กัมพูชา (5-13 มิ.ย. 56)
ชาวกัมพูชาเรือนหมื่นประท้วงผู้นำฝ่ายค้าน
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่กรุงพนมเปญ ชาวกัมพูชาไม่ต่ำกว่า 10,000 คนได้ออกมาชุมนุมประท้วงต่อข้อคิดเห็นของผู้นำฝ่ายค้าน ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงที่เขมรแดงปกครองประเทศ
เหตุการณ์ประท้วงดังกล่าวสืบเนื่องจากข้อความในบันทึกที่เผยแพร่ในบนเว็บไซต์ของรัฐบาลเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งระบุว่า นายเขม โสขา (Kem Sokha) รักษาการแทนประธานพรรคกู้ชาติกัมพูชา (Cambodia National Rescue Party: CNRP) ได้กล่าวว่า เรือนจำตวล สเลงในกรุงพนมเปญ เป็นการจัดฉากโดยทหารเวียดนามที่เข้าขับไล่เขมรแดงในปี 1979
อย่างไรก็ดี พรรค CNRP ได้กล่าวว่า คำกล่าวของรองประธานพรรคนั้นถูกปรับเปลี่ยนเพื่อสร้าง “ปัญหาทางการเมือง” ก่อนการเลือกตั้งวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ เมื่อนายกรัฐมนตรีฮุนเซน กำลังหาทางต่อเวลาอยู่ในอำนาจ
อนึ่ง เมื่อวันศุกร์ที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชาผ่านกฎหมายให้สามารถดำเนินคดีแก่ผู้ที่ปฏิเสธเหตุการณ์รุนแรงที่ก่อขึ้นโดยกลุ่มเขมรแดงและจะมีบทลงโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปีหรือปรับประมาณ 30,000 บาท
แหล่งที่มา : aljazeera.com,bangkokbiznews.com, manager.co.th
ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านการพัฒนาพื้นที่ชายแดนและการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมระหว่างไทยกับกัมพูชา ครั้งที่ 1
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย และนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ได้เป็นประธานร่วมในการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการพัฒนาพื้นที่ชายแดนและการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมระหว่างไทยกับกัมพูชา ครั้งที่ 1 ณ กรุงพนมเปญ ของกัมพูชา โดยที่ประชุมได้เห็นพ้องในประเด็นความร่วมมือสำคัญต่าง ๆ ดังนี้
(1) การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนไทย – กัมพูชา ในเบื้องต้นจะพิจารณาจัดตั้งใน 2 พื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงและเป็นช่องทางคมนาคมที่สำคัญได้แก่ (1) จังหวัดสระแก้ว – จังหวัดบันเตียเมียนเจย และ (๒) จังหวัดตราด – จังหวัดเกาะกง
(2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมโยง ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญลำดับต้นต่อการปรับปรุงเส้นเส้นทางหมายเลข 5 หมายเลข 6 และหมายเลข 48 และการพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อชายแดนไทย – กัมพูชา (อรัญประเทศ – ปอยเปต)
(3) การยกระดับจุดผ่านแดน ที่ประชุมเห็นพ้องในหลักการให้เร่งยกระดับจุดผ่อนปรน 3 จุด คือ 1) ช่องอานม้า จังหวัดอุบลราชธานี กับอานเซะหรือบ้านสะเตียลกวาง จังหวัดพระวิหาร 2) บ้านเขาดิน จังหวัดสระแก้ว กับพนมได จังหวัดพระตะบอง 3) บ้านท่าเส้น จังหวัดตราด กับบ้านทมอดา จังหวัดโพธิสัต และเห็นพ้องให้เปิดจุดผ่อนปรนทางการค้า 1 จุด คือ ช่องสายตะกู จังหวัดบุรีรัมย์ กับบ้านจุ๊บโกกี จังหวัดอุดรมีชัย
(4) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เน้นการให้การศึกษาทั้งในด้านวิชาการและทางวิชาชีพแก่ประชาชนในพื้นที่ชาย แดน และดำเนินโครงการพัฒนาชุมชน รวมทั้งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
(5) การสร้างงานและรายได้ให้กับประชาชน ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันในการส่งเสริมการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ รวมทั้งขจัดหรือลดข้อจำกัดต่าง ๆ ทางการค้า
นอกจากนี้ ประธานร่วมของทั้งสองฝ่ายยังได้หารือกันและลงนามความร่วมมือในการส่งเสริม การทำการเกษตรแบบมีสัญญา (Contract Farming) เพื่อเป็นหลักประกันให้ผู้ประกอบการทางการเกษตรเกิดความมั่นใจในการไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน
แหล่งที่มา: www.mfa.go.th