ประชุมสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์

ลบข้อครหานิสิต-นศ.ล้นเร่งผลิตครูให้มีคุณภาพ

 

รศ.พีระวุฒิ สุวรรณจันทร์ คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า จากที่คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ มีการรับนักศึกษาเกินจำนวน ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพของการผลิตครู สิ่งสำคัญที่จะทำให้การวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวนั้นหมดไป จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงบทบาทและหน้าที่ของการผลิตครูในชั้นเรียนให้ตรงตามเป้าประสงค์ และผลิตครูที่มีคุณภาพ ในฐานะผู้บริหารคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจนในการผลิตครู เพื่อให้ครูเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงชั้นเรียน มิฉะนั้นการปฏิรูปการศึกษาอาจไม่ประสบความสำเร็จตามต้องการ

รศ.พีระวุฒิ กล่าวด้วยว่า จากเหตุดังกล่าว คณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ทั่วประเทศจึงได้จัดการประชุมเป็นประจำทุก 2 เดือน เพื่อสร้างบทบาทของวิชาชีพครูให้มีความแข็งแกร่งและสามารถยกระดับครูไทยให้มีขีดความสามารถสูงขึ้น ซึ่งคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก็เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่มีการผลิตครู โดยเน้นการผลิตครูอาชีวศึกษา เพื่อให้บัณฑิตเป็นผู้ที่มีความรู้ และทักษะวิชาชีพ พร้อมที่จะถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่นได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ และจากความสำคัญของการผลิตครูดังกล่าว ทางสถาบันฯ ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีสถาบันที่ผลิตครูร่วมประชุมกว่า 70 แห่ง เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาที่อาจมีผลต่อภาพลักษณ์ของการผลิตครูและวิชาชีพครู

รศ.พีระวุฒิ กล่าวต่อว่า ในการประชุมสภาคณบดีฯ ที่ผ่านมา สิ่งสำคัญที่สภาคณบดีฯ และคุรุสภา ต้องการปฏิรูปการศึกษาและพยายามหาแนวทางในการร่วมกันปฏิรูปนั้น มี 5 แนวทาง ดังนี้ 1.การผลิตครูให้มีจำนวนที่เหมาะสม โดยจะเริ่มวางแผนการผลิตครูในปีการศึกษา 2557 ซึ่งจะเพิ่มจำนวนการผลิตในสาขาวิชาที่ขาดแคลน และลดจำนวนการผลิตในสาขาที่เกินความต้องการ 2.คัดกรองผู้เข้าเรียนครูอย่างถี่ถ้วนมากขึ้น โดยผู้สมัครเข้าเรียนครูจะต้องผ่านการสอบที่มีมาตรฐานและจัดสอบร่วมกันทั่วประเทศ อีกทั้งยังจะต้องมีประวัติการเรียนที่ดี เพื่อให้ได้รับการยอมรับในวิชาชีพเพิ่มขึ้น

3.สร้างนวัตกรรมใหม่ในการผลิตครู ด้วยการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตครูเพื่อให้ได้ครูรุ่นใหม่ที่สอนด้วยวิธีการและเทคโนโลยีที่ทันสมัย 4.คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ต้องมีบทบาทในการชี้นำแนวคิดให้กับสังคม โดยครูรุ่นใหม่จะต้องมีความทันสมัยและเป็นผู้นำสูง สามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในสังคม สร้างบรรยากาศการเรียนการสอนที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนการสอนให้ผู้เรียนมีแนวคิด และเข้าใจสิ่งใหม่ได้ 5.สร้างบทบาทเชิงรุกผ่านสมาคมทางการศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทำให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงที่มีบทบาทและเติบโตได้อย่างมีความหมาย

“ทั้ง 5 แนวทางดังกล่าว เป็นสิ่งที่สภาคณบดีฯ เน้นย้ำและพยายามสร้างความร่วมมือกันในการพัฒนา ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อ 5 แนวทางสามารถสำเร็จออกมาเป็นรูปธรรม ก็จะสามารถทำให้บทบาทของครูไทยมีศักยภาพเป็นหนึ่งได้อย่างชัดเจนและยั่งยืน” รศ.พีระวุฒิ กล่าว

 

 

วันที่ 1/07/2556 เวลา 8:31 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

464

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน