TMB ฟันธงส่งออกปี 56 หลุดเป้า

กสิกรไทยเห็นด้วยจากแรงกดดันเศรษฐกิจโลก

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินส่งออกของไทยปีนี้ขยายตัวน้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาด หลังพบสัญญาณแผ่วลงของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าในครึ่งปีหลัง ทำให้อาจขยายตัวได้เพียงร้อยละ 3.5 ต่อปี ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินการส่งออกเดือน พ.ค. หดตัว สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ส่วนแนวโน้มการส่งออกครึ่งปีหลังยังทรงตัว แม้ช่วยลดแรงกดดันต่อภาคการส่งออกลงบ้าง

กระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขส่งออกล่าสุด แสดงให้เห็นถึงมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนพฤษภาคม 2556 หดตัวถึงร้อยละ -5.2 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าที่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ -4.1 ต่อปี นับเป็นการหดตัวครั้งที่ 2 ของปี โดยสินค้าหลักที่หดตัวได้แก่ กลุ่มสินค้าเกษตร อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 40 ของส่งออกรวม

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ยากที่การส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี จะเติบโตได้อย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ในช่วงร้อยละ 5-7 ต่อปี นอกจากนี้ยังมองว่าใน 7 เดือนที่เหลือ การส่งออกของไทยจะขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 4.6 ต่อปี และจะทำให้การส่งออกไทยในปี 2556 อาจขยายตัวเพียงร้อยละ 3.5 ต่อปีเท่านั้น โดยการส่งออกในช่วง 7 เดือนที่เหลือนั้น ต้องมีมูลค่าเฉลี่ย 20,475 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน ซึ่งยังถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับข้อมูลในอดีต

สาเหตุหลักที่จะส่งผลให้การส่งออกไทยขยายตัวได้น้อยกว่าคาด มาจากสัญญาณทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ อันได้แก่ สหภาพยุโรป และจีน ที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลงในไตรมาส 2 และยังไม่เห็นแนวโน้มที่จะฟื้นกลับมาในครึ่งปีหลัง โดยเศรษฐกิจยุโรปคาดว่ายังคงหดตัวต่อเนื่องจากปีก่อนจากปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะที่ยังคงหาทางออกไม่ได้ นอกจากนี้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อที่ใช้เป็นตัวชี้นำภาคการผลิตมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง เช่นเดียวกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อจัดทำโดยธนาคารเอชเอสบีซีของจีน ที่หดตัวในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของไตรมาส 2 ประกอบกับยอดค้าปลีกที่ขยายตัวต่ำกว่าปีก่อน บ่งชี้ถึงสัญญาณการชะลอลงของเศรษฐกิจจีน

ในส่วนของเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้น ถึงแม้จะมีการอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่การบริโภคภายในประเทศยังคงอ่อนแอ สะท้อนจากยอดค้าปลีกหดตัว 3 เดือนติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ มีเพียงแค่เศรษฐกิจสหรัฐ ที่เห็นสัญญาณฟื้นตัวจากยอดค้าปลีกที่ขยายตัวเร่งขึ้นในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 2 และภาคการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้น ถึงแม้ภาพรวมยังไม่แข็งแกร่งอย่างเต็มที่หลังตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ที่ถูกปรับลดลง และเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอาเซียน ที่คาดว่าเศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้ดีในปีนี้ แม้มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากภาคส่งออกที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกับไทย

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ประเมินว่า การส่งออกสินค้าเกษตรจะหดตัวในปีนี้ ซึ่งใน 5 เดือนแรกของปี หดตัวไปแล้วถึงร้อยละ -5.9 ต่อปี โดยเฉพาะยางพาราที่มูลค่าส่งออก 5 เดือนหดตัวร้อยละ -11 จากราคาที่ยังตกต่ำอยู่ และกุ้งที่ประสบปัญหาจากโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) อีกทั้งสหรัฐอาจใช้มาตรการภาษีตอบโต้มาตรการอุดหนุนการส่งออกกุ้งของไทย ทำให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี ส่งออกกุ้งหดตัวไปแล้วถึงร้อยละ -30.3 ต่อปี ส่วนมูลค่าการส่งออกข้าว คาดว่าจะขยายตัวได้เพียงเล็กน้อยหากมีการเร่งการระบายข้าวจากสต๊อกรัฐบาลออก

ในหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ถึงแม้มูลค่าส่งออกรถยนต์จะมีสัญญาณการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีเนื่องจากมีตลาดที่เศรษฐกิจขยายตัวรองรับ ได้แก่ อาเซียน ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง ทดแทนยอดขายรถยนต์ในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงหลังนโยบายรถยนต์คันแรกสิ้นสุดลง แต่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบียังคาดว่ามูลค่าส่งออกหมวดสินค้าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะชะลอตัวลงตามแนวโน้มอุปสงค์ในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุตสาหกรรมหลักอย่างอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ตัวเลขการนำเข้าชิ้นส่วนของหมวดเดียวกันหดตัวร้อยละ -5.3 ใน 5 เดือนแรกของปี เป็นการบ่งชี้การชะลอตัวของส่งออกหมวดดังกล่าวในระยะต่อไป เพราะมีตลาดหลักในสหรัฐ จีน และยุโรป ที่ภาพรวมยังไม่แข็งแกร่งมาก หรือการส่งออกทองคำแท่งที่ในช่วงที่เหลือของปีจะไม่สูงมากจากราคาทองคำที่ยังอยู่ในช่วงขาลง ตรงกันข้ามกับช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายนของปีก่อนหน้าที่มีการเร่งส่งออกทองแท่งจากราคาที่อยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 ต่อปี ได้รับประโยชน์จากฐานการคำนวณที่ต่ำในไตรมาส 4 ปี 2554 จากสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งในไตรมาส 4 ปี 2556 ฐานการคำนวณได้กลับสู่ภาวะปกติ ทำให้การส่งออกในช่วงท้ายของปีนี้ ไม่มีตัวช่วยเหมือนปีก่อน

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกของไทยในเดือน พ.ค.56 ที่หดตัวลงอีกครั้ง สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ (โดยเฉพาะจีน) มากขึ้น ประกอบกับการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญบางรายการ ก็ยังคงเผชิญความยากลำบากในการฟื้นตัวตลอดช่วงครึ่งแรกของปี

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 นั้น แม้เงินบาทที่กลับมาเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคมากขึ้น จะช่วยลดแรงกดดันต่อภาคการส่งออกของไทยลงไปบ้าง แต่ปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตที่ยังคงมีผลต่อเนื่องจากช่วงครึ่งแรกของปี ทั้งการสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันด้านราคา ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบการผลิตของสินค้าบางประเภท ผนวกกับความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน (ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็คงส่งผลกระทบต่อการค้าในอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดศักยภาพของไทย ให้ชะลอตัวลงด้วยเช่นกัน) น่าจะส่งผลทำให้การฟื้นตัวของการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังล่าช้ากว่าที่คาดไว้เดิม ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกในปี 2556 ลงมาที่ร้อยละ 4.0 จากเดิมที่คาดไว้ที่ร้อยละ 7.0 ซึ่งอาจส่งผลทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเผชิญความเสี่ยงที่จะพลิกกลับมาบันทึกยอดขาดดุล หลังจากที่เกินดุลต่อเนื่องตลอดในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา

โดยในช่วงครึ่งปีหลัง สินค้าอุตสาหกรรมในกลุ่มเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ รวมไปถึงกลุ่มวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะเหล็กและผลิตภัณฑ์ น่าจะยังสามารถประคองมูลค่าการส่งออกให้อยู่ในระดับที่ค่อนข้างดีจากผลของการลงทุนสาธารณูปโภคในญี่ปุ่นและเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV เช่นเดียวกับสินค้าในกลุ่มยานยนต์ที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนไปยังประเทศอาเซียน ที่มีการขยายฐานการผลิตของค่ายรถใหญ่ อาทิ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งเมื่อรวมกับอุปสงค์รถยนต์นั่งในตลาดหลักและตลาดศักยภาพ ทั้ง ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และแอฟริกาใต้ ที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และผลของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปีก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการลดสัดส่วนการส่งออกเพื่อเร่งตอบสนองต่อความต้องการในประเทศที่เร่งตัวสูงจากผลของมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรก ก็น่าจะช่วยให้สินค้าหมวดนี้ยังสามารถบันทึกอัตราการขยายตัวได้

อย่างไรก็ดี สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปหลายประเภท อาจต้องเผชิญกับสภาวะที่ยากลำบากมากขึ้น อาทิ ข้าว ที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคา น้ำตาลที่ประสบปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงเนื่องจากสต๊อกคู่แข่งในตลาดโลกที่ค่อนข้างมาก ขณะที่ ยางพารา ก็ประสบปัญหาสต๊อกคู่ค้าสำคัญที่เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว สวนทางกับผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งที่ประสบภาวะขาดแคลนวัตถุดิบการผลิต ซึ่งภาวะดังกล่าวอาจส่งผลต่อเนื่องมายังภาพรวมการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2556

วันที่ 30/06/2556 เวลา 8:55 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

264

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน