ถกแผนปฏิรูปพลังงาน รอบ2 แนะเลิกสัมปทานปิโตรเลียม

ถกแผนปฏิรูปโครงสร้างพลังงานประเทศรอบ 2 กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานและเครือข่ายผู้บริโภคตบเท้าให้ข้อมูล “คสช.” คึกคัก แนะรื้อโครงสร้างราคาน้ำมัน โดยยอมให้อิงราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์ได้ แต่ไม่ให้บวกค่าขนส่งเพราะไม่มีอยู่จริง พร้อมให้แยกราคาน้ำมัน ก๊าซฯ ให้ชัดเจนเป็นธรรม แยกกิจการท่อก๊าซฯ มาเป็นของรัฐ แฉราคาน้ำมัน อี 85 คิดค่าการตลาดสูงเวอร์ และเสนอยกเลิกสัมปทานปิโตรเลียมเปลี่ยนเป็นระบบแบ่งปันผลประโยชน์แทนเพื่อให้รัฐได้ประโยชน์เต็มที่ ด้าน “รสนา” เสนอให้ชะลอสัญญาสัมปทานปิโตรเลียม ทบทวน กม.ห้ามเอกชนผูกขาด ตั้งบริษัทพลังงานแห่งชาติ ให้รัฐถือหุ้น 100% เพื่อดูแลพลังงานเบ็ดเสร็จ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 22 มิ.ย.57 พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างพลังงานของประเทศมาหารือ เป็นครั้งที่ 2 เพื่อให้ได้ข้อสรุปในการจัดทำแผนให้สอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศต่อไปหลังจากที่หารือครั้งแรกยังไม่ได้ข้อสรุป

ม.ล.กรณ์กสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงาน มหาวิทยาลัยรังสิต เครือข่ายกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย เปิดเผยหลังการเข้าชี้แจงข้อมูลว่า ได้เสนอข้อมูลให้ คสช.สำคัญ 3 เรื่องได้แก่ 1.ให้ทบทวนระบบการให้สัมปทานปิโตรเลียมเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตในการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมใหม่ และสัมปทานที่จะหมดอายุลงในอีก 7-8 ปีนี้ ส่วนของเดิมก็ให้ดำเนินการไปตามปกติเพื่อให้สอดคล้องกับประเทศในอาเซียนเพื่อให้เป็นระบบสากล เพราะในภูมิภาคนี้ใช้ระบบดังกล่าวหมดและไม่ควรจะอ้างว่าไทยเป็นแหล่งผลิตขนาดเล็ก เพราะอินโดนีเซียก็มีแหล่งผลิตทั้งเล็กและใหญ่ก็อิงระบบนี้หมด 2.การบริหารจัดการก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือแอลพีจีควรจะแแก้ไขมติ ครม.ปี 2551 ที่กำหนดให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีสิทธิ์ในการใช้ก๊าซในอ่าวไทยร่วมกับประชาชนโดยให้ประชาชนมีสิทธิ์ก่อนลำดับแรก และที่เหลือหากต้องมีการนำเข้าให้ภาคปิโตรเคมีนำเข้าแทน

กรณีแอลพีจี ถ้าแก้ไขมตินี้ได้การนำเข้ามาก็จะเป็นภาระของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไป ปัญหาการนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เรียกเก็บจากผู้ใช้น้ำมันมาอุดหนุนแอลพีจีในขณะนี้ก็จะหมดลงภาระตรงนี้จะหายไปทันที ประเด็นที่ 3 ได้เสนอให้ราคาน้ำมันที่อิงตลาดสิงคโปร์ปัจจุบัน ควรอิงราคาหน้าโรงกลั่นตลาดสิงคโปร์ ไม่ใช่อิงราคาหน้าโรงกลั่นบวกค่าพรีเมียมที่ได้จากการนำเข้า ซึ่งเป็นการบวกค่าขนส่งเข้าไป ทั้งที่ค่าขนส่งเหล่านั้นได้เกิดขึ้นจริงแล้วในราคาน้ำมันดิบ แต่เมื่อไทยมีโรงกลั่นเองแล้วกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป ก็ไม่ควรจะอิงราคาสิงคโปร์บวกค่าขนส่งเช่นปัจจุบัน ขณะนี้มีการบวกส่วนนี้ไปประมาณ 70 สตางค์ต่อลิตร

ส่วน น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เครือข่ายมูลนิธิผู้บริโภค กล่าวว่า ได้เสนอ 3 เรื่องได้แก่ โครงสร้างราคาพลังงาน ท่อก๊าซฯ และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเรื่องราคาน้ำมันต้องการให้ทำโครงสร้างแยกราคาออกมาให้ชัดว่าชนิดใดเป็นก๊าซ เป็นน้ำมัน ไม่ใช่เอาคนใช้น้ำมัน ไปอุ้มราคาก๊าซฯ จนสับสน ไม่สามารถตรวจสอบได้ โดยยืนยันว่าไม่ได้ต้องการให้ราคาน้ำมันต่ำเป็นประชานิยม แต่ต้องการเน้นให้โปร่งใสและเป็นธรรมกับผู้ใช้จริงๆ ตัวอย่างเช่น แก๊สโซฮอล์ อี 85 เราพบว่าถ้าเราไปเติมพันบาทจะพบว่า 200 บาทนั้น เป็นค่าการตลาด แถมราคาหน้าโรงกลั่นก็ยังแพงอีก เราไม่รู้ว่าใครพุงปลิ้น นี่เป็นโครงสร้างราคาหนึ่งที่เราต้องการให้ชัดเจน

สำหรับท่อก๊าซธรรมชาติได้เสนอให้แยกกิจการท่อก๊าซธรรมชาติออกมาทั้งบกและทางทะเล ตามคำสั่งศาลปกครองเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ใช้ ส่วนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ได้เสนอว่าจะต้องยกเลิกอะไร แต่ได้เสนอข้อมูลให้เป็นธรรมไม่ได้สลับซับซ้อนเช่นที่เป็นอยู่

วันเดียวกันนี้ (22 มิ.ย.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล แกนนำกลุ่มจับตาการปฏิรูปพลังงานไทย เปิดเผยภายหลังการเข้าหารือร่วมกับ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ทางกลุ่มได้เสนอให้ชะลอการให้สัญญาสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ออกไปก่อน เพื่อให้ทบทวนกฎหมายสัญญาสัมปทานให้รัฐได้ประโยชน์มากขึ้น และสามารถกำหนดราคาพลังงานได้อย่างเหมาะสมในอนาคต โดยไม่ให้เอกชนผูกขาด

นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการจัดตั้งบริษัทพลังงานแห่งชาติ โดยให้รัฐถือหุ้น 100% เพื่อให้การดูแลด้านพลังงานของประเทศครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งทาง คสช.ได้รับฟังเพื่อนำไปพิจารณาประกอบเป็นแผนในการปฏิรูปพลังงานของประเทศต่อไป

 

 

วันที่ 23/06/2557 เวลา 6:45 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

327

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน