ข่าวดี! ค่าไฟงวดใหม่จ่อลด
กกพ. เผยราคาเชื้อเพลิงลดลง ส่งผลให้ค่าไฟงวด ก.ย.-ธ.ค. จะลดลงประมาณ 4-5 สต./หน่วย ด้าน สน.พ.เร่งผลักดันพลังงานทดแทนตามแผน AEDP เสริมความมั่นคงด้านพลังงาน
นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ค่าไฟฟ้างวดเดือนกันยายน-ธันวาคมนี้ จะปรับลดลงในอัตราใกล้เคียงกับงวดนี้ คือ 4-5 สตางค์ต่อหน่วย หลังราคาเชื้อเพลิง คือ ก๊าซธรรมชาติที่ใช้ราคาเทียบเคียงน้ำมันเตาย้อนหลัง 6-12 เดือนปรับลดลง แม้เงินบาทจะอ่อนค่าแต่จะไม่มีผลต่อต้นทุนมากนัก
ในส่วนต้นทุนการซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียที่เพิ่มขึ้น 13 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหาไฟฟ้าดับในภาคใต้เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา จะนำมารวมอยู่ในต้นทุนค่าเอฟที เพราะผลสอบของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพบว่าเป็นเหตุสุดวิสัย ไม่ได้เกิดจากผลกระทบการทำงานที่ผิดพลาดของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ดร.พัลลภา เรืองรอง กรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดเผยว่า การวางแผนจัดการพลังงานที่ดีนำมาสู่ความมั่นคงด้านพลังงาน โดยมุ่งเน้นการใช้พลังงานหมุนเวียนแทนพลังงานฟอสซิลที่อาจจะหมดไปได้ในอนาคต และปรับการใช้พลังงานฟอสซิลเป็นสินค้าสร้างรายได้ให้กับประเทศแทน แต่สำหรับประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีทรัพยากรด้านพลังงานไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งยังต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ และยังคงมีการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้ากว่า 70% จึงนับเป็นความเสี่ยงด้านวิกฤติพลังงาน ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์หยุดซ่อมบำรุงท่อส่งก๊าซยาดานาในประเทศพม่า ซึ่งเกือบจะทำให้เกิดปัญหาวิกฤติไฟฟ้าในช่วงกลางเดือนเมษายน 2556 ที่ผ่านมา เป็นต้น
นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สน.พ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานมีการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและพลังงานชนิดอื่น ช่วยกระจายความเสี่ยงในการจัดหาเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตไฟฟ้า และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้คาดในปี 2564 ความต้องการพลังงานในอนาคตของประเทศ จะเพิ่มขึ้น 99,838 ktoe จากปัจจุบัน 71,728 ktoe โดยแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี (พ.ศ.2555-2564) หรือแผน AEDP กำหนดให้มีสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 7,413 ktoe เพิ่มเป็น 25,000 ktoe ในปี 2564 หรือคิดเป็น 25% ของการใช้พลังงานรวม
ในส่วนการส่งเสริมการผลิตและการใช้ก๊าซชีวภาพ โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนอย่างกว้างขวาง ด้วยการสนับสนุนการผลิตก๊าซชีวภาพในระดับครัวเรือน การส่งเสริมให้งานวิจัยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนแบบครบวงจร อาทิ วิจัยและพัฒนาผลิตก๊าซชีวภาพจากของเสียผสม (Co-Digestion) โดยเฉพาะการนำชีวมวลบางประเภทหรือพืชพลังงาน มาหมักผสมกับมูลสัตว์ พัฒนาการใช้ก๊าซชีวภาพเพื่อการคมนาคมขนส่ง (CBG) ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าหมายในปี 2564 ที่จะผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้าให้ได้ 600 เมกะวัตต์ และเป้าหมายสำหรับผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้ในด้านความร้อน เช่น แทนก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) แทนก๊าซหุงต้ม (LPG) รวมถึงทดแทนน้ำมันเตาและถ่านหิน ให้ได้ 1,000 ktoe
ด้านนายผจญ ศรีบุญเรือง เจ้าหน้าที่ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไทย ไบโอแก๊ซ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (TBEC) เปิดเผยว่า บริษัทฯ เข้าร่วมโครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ ตั้งแต่ปี 2551 โดยได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 10 ล้านบาท เพื่อนำน้ำเสียจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ โดยปัจจุบันระบบดังกล่าวสามารถรองรับน้ำเสียได้วันละประมาณ 23,334 ลบ.ม. หรือปีละประมาณ 7 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งนำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 14.6 ล้านหน่วย จำหน่ายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
“บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีผลดีคือ นำไปผลิตกระแสไฟฟ้า สร้างความมั่นคงให้กับระบบพลังงานไฟฟ้าแล้ว ยังช่วยให้ระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดกลิ่นเหม็นจากระบบบำบัดน้ำเสียเดิมของโรงงาน เพิ่มคุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตชุมชนโดยรอบ และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย ทั้งนี้ โครงการก๊าซชีวภาพของบริษัทฯ สาขาท่าฉางนี้ ได้รับรางวัลชนะเลิศ ASEAN Energy Awards 2010 (2553) ในระดับภูมิภาคอาเซียนจากด้านโครงการพลังงานหมุนเวียนดีเด่น ประเภทพลังงานหมุนเวียนที่เชื่อมโยงกับระบบสายส่ง (Best Biogas Project in Asia Selling Electricity to the Grid)” นายผจญ กล่าว
วันที่ 17/06/2556 เวลา 9:27 น.