ฉุน!ข่าวล้ม ‘ปู’ คสช. ปัดจับมือ ‘เทือก’ สะพัด รธน.ชั่วคราวเสร็จ

หึ่งจ่อตัดทิ้งทำประชามติ บก.ลายจุดซีดนอนคุกต่อหมายจับอีก 28 ฝืน คำสั่ง

“บิ๊กตู่” ฉุนกำนันสุเทพปูดคุยลับวางแผนโค่นล้มระบอบทักษิณ ตั้งแต่ปี 53 ยันไม่เคยคุยส่วนตัว หวั่นเสียบรรยากาศกำลังไปได้สวย ขณะที่ “คสช.” โอ่ผลงาน 1 เดือนสอบผ่าน ปลื้มผลงานคืนความสุขคนไทยฉลุย เตรียมโชว์ผลงานผ่านทีวี รายการ “เดินหน้าประเทศไทย” ศุกร์นี้ เผยโรดแม็พขั้น 2 ใกล้คลอด ตั้งสภาปฏิรูป-สภานิติบัญญัติ สะพัดร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวใกล้เสร็จแล้ว ก่อนตั้ง 35 อรหันต์ยกร่างฉบับใหม่ จ่อตัดทิ้งทำประชามติ “บก.ลายจุด” จ๋อยนอนคุกต่ออีก 12 วัน ศาลทหารไม่ให้ประกันตัว พร้อมอนุมัติหมายจับอีก 28 ผู้ต้องหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ไม่มารายงานตัว “จักรภพ-ใจ-โรส-ตั้ง” แก๊งหมิ่นสถาบันโดนถ้วนหน้า

“คสช.” เดินหน้าคืนความสุข

วันที่ 23 มิ.ย. ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มอบหมายให้ พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธานในการประชุมติดตามสถานการณ์และความคืบหน้าส่วนงานที่รับผิดชอบของ คสช.โดยในที่ประชุมได้มีการรายงานผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ยังคงมีการติดตามจับกุมผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธและกระสุนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งติดตามปัญหาการค้ามนุษย์เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ส่วนงานด้านความมั่นคง สังคมจิตวิทยา เศรษฐกิจ รวมทั้งฝ่ายงานด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเนื้อหาหลักๆ ได้กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปรองดองเพื่อความสมานฉันท์ โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการปรองดองครบทุกจังหวัด รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมปรองดองอย่างต่อเนื่อง พร้อมเตรียมแผนงานเสวนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานต่อไป

เตือนใช้ดุลพินิจจัดการกลุ่มต้าน

ทั้งนี้ในที่ประชุม พล.อ.อุดมเดช ยังกล่าวถึง กลุ่มที่ออกมาต่อต้านการทำงานของ คสช. ด้วยการนั่งกินแซนด์วิช อ่านหนังสือนั้น ทาง คสช.ได้ฝากให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องใช้ดุลพินิจ หามาตรการดำเนินการที่เหมาะสม โดยให้พิจารณาเป็นกรณีว่ามีความจำเป็นที่ต้องเข้าจับกุมทันทีหรือไม่ เพราะอยู่ท่ามกลางสาธารณชน หรือจะพิจารณาบันทึกภาพไว้ก่อนแล้วค่อยมาดำเนินการในภายหลัง แต่หากไม่ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ห่วงว่าสถานการณ์จะเกิดบานปลายลุกลามได้ จากนี้เป็นต้นไปหัวหน้า คสช.ได้มีการปรับรูปแบบการประชุมของ คสช. โดยกำหนดให้วันอังคารกับวันพฤหัสบดีเป็นการประชุมประจำวันของกองบัญชาการกองทัพบก ส่วนการประชุมติดตามสถานการณ์และความคืบหน้าของงานฝ่ายต่างๆ ของทาง คสช.กำหนดให้มีการประชุมในวันจันทร์กับวันศุกร์ และการประชุมใหญ่ของ คสช.หรือเทียบเท่า ครม.กำหนดให้เป็นวันพุธ

สั่งทบทวนแจกคูปองทีวีดิจิตอล

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. กล่าวว่า ในที่ประชุมประจำวันของคณะ คสช โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.มอบหมายให้ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผู้บัญชาการทหารบก ทำหน้าที่แทนซึ่งได้ติดตามงานของแต่ละฝ่าย โดยเฉพาะโครงการแจกคูปองทีวีดิจิตอล โดยรองหัวหน้า คสช.ฝ่ายเศรษฐกิจ สั่งให้ทบทวนเนื่องจากโครงการมีมูลค่าสูง และลักษณะของโครงการมีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่ง คสช.ยังติดใจเรื่องตัวเลขของวงเงินแจกคูปองและตัวเลข 25 ครัวเรือน นั้น อ้างอิงบนเหตุอย่างไร รวมทั้งคณะกรรมการติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ หรือ คตร. ต้องการให้ทำประชาพิจารณ์ความเห็นจากประชาชนทั่วประเทศก่อนแจกคูปอง โดยเป็นห่วงการแจกซ้ำซ้อน ยืนยันว่า คสช.ไม่ได้สั่งระงับโครงการแต่อย่างใด แต่ชะลอไว้ทบทวน ให้เกิดความคุ้มค่าและใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่ควรจะมุ่งไปใช้โครงการที่ประชาชนมีความเดือดร้อนแท้จริงก่อน ช่วงบ่ายรองหัวหน้า คสช.ฝ่ายเศรษฐกิจจะประชุมติดตามเหตุของโครงการนี้อีกรอบ โดยเรียก กสทช.มาหารือ หากสามารถตอบข้อข้องใจได้ กสทช.ก็สามารถดำเนินการโครงการนี้ต่อได้

ยันยังไม่หาคนนั่งนายกฯ

พ.อ.วินธัย ยังกล่าวถึง ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนของโพลต่างๆ ให้คะแนน คสช.สอบผ่าน และอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. นั่งนายกรัฐมนตรีด้วยนั้นว่า ขอบคุณทุกความคิดเห็นของประชาชน เป็นเหมือนกับให้กำลังใจ คสช. 1 เดือนที่ผ่านมา คสช.ก้มหน้าก้มตาทำงานอย่างเดียว เพื่อแก้ปัญหาทุกด้าน ซึ่งผลสำรวจออกมาเป็นผลสะท้อนต่อการทำงานของ คสช. ให้มีความพยายามมากขึ้น และพร้อมที่จะทำงานต่อไปอย่างเร่งรีบ เพราะ คสช.ต้องทำงานแข่งกับเวลา ตามที่หัวหน้า คสช.สัญญาไว้กับประชาชนว่า จะคืนความสุขให้คนไทย ตามโรดแม็พ 3 ขั้นตอน ขณะนี้เข้าใกล้โรดแม็พ ระยะที่ 2 แล้ว เตรียมออกธรรมนูญชั่วคราว และมีนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ส่วนตัวบุคคลมานั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทาง คสช.ยังไม่มีการหารือกัน ในส่วนกระแสข่าว ตั้งคณะกรรมการ 35 คน มาคัดเลือกสภานิติบัญญัติ 250 คน และสภาปฏิรูปการเมือง 200 คนนั้นยังไม่สามารถยืนยันได้

เตรียมโชว์ผลงานครบ 1 เดือน

ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ คณะทำงานโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า คสช.ได้เตรียมจัดทำรายงานในโอกาสครบรอบ 1 เดือน ในการเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งเอกสารและวีดีโอ เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อนำเสนอต่อสื่อมวลชนในเร็ววันนี้ โดยจะสรุปผลงานทั้งหมดที่ คสช.ได้ดำเนินงานมา ในส่วนการดูแลความสงบเรียบร้อย การนำความสุขคืนสู่ประชาชน การบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งมีความคืบหน้าในหลายๆ ด้าน ส่วนผลสำรวจที่ให้คะแนน คสช. ถึง 8.82 เต็ม 10 คะแนนนั้น สิ่งนี้สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของประชาชน ซึ่งก็สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นต่างๆ ที่ออกมาในช่วงนี้ รวมถึงเรื่องหุ้น เป็นสิ่งที่จะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ต้องขับเคลื่อนต่อไปอย่างเต็มที่ ซึ่ง 1 เดือนที่ผ่านมา ทุกหน่วยงานก็ทำอย่างเต็มที่อยู่แล้ว ส่วนที่มีการหนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.และหัวหน้า คสช.ขึ้นนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น เรื่องนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะพูดคุยถึง เพราะตอนนี้ทุกฝ่ายกำลังมุ่งเน้นถึงการทำงานในช่วงระยะที่ 1 มากกว่า

จ่อเสนอผ่านจอทีวี

ขณะที่ น.ส.ปถมาภรณ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ทีมโฆษก คสช. กล่าวถึงการนำเสนอผลการทำงานในรอบ 1 เดือนของ คสช. ว่า จะเสนอผ่านทางรายการ “เดินหน้าประเทศไทย” อาจเสนอเป็นรูปแบบสกู๊ปรายการสรุปการทำงานเบื้องต้น โดยมีส่วนงานที่รับผิดชอบในเรื่องต่างๆ ชี้แจงผลการทำงานให้ประชาชนรับทราบ และหัวหน้า คสช.จะสรุปอีกครั้ง ทั้งนี้ผลงานของ คสช.ที่ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนมีค่อนข้างมาก อาทิ โครงการคืนความสุขสู่ประชาชน ซึ่งมีการดำเนินการในหลายภาคส่วน หลายภูมิภาค และยืนยันว่าทุกอย่างที่ทาง คสช.กำลังดำเนินการอยู่สามารถตรวจสอบได้ หากประชาชนสงสัย หรือเคลือบแคลงใจในเรื่องใด ทาง คสช.จะหยิบยกมาพิจารณาก่อนดำเนินการต่อไป

ตั้งศูนย์เตรียมพร้อมสู่เออีซี

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งฉบับที่ 71/2557 เรื่องจัดตั้งศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และแต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทย ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อให้การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีเอกภาพ และการบูรณาการทุกภาคส่วนอย่างสอดคล้องและสัมพันธ์กัน จึงให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมฯ และมีคณะกรรมการเป็นผู้บริหารงาน สำหรับองค์ประกอบคณะกรรมการ มีรองหัวหน้า คสช. และหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง คสช.เป็นประธานกรรมการ ส่วนรองประธาน ประกอบด้วย รองหัวหน้า คสช.และหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช.,รองหัวหน้า คสช. หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช .และปลัดกระทรวงกลาโหม คณะกรรมการ ประกอบด้วย ตัวแทนจากปลัดกระทรวงต่างๆ ผู้บริหารระดับสูงจากส่วนราชการ ตัวแทนภาคธุรกิจเอกชน โดยมีเสนาธิการทหารเป็นเลขานุการ มีเจ้ากรมยุทธการทหาร และอธิบดีกรมอาเซียนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ อำนาจหน้าที่คือการบริหารงานและดูแลศูนย์อำนวยการให้เป็นไปตามนโยบายกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แนวทาง และท่าทีของไทยในการเข้าร่วมกรอบความร่วมมืออาเซียน พิจารณาแก้ไขปรับปรุง พัฒนากฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงานได้ตามความเหมาะสม โดยคณะอนุกรรมการหลัก ได้แก่ คณะอนุกรรมการศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนการเมืองและความมั่นคงอาเซียน มีปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน คณะอนุกรรมการศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน มีรองหัวหน้า คสช.และหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช.เป็นประธาน คณะอนุกรรมการศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีรองหัวหน้า คสช.และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช.เป็นประธาน ทั้งนี้เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว ให้คณะกรรมการดังกล่าวยังคงรับผิดชอบการดำเนินการไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง รวมทั้งรายงานผลการปฏิบัติให้หัวหน้า คสช. รับทราบต่อเนื่อง

“ประจิน” ถกกรอบงบคมนาคมปี 58

วันเดียวกัน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะ ประชุมร่วมกับนายสมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม เพื่อหารือถึงกรอบงบประมาณ ประจำปี 2558 เบื้องต้น คาดการณ์ว่า กระทรวงคมนาคมเสนอวงเงินประมาณ 300,000 ล้านบาท รวมงบประมาณของรัฐวิสาหกิจในสังกัดด้วย โดยจะแบ่งเป็นส่วนของงบประมาณประจำ ร้อยละ 60-70 ที่เหลือเป็นงบลงทุน โดยโครงการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการในปีงบประมาณ 2558 คือ การขยายช่องจราจรถนน ทางหลวงสายสำคัญ เพื่อลดปัญหาการจราจรที่แออัด และเพื่อความปลอดภัย รวมทั้งการจัดการกรรมสิทธิ์ที่ดิน การก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ส่วนการใช้งบประมาณตามยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2558 ถึง 2565 เบื้องต้นแบ่งเป็น 5 ด้าน คือ แผนรถไฟ แผนขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แผนถนน แผนทางน้ำ และแผนทางอากาศ ทั้งนี้การจัดทำตัวเลขงบประมาณที่กระทรวงคมนาคมขอจัดสรรจากสำนักงบประมาณขณะนี้มีตัวเลขอยู่ที่ 154,000 ล้านบาท ขณะที่งบประมาณขีดกรอบตัวเลขว่าจะมีการจัดสรรให้ 141,000 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะต้องเจรจาเพื่อขอให้ได้รับการจัดสรรงบเพิ่มตามเป้าหมายที่วางไว้

เคาะเงินลงทุนใหม่ 1.1 แสน ล.

ภายหลังประชุม พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า งบประมาณที่กระทรวงคมนาคมขอจัดสรร เพื่อให้สอดคล้องยุทธศาสตร์การใช้จ่ายของกระทรวงการคลังและยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของกระทรวงคมนาคม โดยงบประมาณที่ขอจัดสรรปี 2558 จะอยู่ระหว่าง 140,000-150,000 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะมีการหารือ เพื่อสรุปตัวเลขกับสำนักงบประมาณ คาดว่าจะสามารถสรุปตัวเลขได้ภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ ทั้งนี้ การจัดตั้งงบประมาณประจำปี 2558 ในส่วนของงบประมาณลงทุนที่จะใช้เป็นงบเริ่มต้นสำหรับโครงการสำคัญตามยุทธศาสตร์ 5 ด้าน คือ การพัฒนาระบบราง การแก้ไขปัญหาจราจร การพัฒนาการขนส่งทางน้ำ การพัฒนาเส้นทางถนน และทางอากาศ โดยงบลงทุนปี 2558 จะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 75 ของวงเงินที่กระทรวงคมนาคมจัดสรร หรือคิดเป็นวงเงินเบื้องต้น 110,000 ล้านบาท

ลุยแผนการลงทุน 3 เฟส

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า สำหรับการจัดทำแผนการลงทุนตามกรอบยุทธศาสตร์ที่จะดำเนินการลงทุนระยะเวลาปี 2558-2565 ซึ่งจะมีการแบ่งเป็น 3 เฟส โดยแต่ละเฟสจะใช้เวลา 2-3 ปี ในส่วนนี้ กรอบวงเงินลงทุนอยู่ระหว่างการจัดทำและคาดว่าจะสามารถสรุปตัวเลขภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งโครงการที่มีความพร้อมสามารถลงทุนได้จะมีทั้งโครงการพัฒนารถไฟทางคู่ โครงการเส้นทางถนนมอเตอร์เวย์ โครงการท่าเรือทั้งชายฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ส่วนโครงการที่ขณะนี้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ (คตร.) ตั้งข้อสังเกตและตรวจสอบนั้น กระทรวงคมนาคมจะต้องรอให้แต่ละโครงการตรวจสอบเสร็จ จึงจะสามารถเดินหน้าเพื่อทำการลงทุนได้ โดยเฉพาะโครงการที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาท ทุกโครงการควรจะมีการตรวจสอบ นอกจากนี้ ยังมีโครงการอื่นๆ โดยเฉพาะด้านบริการระบบขนส่งมวลชนแก่ประชาชน เช่น โครงการจัดหารถเมล์เอ็นจีวี 3,183 คัน วงเงินลงทุนกว่า 13,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ คตร.จะดำเนินการตรวจสอบร่างทีโออาร์ที่จัดทำขึ้น เมื่อผ่านการตรวจสอบแล้วจะเดินหน้าจัดซื้อรถเมล์โดยใช้งบประมาณจากแหล่งเงินกู้ทันที คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการระหว่างปีงบประมาณ 2558-2559 โดย คสช.เห็นถึงความจำเป็นของโครงการ เนื่องจากปัจจุบันรถเมล์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มีสภาพเก่าจึงจำเป็นต้องปรับปรุงโดยเร็ว

“สุเทพ” จ้อวางแผนล้างระบอบทักษิณ

ส่วนกรณีที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ได้ลงข่าว ระบุว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็น ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เปิดเผย ในงาน “กินข้าวกับลุงกำนัน” เพื่อระดมทุนจัดตั้งมูลนิธิ กปปส. ที่แปซิฟิค คลับ ว่า เคยปรึกษาพูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถึงการเข้ากวาดล้างระบอบทักษิณตั้งแต่ปี 2553 โดยนายสุเทพยังได้พูดคุยผ่านโปรแกรม “ไลน์” โปรแกรมแชตชื่อดัง โดยก่อนจะประกาศกฎอัยการศึก โดยมีอ้างประโยคถ้อยความที่ว่า “คุณสุเทพและมวลมหาประชาชนเหน็ดเหนื่อยมามากแล้ว ตอนนี้ถึงเวลาทหารมาสานต่อหน้าที่ภารกิจนี้” ทั้งนี้นายสุเทพยังเปิดเผยว่า ตัวเองเคยไปปรึกษากับ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองเมื่อปี 2553 ว่าจะทำอย่างไรให้ถอนรากถอนโคนระบอบทักษิณให้หมดสิ้น และปฏิรูปประเทศด้วยการกำจัดคอรัปชั่นและสลายสีเสื้อที่แบ่งแยกพี่น้องชาวไทยมาอย่างยาวนาน นายสุเทพยังกล่าวว่า “เราใช้เงินดังกล่าว 1,400 ล้านบาท ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่ง 400 ล้านบาท มาจากครอบครัวและกลุ่มแกนนำ อีก 1,000 ล้านบาท มาจากเงินบริจาคจากผู้สนับสนุน”

“บิ๊กตู่” ปัดคุย “สุเทพ”

พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก (ทบ.) และทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยมีการพูดคุยหรือสื่อสารเป็นการส่วนตัวหรือส่งข่าวใดๆ กับนายสุเทพทั้งสิ้น มีเพียงได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในขณะนั้นให้ดำเนินการในฐานะหน่วยงานความมั่นคง เพื่อสื่อสารแจ้งกับทุกกลุ่มฯ ให้หาทางเจรจากัน แต่ก็ไม่เคยบรรลุผลสำเร็จ รวมทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ให้แจ้งเตือนทุกกลุ่มหลีกเลี่ยงการทำผิดกฎหมาย และระมัดระวังให้ประชาชนได้มีความปลอดภัยเท่านั้น ซึ่งในขณะนั้นกองทัพคงไม่สามารถทำในลักษณะดังกล่าวได้ เพราะเป็นด้วยงานความมั่นคง ต้องปฏิบัติตามกรอบกฎหมาย และดำเนินการทุกอย่างไปตามกระบวนการที่เหมาะสมของภาครัฐ

จ่อคลอด สนช.

รายงานข่าวจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่า ขณะนี้ร่างรัฐธรรมนูญการปกครองชั่วคราว พ.ศ.2557 ใกล้เสร็จสิ้นแล้ว โดย คสช.ได้ตรวจสอบร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช.ฝ่ายกฎหมาย ได้นำขึ้นไปเพื่อให้ คสช.พิจารณา โดยในร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวได้ระบุถึงขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เอาไว้ด้วย กำหนดสัดส่วนคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จำนวน 35 คน แบ่งเป็น สภาปฏิรูป 20 คน คณะรัฐมนตรี (ครม.) 5 คน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 5 คน และ คสช. 5 คน ในร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว ระบุว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้นแล้ว จะต้องผ่านความเห็นชอบจากสภายกร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และนำร่างรัฐธรรมนูญไปผ่านการทำประชามติเพื่อรับฟังเสียงประชาชน แต่ คสช.ไม่เห็นด้วยที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว ระบุว่า รัฐธรรมนูญต้องผ่านการทำประชามติ จึงสั่งการให้ตัดการทำประชามติออก ส่วนของสภาปฏิรูปยังไม่มีจำนวนที่ชัดเจน ซึ่งคาดว่าน่าจะมีจำนวน 250-300 คน และ สนช.จะมีจำนวน 200 คน

ทหาร-ตร.พร้อมรับมือม็อบต้าน

เมื่อเวลา 11.30 น. พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รอง ผบ.ตร. กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับมือกับกลุ่มผู้ที่จะรวมตัวกันแสดงกิจกรรมทางการเมืองในวันที่ 24 มิถุนายนนี้ ว่า จากการข่าวพบว่าจะมีกลุ่มบุคคลรวมตัวกันแสดงกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งจะจัดขึ้นทุกปีในวันดังกล่าว โดยมวลชนจะทำกิจกรรมที่ถนนราชดำเนิน และวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ทางทหาร และตำรวจ จะจัดกำลังดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย และจะอยู่ในที่ตั้ง คอยสังเกตการณ์ เพื่อไม่ให้มีการแสดงออกที่ละเมิดกฎหมาย ได้พิจารณาตั้งรางวัลนำจับผู้กระทำผิดกฎหมาย ถ้าบุคคลใดสามารถถ่ายภาพคนที่แสดงสัญลักษณ์ต่อต้านหรือทำผิดกฎหมายทุกรูปแบบ จะให้เงินรางวัลบุคคลที่ถ่ายภาพๆ ละ 500 บาท ทั้งนี้ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเตรียมหารือร่วมกับทหารในการปรับลดกำลังดูแลความเรียบร้อยพื้นที่ต่างๆ เนื่องจากเห็นว่ากลุ่มต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.) ลดน้อยลง โดยจะมีการประชุมในวันเดียวกันนี้ ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล

หิ้ว บก.ลายจุด ฝากขังผลัดสอง

วันเดียวกัน เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ศาลทหารกรุงเทพ เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม พร้อมเจ้าหน้าที่ทหารได้นำตัวนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง มาขออำนาจศาลทหารกรุงเทพ เพื่อฝากขังผลัดที่ 2 ภายหลังครบกำหนดฝากขังผัดแรกเป็นระยะเวลา 12 วัน ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เนื่องจากฝ่าฝืนคำสั่งให้มารายงานตัวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. รวมทั้งมีการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยนายสมบัติได้สวมชุดสีน้ำตาลของเรือนจำฯ พร้อมสวมกุญแจมือ มีสีหน้าปกติ ต่อมาคณะตุลาการศาลทหารฯ ได้พิจารณาคำร้องพนักงานสอบสวนฯ อนุญาตฝากขังนายสมบัติเป็นระยะเวลา 12 วัน ตั้งแต่ 24 มิ.ย.-5 ก.ค. ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารได้นำตัวนายสมบัติ เดินทางไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที

วืดประกันตัวนอนคุกต่อ

จากนั้น ทางทีมทนายความของนายสมบัติ ได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 4 แสนบาท เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวทันที โดยคำร้องประกอบ อ้างว่า นายสมบัติพร้อมยุติบทบาท ไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ หากได้ประกันก็จะกลับมาทำงานเพื่อสังคมและอยู่ดูแลลูกสาวกับครอบครัว และขอให้ศาลออกเงื่อนไขผู้ต้องหาพร้อมจะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม ศาลทหารกรุงเทพไม่ให้ประกันตัว

หมายจับ 28 คน ฝืนคำสั่ง คสช.

ขณะเดียวกัน ศาลทหารกรุงเทพ ได้อนุมัติหมายจับผู้ต้องหา 28 คน ที่ฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยไม่เข้ารายงานตัวภายในกำหนดเวลา หลัง พ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูล รอง ผบก.ป. พ.ต.ท.พงษ์ไสว แช่มลำเจียก พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ กก.1 บก.ป. ได้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ก่อนขออนุมัติหมายศาล สำหรับผู้ต้องหาทั้งหมด ประกอบด้วย 1.นายขรรค์ชัย บุนปาน 2.นายใจ อึ๊งภากรณ์ 3.นายจักรภพ เพ็ญแข 4.นายพิษณุ พรหมสร 5.นายเนติ วิเชียรแสน 6.นายองอาจ ธนกมลนันท์ 7.นายอำนวย แก้วชมภู 8.นายชูพงศ์ ถี่ถ้วน 9.นางจรรยา ยิ้มประเสริฐ 10.นายเอกภพ เหลือรา หรือตั้ง อาชีวะ 11.นายเสน่ห์ ถิ่นแสน 12.นายภิเษก สนิทธางกูร 13.นายสันติ วงษ์ไพบูลย์ 14.นางมนัญชยา เกตุแก้ว 15.นางฉัตรวดี อมรพัฒน์ หรือ “โรส” 16.นายจุติเทพ หรือเลอพงษ์ วิไชยคำมาตย์ 17.นายทนง ศิริปรีชาพงษ์ 18.นายอุสมาน สะแลแมง 19.นายฉกาจ คหบดีรัตน์ 20.นายชัยพฤกษ์ สมานรักษ์ 21.นายรังสฤษฎิ์ ธิยาโน 22.นายชัชชาญ บุปผาวัลย์ 23.นายยงยุทธ บุญดี 24.นายอัมรา วัฒนกูล 25.นายเกษมสันติ จำปาเลิศ 26.นายนิทัช ศรีสุวรรณ 27.น.ส.นุ่มนวล ยัพราช และ 28.นายวิระศักดิ์ โตวังจร ทั้งนี้ ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถอนหมายจับ “ขรรค์ชัย บุนปาน”

ทางผู้แทนของนายนิทัช ศรีสุวรรณ 1 ใน 28 ผู้ต้องหาที่ถูกศาลทหารออกหมายจับ ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ได้นำหลักฐานแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่สามารถรายงานตัวต่อ คสช.ตามกำหนด เข้ายื่นต่อ พ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูล รอง ผบก.ป.จึงมีการทำคำร้องต่อศาลเพื่อขออนุมัติถอนหมายจับนายนิทัช พร้อมด้วยนายขรรค์ชัย บุนปาน (ผู้บริหาร น.ส.พ.มติชน) ซึ่งศาลพิจารณาแล้วได้อนุมัติถอนหมายจับตามที่พนักงานสอบสวนร้องขอสำหรับนายขรรค์ชัยนั้น ก่อนหน้านี้นายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการบริษัท มติชน ได้ส่งเอกสารประกอบด้วยใบรับรองแพทย์ และหนังสือชี้แจงว่า ขณะนี้นายขรรค์ชัย มีอาการป่วย และเข้ารับการผ่าตัดหัวใจที่โรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นเหตุให้ไม่สามารถเข้ารายงานตัวตามกำหนดได้

วันที่ 24/06/2557 เวลา 6:31 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

323

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน