ปั้นเอสเอ็มอีไทยผงาด AEC

กสอ.ดัน 3 โปรเจกต์เตรียมพร้อมผู้ประกอบการ



กสอ.เปิดยุทธศาสตร์บันได 4 ขั้น อัดฉีด 8 อุตสาหกรรมหลักของประเทศสู้ AEC นับเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้และการจ้างงานของประเทศ พร้อมตั้งเป้าสิ้นปี 56 ส่งเสริมกว่า 7 พันกิจการ ขณะที่เตรียมดัน 3 โปรเจกต์ยักษ์ปั้นไทยผงาดใน AEC

กสอ.ชู 4 บันไดติวผู้ประกอบการ

นายโสภณ ผลประสิทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมในปัจจุบันต้องใช้ทักษะและใช้ความรู้ความสามารถมากกว่าในอดีต เนื่องจากการแข่งขันและการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้สามารถมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมผู้ประกอบการอย่างบูรณการผ่านบันได 4 ขั้นอัน ได้แก่

บันไดขั้นที่ 1 คือ การสนับสนุนปัจจัยเอื้อต่อการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม ทั้งด้านแหล่งข้อมูล แหล่งเงินทุน รวมถึงการให้บริการทดสอบสินค้าให้กับผู้ประกอบการ SMEs ตลอดจนการสร้างที่ปรึกษาเพื่อให้บริการปรึกษาแนะนำในสถานประกอบการต่างๆ ทั้งด้านการจัดการ การเงินการบัญชี การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการจัดการพลังงาน เป็นต้น

บันไดขั้นที่ 2 คือ การพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ทั้งผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่ โดยโครงการที่กรมฯ ได้จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่ได้แก่ โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ หรือ NEC เป็นโครงการที่พัฒนาและสร้างผู้ประกอบการใหม่ซึ่งผู้ที่จบหลักสูตรนี้จะได้รับความรู้ในการดำเนินธุรกิจรอบด้านจนสามารถจัดตั้งธุรกิจได้ รวมทั้งสามารถเขียนแผนธุรกิจของตัวเองเพื่อเสนอให้กับสถาบันการเงินสำหรับการขอรับเงินทุนสนับสนุน

บันไดขั้นที่ 3 คือ การพัฒนาประสิทธิภาพองค์กร ทั้งการพัฒนาตัวโรงงาน ธุรกิจ หรือบริษัทให้แข็งแกร่งมากขึ้น ด้วยการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรพัฒนากระบวนการผลิตพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการบริหารที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาการจัดการองค์ความรู้ด้านอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มคุณภาพในการผลิต โดยเฉพาะการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ อาทิ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน (Manufacturing Development to Improve Competitiveness Programme : MDICP) ที่จะช่วยเพิ่มผลิตภาพให้กับสถานประกอบการมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงมากยิ่งขึ้น

บันไดขั้นที่ 4 คือ การทำให้ผู้ประกอบการและบริษัทแข่งขันในเวทีสากลได้ โดยเฉพาะในเวทีอาเซียน โดยกรมฯ ได้มุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของวิสาหกิจเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมถึงส่งเสริมการเชื่อมโยงธุรกิจในกลุ่มประเทศอาเซียน ผ่านโครงการและหน่วยงานภายใต้ กรมฯ ที่กระจายครอบคลุมทั่วประเทศ โดยแต่ละโครงการทางกรมฯ จะมีการจัดอบรมสัมมนา ให้คำปรึกษาแนะนำ รวมถึงการนำผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจมาให้คำปรึกษาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นอกจากนี้ยังมีการพาผู้ประกอบการไปศึกษาดูงานและการจับคู่ธุรกิจกับนักลงทุนเพื่อนบ้านเพื่อการต่อยอดธุรกิจต่อไป

ดัน 8 กลุ่มอุตสาหกรรมแข่งอาเซียน

นายโสภณ กล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับอุตสาหกรรมทั้ง 8 กลุ่ม พร้อมกลยุทธ์ที่ กสอ.ได้สนับสนุนดังนี้ 1.กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปได้ส่งเสริมการรวมกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อร่วมทุนขยายฐานการผลิตในประเทศ AEC พร้อมสนับสนุนเชิงนโยบายและแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนแข่งขันกับคู่แข่งได้ในระดับโลก เช่น Food Valley ในเนเธอร์แลนด์ หรือ Food City ในเกาหลี เป็นต้น และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมการผลิตของผู้ประกอบการ 2.กลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับโดยสนับสนุนการนำเทคโนโลยีการออกแบบ การผลิต และการนำเสนอขั้นสูงมาใช้ ตลอดจนประสานรัฐรวมกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยสร้างเรื่องราวของอัญมณีในแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญๆ ในระดับสากล 3.กลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน ได้สนับสนุนการพัฒนาโซ่อุปทาน (Supply Chain) และโลจิสติกส์กลุ่มเชิงยุทธศาสตร์ใน AEC เพื่อสร้างคุณค่าเพิ่ม (CreateValueAdded) และสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อรับงานจากประเทศอื่นนอกจากอาเซียน

ทั้งนี้ 4.กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งทางกรมฯ ได้นำระบบโซ่อุปทาน (SupplyChain) และโลจิสติกส์เข้ามาลดต้นทุนอุตสาหกรรมสิ่งทอและเชื่อมโยงผู้ประกอบการรายย่อยกับรายใหญ่ 5.กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งช่วยดูแลในการผลิตบุคลากรด้านเทคนิคและวิศวกรรมให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมและส่งเสริมการบริหารโซ่อุปทาน (Supply Chain) และโลจิสติกส์ เพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับผู้บริโภค 6.กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน โดยมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านโดย BOI เพื่อพัฒนาตลาด REM ก่อนและผลักดันมาตรฐานกลางสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ 7.กลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง โดยการสร้างฐานข้อมูลผู้ประกอบการในประเทศเพื่อนบ้าน สร้างปัจจัยเอื้อในการจับมือสร้างคุณค่าเพิ่มในระบบและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม เช่น การพัฒนาหนังแท้ หนังเทียม เพื่อให้ได้ทั้งคุณภาพและความหลากหลาย อีกทั้งจัดทำมาตรฐานป้องกันสินค้าเลียนแบบ และอันดับ 8.กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม โดยสร้างมาตรฐานอาหารไทยและการรับรองคุณภาพในตลาดต่างประเทศพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เพื่อลดต้นทุนผู้ประกอบการและสร้างตราสินค้าเพื่อขยายตลาดและป้องกันสินค้าด้อยคุณภาพ

ตั้งเป้าสิ้นปี 56 กว่า 7 พันกิจการ

โดยปัจจุบัน 8 กลุ่มอุตสาหกรรมนับเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้และการจ้างงานของประเทศ อย่างไรก็ตามในไตรมาสที่ 1-2 ปี 2556 กสอ.ได้ส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวผ่านโครงการกว่า 40 โครงการ โดยคาดว่าไตรมาสที่ 4 กสอ.จะสามารถส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ประกอบการได้ไม่ต่ำกว่า 7,000 กิจการทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถปรับตัวและพัฒนาตนเองให้สามารถแข่งขันได้ในอนาคต

นอกเหนือจากนโยบายที่มุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมทั้ง 8 นี้แล้วภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2556 ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมยังมี 3 โครงการที่เร่งผลักดัน ได้แก่ 1.โครงการกรุงเทพเมืองแฟชั่น ที่จะผลักดันให้วงการธุรกิจผ้าไทยส่งออกได้ไกลไปทั่วโลก จากความสำเร็จของโครงการเมื่อปี 2548 ที่ช่วยให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางแฟชั่นและศูนย์กลางธุรกิจแฟชั่นในอาเซียน โดยคาดการณ์ว่าจะได้รับการจัดสรรงบประมาณต่อเนื่องอีก 160 ล้านบาทในการดำเนินการในปี 2557 2.โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปครบวงจร (Thailand Food Valley) เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยกระดับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารให้สามารถแข่งขันเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียน (AEC) 3.โครงการห่วงโซ่สีเขียวอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป (GAPI) เป็นโครงการที่จะช่วยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปประหยัดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ลดของเสีย รวมถึงช่วยยกระดับการค้าเป็นธุรกิจให้เข้าสู่มาตรฐานสากล

“ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปี ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้อุตสาหกรรมไทยสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด และแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างทัดเทียม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของกิจการต่างๆ ในทุกประเภทอุตสาหกรรม เสมือนเป็น “เพื่อนคู่คิด” ที่พร้อมให้คำปรึกษาและแนะนำแก่ผู้ประกอบการทุกราย ผ่านโครงการอันเป็นประโยชน์กว่า 40 โครงการด้วยกันที่ครอบคลุมการดำเนินงาน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมเกิดศักยภาพและสามารถพัฒนาธุรกิจต่อไปได้อย่างมั่นคง” นายโสภณ กล่าวสรุป

กสอ.ของบ 7.5 พัน ล.ช่วยเอสเอ็มอี

นายโสภณ กล่าวว่า ขณะนี้ กสอ.อยู่ระหว่างทำข้อมูลขออนุมัติวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบค่าแรง 300 บาท เฟส 2 วงเงิน 7,500 ล้านบาทต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเบื้องต้นมีเอสเอ็มอีลงชื่อเข้ามาแล้วหลายร้อยราย หลังจากเฟสแรก 7,500 ล้านบาท กสอ.ได้ช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ลงชื่อแล้วจำนวน 3,000 ราย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนเอสเอ็มอีอยู่ที่ 2.6 แสนราย โดยกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่มีจำนวน 6 พันราย ที่เหลือกว่า 90% เป็นรายเล็กทั้งสิ้น และไม่สามารถปรับตัวจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศของรัฐบาลและค่าเงินบาทที่แข็งค่าในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ยอมรับว่าเอสเอ็มอีลงชื่อน้อย ทำให้คาดการณ์ผลกระทบใน 2 ลักษณะ คือได้รับผลกระทบจากค่าแรง 300 บาท ซึ่งเชื่อว่ามีการปรับตัวทันจึงได้รับผลกระทบน้อย และอีกกลุ่มคือไม่ทราบข้อมูล ดังนั้นจะรอดูผลการลงชื่อสินเชื่อเฟส 2 ว่าจะมีเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นหรือไม่

วันที่ 17/06/2556 เวลา 10:28 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

302

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน