กรมวิชาการเกษตรเร่งขยายงานวิจัยสู่โรงอัดก้อนยางมาตรฐาน “จีเอ็มพี”

เพิ่มเสริมศักยภาพการแข่งขันพร้อมรองรับตลาดโลก

กรมวิชาการเกษตร เร่งขยายผลงานวิจัยยกระดับมาตรฐานการผลิตยางแผ่นรมควันอัดก้อนด้วยระบบมาตรฐาน “จีเอ็มพี” สู่โรงอัดก้อนยางทั่วประเทศ มุ่งเพิ่มมูลค่า เสริมศักยภาพแข่งขัน พร้อมรองรับตลาดโลก เผยยอดสั่งซื้อพุ่งเกินกำลังผลิต 5 เท่า แนวโน้มไปได้สวย

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้มีแผนเร่งต่อยอดผลงานวิจัยเรื่อง การยกระดับมาตรฐานการผลิตยางแผ่นรมควันอัดก้อนด้วยระบบมาตรฐานจีเอ็มพี (GMP) ของสถาบันวิจัยยาง ซึ่งได้รับการคัดเลือกเป็นผลงานวิจัยระดับชมเชย ประเภทงานด้านบริการวิชาการ ประจำปี 2555 โดยกรมวิชาการเกษตรจะขยายผลงานวิจัยดังกล่าวไปสู่โรงอัดก้อนยางที่มีศักยภาพทั่วประเทศ มุ่งพัฒนาโรงงานผลิตยางแผ่นรมควันอัดก้อนให้ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน GMP เพิ่มมากขึ้น นอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่ายางธรรมชาติภายในประเทศแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์ผลิตยางแผ่นรมควันอัดก้อนที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐานเป็นที่เชื่อถือ และยอมรับจากผู้ซื้อ ทั้งยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นในระบบคุณภาพให้กับผู้ซื้อและผู้ใช้ยางทั่วโลก

ขณะเดียวกัน ยังใช้เป็นแนวทางในการเก็บสต็อกยางไว้ในช่วงราคายางตกต่ำ และค่อยนำออกมาจำหน่ายเมื่อราคาขยับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยรักษาเสถียรภาพราคายางได้ ที่สำคัญ ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับสินค้ายางพาราไทยในตลาดโลกด้วย

“ปัจจุบันมีโรงอัดก้อนยางได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP จากสถาบันวิจัยยางแล้ว 2 แห่ง คือ โรงอัดก้อนยางสหกรณ์กองทุนสวนยางจันดี จำกัด จังหวัดนครศรีธรรมราช มีกำลังการผลิต ประมาณ 165-200 ตัน/เดือน สร้างมูลค่าเพิ่มเฉลี่ย กิโลกรัมละ 1.23-1.30 บาท หรือเดือนละ 2.02-2.60 แสนบาท และโรงอัดก้อนยางชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง จำกัด กำลังการผลิตกว่า 572 ตัน/เดือน มีมูลค่าเพิ่มเฉลี่ย 3.50 บาท/กิโลกรัม หรือเดือนละประมาณ 2 ล้านบาท ผลจากการได้รับการรับรองเครื่องหมาย GMP ทำให้โรงอัดก้อนยางทั้ง 2 แห่ง มียอดสั่งซื้อจากลูกค้าทั้งภายในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น มากกว่าปริมาณการผลิตถึง 5 เท่า ซึ่งความต้องการของตลาดมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น” นายสุวิทย์ กล่าว

ทางด้านนางปรีดิ์เปรม ทัศนกุล นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา กรมวิชาการเกษตร หัวหน้าทีมวิจัยเรื่องการยกระดับมาตรฐานการผลิตยางแผ่นรมควันอัดก้อนด้วยระบบมาตรฐาน GMP กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากทำให้ลูกค้ามั่นใจในคุณภาพสินค้าแล้ว การผลิตยางแผ่นรวมควันอัดก้อนตามมาตรฐาน GMP ยังสามารถบรรจุยางอัดก้อนในตู้บรรจุสินค้าเพื่อส่งออกได้เพิ่มมากขึ้น จากเดิม 180 ก้อน เป็น 192 ก้อน/ตู้ เนื่องจากยางอัดก้อนมีรูปทรงสวยงามได้มาตรฐาน ทำให้การบรรจุสินค้าทำได้ง่าย สะดวก เป็นที่พึงพอใจ ช่วยประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายในการขึ้นยางได้กว่า 6.25 % ทั้งยังสามารถลดต้นทุนค่าขนส่งไปยังตลาดปลายทางได้ค่อนข้างมาก

ขณะนี้มีโรงอัดก้อนยางหลายแห่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ เตรียมความพร้อมเพื่อขอรับรองมาตรฐาน GMP ในปี 2556-2557 นี้ คาดว่า จะมีโรงอัดก้อนยางได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP เพิ่มอีกอย่างน้อย 7 โรงงาน ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าได้มากกว่า 100 ล้านบาท อนาคตสถาบันวิจัยยางได้มีแผนขยายผลและผลักดันโรงอัดก้อนยางเข้าสู่มาตรฐาน GMP เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“การพัฒนาโรงอัดก้อนยางให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมยางพาราไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยเฉพาะการที่ไทยต้องก้าวเข้าสู่เวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี (AEC) ในอนาคตอันใกล้นี้ ระบบมาตรฐาน GMP จะช่วยเสริมจุดแข็งให้กับสินค้ายางพาราไทยให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น ทั้งยังช่วยให้สถาบันเกษตรมีความเข้มแข็ง สามารถดำเนินธุรกิจได้เอง และช่วยเพิ่มศักยภาพการส่งออกยางไปต่างประเทศได้อีกด้วย” นางปรีดิ์เปรม กล่าว

จรัส พิบูลย์ปุญญโชติ/ เรื่อง-ภาพ

 

วันที่ 21/06/2556 เวลา 8:34 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

766

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน