ชง 3 ข้อกระตุ้น ศก.ชาติ
นายธนิต โสรัตน์ ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สป. เสนอ 3 มาตรการเร่งด่วนกระตุ้นเศรษฐกิจใน 2557 ได้แก่ ขอให้คณะทำงานด้านเศรษฐกิจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ด้วยการเร่งจ่ายหนี้ให้กับชาวนา แก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน เพิ่มอำนาจซื้อให้ประชาชน เช่น การขอความร่วมมือธนาคารของรัฐและธนาคารพาณิชย์ ออกแคมเปญยืดหนี้ หรือรีไฟแนนซ์ ให้ลูกค้าสินเชื่อบ้านและรถยนต์ และขอให้ยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวและหามาตรการอื่นๆ ช่วยเหลือชาวนา จะมีความเหมาะสมกว่า
มาตรการที่ 2 คือ ขอให้ คสช.ออกมาตรการกระตุ้นการส่งออก และจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐ-เอกชน เพื่อขับเคลื่อนการส่งออกของประเทศ โดยขอให้เร่งรัดการลดต้นทุนผู้ส่งออกผ่านการเร่งรัดการขอคืนภาษี มาตรา 19 ทวิกรมศุลกากร ที่ผู้ส่งออกยังไม่สามารถรับคืนภาษีได้ เป็นภาระวงเงินค้ำประกันของผู้ส่งออก
และมาตรการเร่งด่วนสุดท้ายที่จะเสนอ คสช. คือ การเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี โดยขอให้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินได้จริง ทั้งนี้ พบว่า สถาบันการเงินอนุมัติเงินกู้ให้เอสเอ็มอีหน้าใหม่ไม่ถึงร้อยละ 50 ขณะที่ในปี 2556 สถาบันการเงินอนุมัติสินเชื่อร้อยละ 70 โดยข้อเสนอทั้งหมด คาดว่าจะแล้วเสร็จวันที่ 13 มิถุนายนนี้ และจะนำเสนอ คสช.ในวันที่ 16 มิถุนายนนี้
นายธนิต กล่าวว่า ประเทศไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจจากปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจโลกมาโดยตลอด และหากจะทำให้การส่งออก ปี 2557 เป็นไปตามเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ร้อยละ 3.5 จะต้องส่งออกสินค้าในช่วงที่เหลือของปี ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ธันวาคม ให้ได้ร้อยละ 10-15 ซึ่งยอมรับว่าเป็นไปได้ยาก เนื่องจากประเทศคู่ค้า อย่าง จีน ฮ่องกง และ อาเซียน การส่งออกติดลบ ในระดับ 2หลักทั้งสิ้น
นอกจากนี้ ยังต้องการให้ราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 29 บาทต่อลิตร ต่อไปอีกอย่างน้อย 1 ปี เพื่อคงต้นทุนสินค้าไว้ ไม่ให้กระทบผู้บริโภค
ด้านนายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ถึงแม้งบลงทุนของปีงบประมาณ 58 จะมีสัดส่วนต่องบประมาณ เท่ากับปีงบประมาณ 57 แต่ทางสำนักงบฯ ก็เชื่อว่า เม็ดเงินลงทุนที่จะออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้าจะสูงกว่าปีนี้อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ งบประมาณปี 58 ที่ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพิ่งอนุมัติวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่ 2.575 ล้านล้านบาท โดยคาดการณ์รายได้ที่ 2.325 ล้านล้านบาท เป็นงบขาดดุล 2.5 แสนล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นงบรายจ่ายเพื่อการลงทุน เท่ากับ 4.5 แสนล้านบาท เท่ากับ 17.5% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด ซึ่งสัดส่วนงบลงทุนต่องบประมาณรายจ่าย เท่ากับปีงบประมาณปี 57
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในแง่สัดส่วนงบประมาณลงทุนต่องบประมาณรายจ่ายรวมของปี 58 และ 57 จะมีสัดส่วนที่เท่ากัน แต่ในแง่เม็ดเงินลงทุนของปีงบประมาณ 58 จะสูงกว่าปี 57 อยู่ 9.45 พันล้านบาท หรือประมาณ 2.2 % เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 57
อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญมากกว่านั้นก็คือ เม็ดเงินลงทุนที่สามารถเบิกจ่ายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจนั้นว่าจะเป็นจำนวนเท่าไหร่ เพราะแม้สัดส่วนงบลงทุนต่องบประมาณในปี 58 จะเท่ากับปี 57 แต่หากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนในปี 58 ทำได้ดีกว่าปีงบ 57 ก็เท่ากับเราสามารถใช้งบลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่าปี 57
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของปี 58 นั้น ทางสำนักงบประมาณ ได้ขอนโยบายจาก คสช.แล้วว่า จะให้ส่วนราชการที่มีงบลงทุน ได้เตรียมความพร้อมของโครงการลงทุนตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ โดยทำให้โครงการลงทุนมีความพร้อม ทั้งด้านการออกแบบ การขอ EIA และความพร้อมเรื่องการเวนคืนที่ดินหากมี เป็นต้น
“แม้ว่าสัดส่วนงบลงทุนในปี 58 จะเท่ากับปีก่อนหน้า แต่หากการเบิกจ่ายงบลงทุนในปี 58 ได้ถึง 80% ก็จะทำให้เม็ดเงินลงทุน เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสูงกว่าปีงบประมาณนี้” นายสมศักดิ์ กล่าว
สำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่เคยบรรจุอยู่ในโครงการ 2 ล้านล้านบาท ที่จะเริ่มลงทุนในปีงบประมาณ 58 ได้แก่ โครงการรถไฟรางคู่, รถไฟฟ้าในเมืองและชานเมือง ถนนสี่เลน, ทางหลวงชนบท และการซ่อมแซมถนนที่โดนน้ำท่วมเสียหายในปี 54 เป็นต้น
วันที่ 12/06/2557 เวลา 11:11 น.