ถั่วลิสง…พืชเศรษฐกิจความหวังใหม่ ในท่ามกลางวิกฤติแล้ง…ฝนทิ้งช่วง

กับท่าทีของส่วนราชการ เอกชน อปท. สถานศึกษา จะขานรับ?…ผลักดัน?… ผ่าทางตันปัญหาว่างงาน…สร้างงาน สร้างรายได้-หรือไม่?

จากการที่พื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ประสบภาวะฝนทิ้งช่วงมายาวนานกว่า 10 เดือน ส่งผลกระทบถึงพืชสวนพืชไร่ ที่ต้องเหี่ยวเฉาแห้งตาย ผลผลิตตกต่ำ เนื่องจากขาดแคลนน้ำหล่อเลี้ยง แหล่งน้ำทั่วไปทั้งน้ำบนดินและใต้ดิน ก็ได้แห้งขอด ขาดแคลน ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในด้านน้ำกินน้ำใช้ หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้อีกต่อไป ย่อมส่งผลกระทบในระยะยาว ทั้งด้านความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพ

นายสำนัก กายาผาด เกษตรและสหกรณ์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปี 2555 ต่อเนื่องถึงปี 2556 นับว่ารุนแรงสุดในรอบ 45 ปี ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมกับส่วนราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ในการวางแผน เตรียมรับมืออย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ได้ยึดแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ และแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ใช้ ทั้งในส่วนของการให้ความรู้ด้านการปรับสภาพดิน การพักดิน และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการประกอบอาชีพ เน้นปลูกพืชชนิดที่ทนแล้ง ใช้น้ำน้อย ลดทุน ลดการใช้สารเคมี เพื่อนำไปสู่การสร้างรายได้ที่ยั่งยืน และได้ผลผลิตที่ปลอดภัย

“แนวทางที่กำหนดไว้ คือส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ ให้มีการไถกลบตอซังข้าว วัชพืช ใช้ปุ๋ยคอก หว่านพืชตระกูลถั่ว ที่จะเป็นการฟื้นฟูสภาพดิน และรักษาความชุ่มชื้นให้กับดิน ด้านพืชเศรษฐกิจหลักยังเป็นข้าว อ้อย ยางพารา มันสำปะหลัง แต่ที่ผ่านมาประสบปัญหาภัยแล้ง ผลผลิตตกต่ำ ขณะที่พืชทางเลือกที่มองไว้คือปาล์ม แต่ก็อยู่ในช่วงการเตรียมการ ดูทิศทางความเป็นไปได้ ดูความต้องการของเกษตรกร เพราะพืชชนิดนี้ต้องใช้ระยะเวลายาวนานหลายปีกว่าจะได้เก็บผลผลิต ส่วนพืชเศรษฐกิจที่เหมาะสำหรับเพาะปลูกในช่วงวิกฤติภัยแล้ง ที่จะเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ แก้ปัญหาว่างงานได้ผลคือถั่วลิสง ซึ่งอายุสั้น ทนต่อสภาพความแห้งแล้ง ต้านทานโรคและศัตรูรบกวน ที่สำคัญต้นทุนผลิตต่ำ ได้ผลผลิตต่อไร่สูง มีตลาดรับซื้อและประกันราคาแน่นอน จึงควรจะให้การส่งเสริม เพราะในอดีตเกษตรกรชาว จ.กาฬสินธุ์เคยปลูกถั่วลิสงกันมาก แต่พื้นที่ลดหายไปเพราะหันไปปลูกข้าวนาปรัง เชื่อว่าในอนาคตถั่วลิสงน่าจะกลับมาครองตลาดได้อีก”

ด้านนายสมศักดิ์ บัวอร่ามวิไล ผจก.บริษัท ไทยพีนัทซัพพลาย (1991) จำกัด หรือโรงถั่วสมศักดิ์ กล่าวว่า ถั่วลิสงเป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย ปลูกง่าย ดูแลง่าย เก็บเกี่ยวง่าย บริษัทฯ มีเมล็ดพันธุ์จำหน่ายในราคาเป็นกันเอง และมีการประกันราคาที่รับซื้อ ให้ความมั่นใจกับเกษตรกร โดยถั่วสดรับซื้อตันละ 15,000 บาทขึ้นไป และถั่วแห้ง ตันละ 22,000-30,000 บาท สามารถปลูกได้ทั่วไปตามที่สวน ที่ไร่ ที่นา

“วิธีปลูก ให้ปลูกในร่องที่เตรียมไว้ ระยะห่างระหว่างหลุม 25 ซม. หลุมละ 3 เมล็ด ระหว่างแถวห่าง 30 ซม. อายุ 7-10 วันให้น้ำต่อครั้ง หรือขึ้นอยู่กับสภาพความชุ่มชื้นของพื้นที่ปลูก อายุ 115-120 วัน เก็บเกี่ยวได้ ก็จะได้น้ำหนักดี เวลาตากจะแห้งเร็ว เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จ บริษัทฯ มีเครื่องคัดแยกหรือเครื่องปลิดเมล็ดถั่วลิสงที่มีประสิทธิภาพ ปลิดได้ทั้งเมล็ดถั่วสดและแห้งจากลำต้น พร้อมคัดแยกสิ่งเจือปนไว้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด”

ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกและส่งเสริมเกษตรกร ให้มีอาชีพและรายได้ เป็นการแก้ไขปัญหาว่างงานในช่วงที่ฝนทิ้งช่วง จึงมีนโยบายที่จะให้ความร่วมมือกับส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานศึกษาที่สนใจปลูกถั่วลิสง ทั้งในส่วนของการให้ความรู้ ขั้นตอนการเพาะปลูก การดูแล จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ บริการปลิดเมล็ด และรับซื้อผลผลิตในราคาสูง

“ถั่วลิสงเป็นที่ต้องการของตลาดโลก หากบ้านเราปลูกถั่วลิสงได้ผล มีกำไร เกษตรกรมีรายได้ ไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ก็จะเป็นจุดแข็งอีกด้าน กับการที่เรามีของดี มีถั่วลิสงเป็นผลิตภัณฑ์ภาคการเกษตร ในการเตรียมความพร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า…”

ขณะที่ ด.ต.สมคิด นันทสมบูรณ์ นายกเทศมนตรีตำบลลำพาน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เดิมทีชาวบ้านเคยปลูกถั่วลิสงเป็นอาชีพเสริม แต่ประสบปัญหาความยุ่งยากในการปลิดเมล็ดถั่ว จึงหันไปปลูกข้าวนาปรังกันมาก พื้นที่ปลูกถั่วลิสงจึงลดจำนวนลง แต่เมื่อประสบปัญหาภัยแล้ง ไม่สามารถปลูกข้าวนาปรัง หรืออาจจะเกี่ยวเนื่องไปถึงข้าวนาปี ประกอบกับที่โรงถั่วสมศักดิ์ ได้ออกมาเชิญชวนปลูกถั่วลิสง และมีเครื่องปลิดถั่วลิสงบริการ เชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากชาวบ้าน หันมาปลูกถั่วลิสงทดแทนการปลูกพืชชนิดอื่นกันมากขึ้น เพราะการปลูกถั่วลิสงได้ผลผลิตสูง กำไรงาม และการปลิดเมล็ดถั่วลิสงก็จะไม่มีปัญหาอีกต่อไป

นายสุปัน บุญมาพล นายก อบต.พิมูล อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า อบต.พิมูล เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน อาศัยน้ำจากน้ำฝนในการทำนา ไร่อ้อย มันสำปะหลัง และปลูกถั่วสิสงจำหน่ายในชุมชนบ้าง แต่เนื่องจากภัยแล้งรุนแรง พืชผลแห้งตาย ชาวบ้านประสบปัญหาขาดทุน ขณะที่พื้นที่ที่ปลูกถั่วลิสงกลับไม่กระทบ จึงได้ให้การสนับสนุน ให้มีการขยายพื้นที่ปลูกถั่วลิสงกันมากๆ เนื่องจากปลูกง่าย ดูแลง่าย เก็บเกี่ยวได้ผลผลิตเร็ว มีการประกันราคาแน่นอน โดยเฉพาะทางโรงถั่วมีเครื่องปลิดเมล็ดถั่วอำนวยความสะดวกด้วย เชื่อว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้ดีกว่าที่ผ่านมา

ด้านนายสมพงษ์ แสนบุตร ผอ.วิทยาลัยการอาชีพหนองกุงศรี อ.หนองกุงศรี กล่าวว่า ปีการศึกษาที่ผ่านมา วิทยาลัยฯได้จัดทำโครงการแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง โดยนำพานักศึกษาหันมาปลูกพืชผักสวนครัวและพืชสวนพืชไร่หลายประเภท เช่น ข้าว อ้อย ข้าวโพด มะเขือ ถั่วฝักยาว แต่ประสบปัญหาภัยแล้ง ไม่ได้ผลเท่าที่ควร พอทราบแนวทางของโรงถั่วสมศักดิ์ จึงมีความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะใช้พื้นที่ประมาณ 2 ไร่ ในการปลูกถั่วลิสง ทั้งนี้ เพื่อให้นักศึกษาได้มีแหล่งฝึกฝนเรียนรู้ นำไปขยายผลให้กับผู้ปกครองและชุมชน นอกจากนี้ผลผลิตที่จำหน่ายได้ ยังจะเป็นกองทุนอาหารกลางวัน และทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาด้วย หากประสพผลสำเร็จ ก็จะเพิ่มพื้นที่ปลูกมากขึ้น

ความคาดหวังคงไม่เกินความจริง หากจะมองข้ามช็อตไปถึงว่า…ถ้าส่วนราชการ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ดี หรือสถานศึกษาก็ตาม หากจับมือกับเอกชนนำพาบุคลากร ชาวบ้าน ครู นักเรียน หันมาปลูกถั่วลิสงกันอย่างจริงจัง ก็จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการผ่าทางตันปัญหาว่างงาน หรือไม่เสียโอกาสประกอบอาชีพจากภาวะฝนแล้ง ก็จะนำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แม้อยู่ในท่ามกลางความแห้งแล้ง แต่ก็สามารถก้าวผ่านวิกฤติได้ด้วยดี อย่างที่เรียกว่า…ถั่วลิสงกอบกู้สถานการณ์ภัยแล้ง และคงไม่เวอร์เกินเลย หากจะเอ่ยว่า…ถั่วลิสงช่วยชาติ! จะรอดูวันนั้น…วันที่ถั่วลิสงจะกลับมาเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก แก้วิกฤติแล้งให้กับชาว จ.กาฬสินธุ์!!

ชมพิศ ปิ่นเมือง/กาฬสินธุ์

 

วันที่ 16/06/2556 เวลา 11:45 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

780

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน