อาเซียนต้องรวมกัน
หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามารับบทดูแลความสงบเรียบร้อย และคืนความสงบให้กับประเทศ แม้จะได้ดำเนินการสะสางปัญหาของงานราชการแผ่นดินจนผลงานเป็นที่ยอมรับจากประชาชน ทั้งการดำเนินการอย่างจริงจังกับผู้กระทำความผิดต่อรัฐ และการสะสางปมปัญหาเรื่องการชำระเงินจำนำข้าวให้แก่เกษตรกร
อย่างไรก็ตาม ในฝั่งของผู้ที่เสียผลประโยชน์ หรือผู้ที่อาจมีความไม่มั่นใจต่อการบริหารราชการแผ่นดินภายใต้การนำของกองทัพว่าจะสามารถส่งผลดีให้แก่กลุ่มของตนหรือไม่ก็เริ่มออกมาเคลื่อนไหว ซึ่งภายใต้สถานการณ์ที่ คสช.มีอำนาจเต็ม การคัดค้านภายในประเทศย่อมถูกควบคุมได้
อย่างไรก็ตาม ในเวทีนานาชาติ ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจแห่งรัฐ การควบคุมการต่อต้านจากผู้เสียผลประโยชน์กลับเป็นโจทย์ที่ยากขึ้นทุกที เนื่องจากหมากเกมนี้มีเดิมพันคือผลประโยชน์แห่งรัฐ ซึ่งก็คงไม่มีการรามืออย่างง่ายๆ เมื่อ การแปลงโครงสร้างอำนาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงในการกระจายผลประโยชน์ของกลุ่มต่างประเทศที่มีผลประโยชน์ผูกติดอยู่กับประเทศไทย เขาย่อมได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อยใน 3 ด้าน
ด้านแรก ผลกระทบในเชิงสัญลักษณ์ เนื่องจากประเทศไทยมีการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งให้เสรีภาพแก่ประชาชน เมื่อมีการเปลี่ยนอำนาจโดยไม่ผ่านกระบวนการประชาธิปไตย ประเทศมหาอำนาจทางตะวันตกผู้ซึ่งยืนยันและมีพันธะสัญญาในการส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยจึงอยู่เฉยไม่ได้ เพราะฉะนั้นเท่ากับการรับรองว่าการเปลี่ยนผู้บริหารอำนาจด้วยกระบวนการนี้เป็นสิ่งที่ประเทศตะวันตกยอมรับได้ และนั้นก็หมายถึงประเทศต่างๆ ก็ไม่สามารถปกป้องเสรีภาพตลอดจนผลประโยชน์ของประชาชนในประเทศไทยได้ หากสิ่งนี้เกิดขึ้นก็จะไปกร่อนอุดมการณ์ของรัฐบาลในประเทศตะวันตก นัยว่าถ้าไม่มีท่าทีคัดค้านก็เท่ากับรัฐบาลไม่ยึดมั่นต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
ด้านที่สอง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจของโลก เนื่องจากไทยตั้งอยู่ใกล้กับจีนมหาอำนาจในทางเศรษฐกิจและการทหารของภูมิภาคนี้ การแสดงออกซึ่งท่าทีสนับสนุนการเข้ามาของ คสช.ครั้งนี้อาจเป็นเหตุให้ไทยถูกผลักไปมีความใกล้ชิดทางการทหารกับประเทศจีน ซึ่งอาจเป็นผลให้ดุลอำนาจของประเทศตะวันตกมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ ดังนั้นก่อนเหตุการณ์จะสายเกินแก้ ประเทศตะวันตกจึงมีความพยายามในการกดดันให้ประเทศไทยเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยโดยเร็ว ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การออกแถลงการณ์ของสหภาพยุโรปซึ่งประณามการยึดอำนาจในประเทศไทยพร้อมทั้งยื่นข้อเสนอให้ประเทศไทยเข้าสู่ประชาธิปไตยในเร็ววัน ไม่เช่นนั้นสหภาพยุโรปจะนำมาตรการแทรกแซงมาใช้ตั้งแต่ การทบทวนการทำงานและการระงับการเยือนประเทศไทยไว้ก่อน และมาตรการอื่นตามความเหมาะสม จะว่าไปเรื่องนี้เกี่ยวข้องอย่างมากกับเรื่องเศรษฐกิจซึ่งจะได้กล่าวในลำดับถัดไป
ด้านที่สาม ด้านเศรษฐกิจและการค้า นับว่าเป็นมิติที่ก่อให้เกิดผลกระทบสูงเนื่องจากเศรษฐกิจและการค้าเกี่ยวข้องโดยตรงและจับต้องได้ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการบริหาราชการแผ่นดินและมีการส่งสัญญาณว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าและการลงทุนที่อาจส่งผลต่อการลงทุนของต่างประเทศ เช่น กระแสของการเรียกร้องให้มีการทบทวนนโยบายด้านพลังงาน ที่แต่เดิมมีข้อท้วงติงจากสาธารณะชนว่าเป็นนโยบายที่ไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรของชาติ เป็นนโยบายที่เอื้อต่อนักลงทุนมากเกินควร ในขณะที่เจ้าของประเทศกลับต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสูงกว่าที่ควรจะเป็น นโยบายประเภทจัดสรรทรัพยากรใหม่ ทำให้ประเทศมหาอำนาจเกิดความกังวล จึงต้องการสร้างมาตรการต่อรอง ด้วยการกดดันผ่านมาตรการต่างๆ มาเป็นชุดๆ
เริ่มจากสหรัฐอเมริกาประกาศลดระดับประเทศไทยในเรื่องการค้ามนุษย์ และอาจนำไปสู่มาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งเชื่อว่าอาจเป็นการสร้างอำนาจในการต่อรอง ตามมาด้วยการประณามการรัฐประหารของสหภาพยุโรปที่อาจนำไปสู่การต่อรองทางการค้าเช่นกัน เพราะไทยเป็นประเทศที่เป็นประตูสู่อาเซียน หากนโยบายของไทยไม่เอื้อให้การค้าและการลงทุนของประเทศมหาอำนาจตะวันตก สามารถก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจและดุลอำนาจในระยะยาว
แม้มาตรการกดดันของมหาอำนาจจะถูกให้กับประเทศต่างๆ มานาน เพื่อส่งสัญญาณให้ประเทศอื่นต้องปรับนโยบายของตน และที่ผ่านมาประเทศไทยก็เป็นอีกประเทศที่มักต้องยอมตาม เพราะเราต้องพึ่งพาการส่งออกและกำลังซื้อจากประเทศเหล่านั้น แต่วันนี้ประเทศไทยควรจะเดินซ้ำรอยประวัติศาสตร์อีกหรือไม่
ประชาคมอาเซียนเป็นกลไกที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อลดแรงกดดันจากประเทศมหาอำนาจและสร้างอำนาจต่อรองเพิ่ม เพราะอาเซียนจะเป็นตลาดเดียวที่มีประชากรถึง 600 คน เมื่อรวมตัวกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้จะมีประชากรถึง 1 ใน 3 ของโลก เมื่อรวมกับอินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เราจะกลายเป็นกลุ่มประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก แปลว่าในวันนี้เรามีกลไกการต่อรองกับประเทศต่างๆ อยู่แล้ว ดังนั้นการปล่อยให้มหาอำนาจตะวันตกออกมาตรการกดดันฝ่ายเดียวอาจเป็นการละเลยเป้าหมายของอาเซียน
นี่คือเหตุผลว่าการสร้างอำนาจการต่อรองกับมหาอำนาจเราจึงควรที่จะคุยกับประเทศอาเซียนและพันธมิตรของเราให้มาก เพราะอีกเพียงปีเดียว เมื่อเราเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เราจะสามารถพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น และเราไม่ต้องพึ่งพาตลาดอเมริกาและยุโรปมากเหมือนที่ผ่านมา ทั้งอเมริกาและยุโรปก็จะต้องทบทวนมาตรการต่างๆ ต่อประเทศไทย เพราะถ้าจะค้าขายกับเราก็ต้องไม่เอาเปรียบกัน รวมกันเข้าไว้อาเซียน
ดร.สืบวงศ์ กาฬวงศ์
วันที่ 30/06/2557 เวลา 10:04 น.