เอ๊กเรย์8โครงการยักษ์คสช.ลั่นฉาวโฉ่โล๊ะทิ้ง

 

“บิ๊กตู่” ตอกย้ำให้ ขรก.ร่วมมือสร้างชาติ ช่วยทำประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ ไม่สนต่างชาติต่อต้าน ขอกวาดบ้านให้สะอาดก่อน ยันโรดแม็พ 3 ระยะก่อนคืนอำนาจเลือกตั้ง ท้าดูผลงานหลังยึดอำนาจ ปลื้มชาติฟื้นไข้ อาชญากรรมลด ความเชื่อมั่นประเทศพุ่ง จับอาวุธสงครามได้เพียบ สั่งเอกซเรย์ 8 โครงการใหญ่ งบเกิน 1,000 ล้าน ขู่ฉาวโฉ่ยกเลิกแน่ ส่วนของดีไฟเขียวให้เดินหน้าต่อ เปิดแผนบริหารประเทศพุ่งเป้าแก้ทุจริต-ช่วยเหลือคนจน-กระตุ้นเศรษฐกิจ-ลดเหลื่อมล้ำ-ไม่ก่อหนี้ ขู่ยกเลิกแน่โครงการประชานิยมทำลายชาติ

“บิ๊กตู่” สั่ง ขรก.ร่วมสร้าง ปชต.สมบูรณ์

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 11 มิ.ย. พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้า คสช. ได้เน้นย้ำในที่ประชุมให้ข้าราชการต้องงานทำให้ประเทศเดินหน้า มุ่งสร้างความเข้าใจ อาศัยหลักการ และเหตุผล โดยขอให้เข้าใจว่าทุกประเทศจะเห็นด้วยทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ แต่ต้องเร่งสร้างความเข้าใจ โดยให้ครอบคลุมในทุกมิติ อธิบายถึงเหตุผลที่มาที่ไปว่าปัจจุบันเป็นอย่างไร และอนาคตจะเป็นอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ให้ยึดในจุดหมายของการรักษาระบอบประชาธิปไตยทั้ง 3 อำนาจ ได้แก่ฝ่ายบริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ ขณะนี้เป็นการหยุดชั่วคราวเพื่อจัดระเบียบ ไม่มีใครอยากทำ แต่ประเทศชาติมาก่อนเสมอ ซึ่งถ้าทุกอย่างสมบูรณ์ตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว ประเทศชาติก็จะได้อยู่ภายใต้เจตนารมณ์ของระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

ส่วนเรื่องของการทุจริตนั้น พ.อ.วินธัย กล่าวว่า อยากให้ทุกอย่างอยู่ในขั้นตอนการพิสูจน์ข้อเท็จจริง เป็นไปตามกระบวนการที่จำเป็น ที่ผ่านมาบางระบบราชการไม่สามารถทำได้ รวมถึงบางหน่วยงานไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติ ก็ยังถูกตำหนิในสังคม สำหรับความพยายามให้เกิดความปรองดองระหว่างคนในชาติ ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามสร้างความเกลียดชัง โดยหลังจากนี้ไม่อยากให้มีการกล่าวหากันลอยๆ ผิดถูกอย่างไรขึ้นอยู่กับกระบวนการยุติธรรมและพยานหลักฐาน นอกจากนี้ยังมีการบิดเบือนข่าวสาร บางครั้งมีการดึงสถาบันมาเกี่ยวข้อง ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วสถาบันอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง ซึ่งกฎหมายบางมาตรายังคงต้องมีไว้เพื่อปกป้องสถาบัน

ท้าตามดูผลงานหลังยึดอำนาจ

พ.อ.วินธัย กล่าวถึงการประเมินผลการบริหารประเทศของ คสช.ด้วยว่า ไม่อยากให้มองเปรียบเทียบในช่วงเดือน พ.ค.ปีนี้กับปีที่ผ่านมา แต่อยากให้มองที่ผลการทำงานโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา หลังจากมีการควบคุมอำนาจการปกครอง และอยากให้มองย้อนหลังไป 6 เดือนที่ผ่านมา ในทุกมิติทั้งระบบบริหารราชการ ความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชน การสัญจรบนถนน การตรวจจับอาวุธสงคราม เป็นต้น ทั้งนี้ยืนยันว่าการขับเคลื่อนจะใช้ระบบบริหารราชการปกติเป็นหลัก และคณะที่ปรึกษาจะเป็นเพียงให้ข้อแนะนำผ่านทางเอกสารเป็นหลักเท่านั้น ไม่ได้ชี้นำใดๆ ทั้งสิ้น คสช.ได้เน้นย้ำกับกลุ่มประเทศตะวันตกว่าการดำเนินการของ คสช.จะแบ่งเป็น 3 ระยะ ซึ่งระยะแรกอยู่ระหว่างการดำเนินการ ส่วนระยะที่ 2 อีก 3 เดือน คงจะมีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติ มีนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และสภาปฏิรูป กำหนดรูปแบบกฎเกณฑ์กติกาเรียบร้อย และนำไปสู่ระยะที่ 3 ก็คือการเลือกตั้งดำเนินการตามระบบปกติต่อไป

เอกซเรย์ 8 โครงการงบเกินพันล้านบาท

พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ในการประชุม คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก โดยมี พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นประธานนั้นได้เชิญส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้แทนฝ่ายต่างๆ ประชุมหารือคณะกรรมการ คตร. เพื่อหารือกำหนดนโยบายการตรวจสอบโครงการต่างๆ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส คุ้มค่า เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปถึงนโยบายการตรวจสอบโครงการที่ คตร.จะดำเนินการ มี 3 ลักษณะ ได้แก่ หากโครงการใดที่ คตร.เข้าตรวจสอบแล้วพบว่ามีความเหมาะสมจะให้ส่วนราชการดำเนินการตามขั้นตอนได้ต่อไป โครงการที่เข้าตรวจสอบแล้วพบว่าต้องทบทวนเปลี่ยนแปลงจะให้ส่วนราชการได้แก้ไขให้เหมาะสมก่อนแล้วถึงจะดำเนินการ ส่วนโครงการที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสมจะให้ยกเลิกและหยุดดำเนินการ สำหรับโครงการที่ คตร.จะเข้าดำเนินการตรวจสอบ ได้แก่ โครงการซึ่งเป็นแผนงานขนาดใหญ่ที่วงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท ในขั้นต้นจะให้ฝ่ายต่างๆ พิจารณาตรวจสอบก่อนและแจ้งให้ คตร.ทราบเพื่อดำเนินการต่อไป นอกจากนี้จะเข้าตรวจสอบในโครงการซึ่ง คตร. ได้พิจารณาจากเอกสารผลการรายงานจากฝ่ายต่างๆ เพื่อจัดชุดตรวจไปติดตาม และตรวจสอบแล้วจัดทำเป็นข้อเสนอหัวหน้า คสช. อย่างไรก็ตาม ในขั้นต้นที่ประชุมมีมติจะเข้าตรวจสอบโครงการ 8 โครงการ และ 1 หน่วยงาน จากทั้ง 28 โครงการที่อยู่ในข่ายจะเข้าตรวจสอบ

คสช.แก้ทุจริต-ลดเหลื่อมล้ำ-ไม่ก่อนนี้

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับแนวทางและนโยบายเร่งด่วนที่ คสช.ได้แจ้งกับหน่วยงานข้าราชการต่างๆ เบื้องต้นจะเร่งดำเนินการมี 5 ข้อ ประกอบด้วย 1.การแก้ปัญหาหนี้ค้างชำระแก่ชาวนาในโครงการจำนำข้าว 2.เร่งแก้ปัญหาการขอใบอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมที่ล่าช้า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน 3.เน้นเบิกจ่ายงบดุลปี 2557 ที่ยังดำเนินการไม่เเล้วเสร็จ ซึ่งขณะนี้มีอยู่ประมาณ 7 พันล้าน 4.เริ่มการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น อาทิ รถไฟรางคู่ และรถไฟฟ้าสายต่างๆ ใน กทม.-ปริมณฑล และ 5.เร่งรัดจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ให้เเล้วเสร็จก่อนเดือน ก.ย.

รายงานข่าวระบุต่อว่า ขณะที่เรื่องจะดำเนินการควบคู่กับนโยบายเร่งด่วน ประกอบด้วย 1.ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและขจัดปัญหาทุจริต 2.ปฏิรูปโครงสร้างภาษีอย่างเป็นธรรม 3.ทบทวนโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเน้นให้มีการจัดเก็บภาษีจากคนที่มีรายได้สูงมากขึ้น 4.ส่งเสริมการค้าชายแดน ผ่านการจัดตั้งเศรษฐกิจพิเศษ 5.ส่งเสริมและพัฒนาสินค้าขั้นกลาง และขั้นปลายเพื่อการส่งออกให้มากขึ้น 6.ทบทวนกองทุนนอกงบประมาณต่างๆ อาทิ กองทุนหมู่บ้าน กองทุนสตรี โดยหากเป็นกองทุนที่มีประโยชน์พร้อมทบทวน และ 7.ส่งเสริมให้มีการดูแลเกษตรกรชาวนาอย่างเป็นระบบ

รายงานข่าวระบุอีกว่า สำหรับการดำเนินการด้านเศรษฐกิจ 1.เน้นการบริหารระบบเศรษฐกิจแบบเสรี ซึ่งจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาคเอกชนเป็นหลัก 2.ให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนเป็นไปอย่างเสรี 3.ส่งเสริมนโยบายการค้าเสรี 4.ลดบทบาทรัฐวิสาหกิจที่ภาคเอกชนสามารถดำเนินการได้ 5.ขจัดอุปสรรคการค้าต่างประเทศให้คล่องตัว ทั้งนี้ คสช.เสนอให้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ 6.สนับสนุนการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 7.ไม่ก่อหนี้เกินตัวและรักษาวินัยการคลัง 8.ขจัดความไม่เป็นธรรมในระบบพ่อค้าคนกลาง 9.แก้ปัญหาแรงงานอย่างบูรณาการ

แนะเปิดโอกาสทุกภาคส่วนร่วมปฏิรูป

วันเดียวกันนี้ เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป นำโดย นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ, นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และเครือข่ายจากภาคส่วนต่างๆ ร่วมจัดเวทีความคิดเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 6 หัวข้อ พลังสังคมเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปอย่างมีส่วนร่วม โดย นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ฐานะสมาชิกเครือข่าย ได้อ่านแถลงการณ์ของเครือข่าย ว่า 1.การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้เดินหน้า เพื่อสร้างความเป็นธรรม สร้างความปรองดอง สร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งให้เศรษฐกิจและสังคม และสร้างรากฐานที่เข็มแข็งสำหรับการพัฒนาประเทศต่อไป 2.การออกแบบการปฏิรูปต้องเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง 3.ต้องยึดหลักการของการปฏิรูปประเทศที่สำคัญ คือ ให้ทุกฝ่ายและทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นและขับเคลื่อนการปฏิรูปหลากหลายที่สะท้อนถึงความแตกต่างทางความคิดในสังคมไทยอย่างมีสมดุลและร่วมทำงานกับภาคีเครือข่ายด้านการปฏิรูปต่างๆ 4.เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการปฏิรูปโดยร่วมกับภาคสังคม และมีความเป็นอิสระจากภาคการเมืองหรือภาครัฐ นอกจากนั้นจะสร้างเวทีกลางระหว่างภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนการปฏิรูปต่างๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความเห็น และแสวงหาข้อสรุปสำหรับการปฏิรูปด้านต่างๆ ร่วมกันก่อนนำเสนอต่อสาธารณะและองค์กรปฏิรูประดับชาติ และที่สำคัญทางเครือข่ายจะติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลความก้าวหน้าและผลสัมฤทธิ์ของการขับเคลื่อนการปฏิรูปขององค์กรปฏิรูประดับชาติและข้อเสนอแนะอย่างสร้างสรรค์

 

 

 

วันที่ 12/06/2557 เวลา 0:11 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

294

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน