอเรชั่น มูลค่าทรัพย์สิน 1.15 หมื่นล้านบาท 40.สมโภชน์ อาหุนัย บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ มูลค่าทรัพย์สิน 1.03 หมื่นล้านบาท

41.เฉลิม หาญพาณิชย์ บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล มูลค่าทรัพย์สิน 1.01หมื่นล้านบาท 42.รุ่งโรจน์ แสงศาสตรา บมจ.ไดนาสตี้ เซรามิค มูลค่าทรัพย์สิน 9.98 พันล้านบาท 43.วันดี กุญชรยาคง ประธานกรรมการ SPCG มูลค่าทรัพย์สิน 9.36 พันล้านบาท 44.ทัศพล แบเลเว็ลด์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.เอเชียเอวิเอชั่น มูลค่าทรัพย์สิน 9.04 พันล้านบาท 45.ประชัย เลี่ยวไพรัตน์และครอบครัว บมจ.ทีพีไอ โพลีน มูลค่าทรัพย์สิน 8.42 พันล้านบาท 46.พรดี ลี้อิสระนุกูล และครอบครัว กลุ่มบริษัทสิทธิผล มูลค่าทรัพย์สิน 8.27 พันล้านบาท 47.ประทีป ตั้งมติธรรม บมจ.ศุภาลัย มูลค่าทรัพย์สิน 8.11 พันล้านบาท 48.วรวิทย์ วีรบวรพงศ์ บมจ.สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตร เคมิคัลส์ มูลค่าทรัพย์สิน 6.7 พันล้านบาท 49.อนันต์ อาญจนพาสน์ บมจ.บางกอกแลนด์ มูลค่าทรัพย์สิน 6.6 พันล้านบาท 50.วิโรจน์ ธนาลงกรณ์ บริษัท ซาบีน่า มูลค่าทรัพย์สิน 6.24 พันล้านบาท

น.ส.วันดี กุญชรยาคง ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG กล่าวรู้สึกภาคภูมิใจที่ประสบความสำเร็จจาการพัฒนาธุรกิจการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า จนได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารฟอร์บส์ ติด 1 ใน 50 อันดับเศรษฐีประเทศไทย ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้ทำให้บริษัทเราเป็นผู้นำการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในประเทศไทยและระดับอาเซียน ที่สำคัญยังส่งผลนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจใหม่ในด้านของการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าพลังน้ำ หรือพลังลม เพราะพลังงานเหล่านี้นอกจากเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ไม่มีวันหมดไปจากโลกแล้ว ยังเป็นพลังสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และความสำเร็จครั้งนี้ยังเป็นผลดีกับประเทศชาติโดยรวม ทั้งด้านการลดมลภาวะ การลดการนำเข้าน้ำมัน ลดการใช้แก๊ส ลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จทั้งในส่วนของตัวเองและเป็นผลดีต่อประเทศชาติด้วย

สำหรับจุดเปลี่ยนชีวิตครั้งสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จมาถึงวันนี้นั้น น.ส.วันดีบอกว่าเรื่องของความเชื่อและศรัทธาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะตัวเองเชื่อว่าจากประสบการณ์การพัฒนาแสงอาทิตย์ทำให้มองเห็นโอกาส เห็นช่องทาง และมั่นใจว่าจะพัฒนาการใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้สำเร็จ จึงได้ทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมอย่างหนักและเต็มที่ แม้ต้องเผชิญอุปสรรคปัญหามากมายตลอดทางก็ไม่ได้ย่อท้อ เพราะเชื่อว่าเราจะทำได้ ซึ่งหลังจากฟันฝ่าอุปสรรคมาได้และประสบความสำเร็จก็รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจ ซึ่งธุรกิจนี้จะเป็นโมเดลนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้อย่างกว้างขวางต่อไป

น.ส.วันดี กล่าวถึงอนาคตของบริษัทเอสพีซีจีฯ ด้วยว่า จะทุ่มเทแรงกายต่อไปเพื่อนำพาบริษัทให้เป็นผู้นำด้านการใช้พลังแสงอาทิตย์ผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าในทุกมุม ทุกมิติ และมีความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนในทุกรูปแบบ ซึ่งเวลานี้ก็กำลังทุ่มเทให้กับการพัฒนาโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) หรือการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านครัวเรือนทั่วไป และโรงงานภาคเอกชน ถือว่าเป็นธุรกิจใหม่ในประเทศไทย และสามารถสร้างความมั่นคงด้านการใช้พลังงานให้กับประเทศชาติอย่างอย่างยั่งยืนต่อไปได้ด้วย

ทั้งนี้ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) มีโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งสิ้น 36 โครงการ รวมกำลังผลิตกว่า 200 เมกะวัตต์ เงินลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยจะพัฒนาให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2556 ซึ่งโครงการทั้งหมดได้มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ทั้งหมดแล้ว ขณะนี้โครงการได้มีการจำหน่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์เข้าระบบของ กฟภ.เรียบร้อยแล้ว 16 โครงการ และกำลังจะขายเพิ่มอีก 5 โครงการ และบริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้ของโครงการดังกล่าวตั้งแต่วันที่เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เป็นต้นไป เป็นผลให้บริษัทมีโครงการโซลาร์ฟาร์มที่จำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขณะนี้แล้วรวมทั้งสิ้น 21 โครงการ รวมกำลังการผลิต 137.17 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างรอการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เพิ่มอีก 2 โครงการ และมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้าง 13 โครงการ โดยทุกโครงการมีความคืบหน้าตามแผนการที่ได้วางไว้ และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ตามกำหนดในปี 2556 สำหรับรายได้ปีนี้บริษัทคาดว่าจะมีรายได้เติบโตขึ้นไปที่ 2.4 พันล้านบาท จากปี 2555 ที่มีรายได้อยู่ที่ 1.2 พันล้านบาท และคาดว่าเมื่อโครงการก่อสร้างเสร็จในช่วงเดือนตุลาคม 2556 จะทำให้รายได้ในปีนี้เติบโตขึ้น

นอกจากนี้บริษัทเตรียมดำเนินการออกกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund : IFF) ขนาด 5,500 ล้านบาท ซึ่งได้ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้ว บริษัทคาดการณ์ว่า ก.ล.ต.จะอนุมัติให้เสนอขายกองทุนดังกล่าวได้ในช่วงเดือนสิงหาคม 2556 โดยบริษัทเตรียมนำโซลาร์ฟาร์มเข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานรวม 7 โครงการ นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาลงทุนในเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า คาดว่าจะทำโครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก โดยคาดว่าจะนำร่อง 1 โครงการก่อน งบลงทุนเบื้องต้นราว 200 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบโครงการ ทั้งนี้บริษัทคาดว่าจะเริ่มเห็นการก่อสร้างแผนงานดังกล่าวในช่วงปลายปี 2556

 

 

 

 

 

วันที่ 5/07/2556 เวลา 8:42 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

292

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน