ยกระดับศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน

สร้างมาตรฐานใบรับรองอาชีพ เบิกทางสู่ประตูอาเซียน

 

งานช่างฝีมือและศิลปะพื้นบ้านถือเป็นมรดกร่วมของอาเซียนที่มีลักษณะโดดเด่นและได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างกว้างขวางโดยสาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมองเห็นประโยชน์ในทางเศรษฐกิจของงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านเหล่านี้มีความก้าวหน้าอย่างมาก นอกจากนี้ พื้นที่ทางวัฒนธรรมยังมีบทบาทในการเชื่อมประสานความสัมพันธ์ที่สำคัญ อันแตกต่างไปจากทัศนะทางกายภาพ เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง และความสัมพันธ์ทางการค้า เป็นต้น กลุ่มประเทศอาเซียนนับได้ว่ามีความร่ำรวยในมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งสามารถใช้เป็นฐานของการพัฒนาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ในด้านจิตสำนึกของความเป็นประชาคม

นายอภิวัฒน์ อัคนิทัต ผู้อำนวยการสำนักนโยบาย สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวว่า สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพในฐานะองค์การมหาชนภายใต้การกำกับของนายกรัฐมนตรี ที่ทำหน้าที่พัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพ อันเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับความก้าวหน้าและอัตราผลผลิต โดยทางสถาบันฯ ได้ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการระบุสมรรถนะที่อุตสาหกรรมต้องการเพื่อจัดทำ “มาตรฐานอาชีพ” นั้น ในตอนนี้ทางสถาบันฯ ได้ผลักดันโครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพถึง 9 สาขา ประกอบด้วยสาขาก่อสร้างเทคโนโลยีสารสนเทศ สปา และทำผม โลจิสติกส์ศิลปะพื้นบ้านและหัตถกรรม เชฟไทย อัญมณีและเครื่องประดับ และปิโตรเลียม โดยล่าสุดนี้ทางสถาบันฯ ได้มีการประชุมคณะกรรมการในเรื่องการเตรียมการจัดทำมาตรฐานอาชีพ ในสาขาอนุรักษ์พื้นบ้านและศิลปหัตถกรรม ซึ่งทางสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพถือว่าเป็นสาขาอาชีพที่สำคัญ เพราะว่าศิลปหัตถกรรมและการอนุรักษ์พื้นบ้านนั้นเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาเป็นเวลาช้านานมาก

“กระบวนการจัดทำมาตรฐานอาชีพก็คือการเข้าการทดสอบ เพื่อให้ผู้ประกอบอาชีพรู้ว่าตนเองมีความสามารถอยู่ในระดับใด หลังจากนั้นแล้วเมื่อเขาผ่านการทดสอบแล้ว เขาก็จะได้รับคุณวุฒิและใบรับรองมาตรฐานอาชีพ ที่นี้ปลายทางของสถาบันฯ ที่จะทำต่อไป นั่นคือในอนาคตเขาสามารถนำใบคุณวุฒิไปเทียบเคียงการศึกษาได้ เพราะว่าภารกิจหลักของสถาบันฯ นั้น จะทำและให้ความสำคัญกับบุคคลที่ไม่มีวุฒิการศึกษา เพราะจริงๆ แล้วในบางสายงานคนที่เรียนจบปริญญาโท ปริญญาตรี แต่บางครั้งยังทำงานสู้ผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานไม่ได้เลย โดยในการประชุมในครั้งนี้นั้นมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มาประชุมในวันนี้หลายหน่วยงานด้วยกัน อาทิ สถาบันสิริกิต, ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร, ศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ, กรมหม่อนไหม, ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิในด้านของศิลปวัฒนธรรมไทย เป็นต้น“ ผู้อำนวยการสถาบันฯ กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.ปานเพชร ชินินทร อดีตรองอธิบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ผู้ริเริ่มโครงการฯ และ ผศ.ดร.วนิดา ฉินนะโสต หัวหน้าโครงการฯ จาก มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า อาชีพหัตถกรรมและการอนุรักษ์พื้นบ้านภูมิปัญญาไทยนั้น มีผลต่อรายได้ของคนไทยเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นถ้าบุคลกลุ่มนี้ฝึกอบรมเสร็จแล้วได้ใบรับรองอาชีพ ก็จะเป็นใบเบิกทางอย่างหนึ่งที่จะเป็นความภาคภูมิใจของเขา การมีใบรับรองนี้จะทำผู้ที่ได้รับมีความมั่นใจ นอกจากนี้หากนักศึกษาที่พ่อแม่มีอาชีพในกลุ่มสาขาอาชีพนี้ แล้วนักศึกษาเหล่านั้นรู้และสามารถทำจักสานได้ ทำเป็น ก็สามารถมาทดสอบในกรอบมาตรฐานอาชีพและสามารถนำหน่วยกิตเหล่านี้มาเทียบโอนในวิชาเรียนได้ ทั้งนี้สายงานที่จะจัดทำมาตรฐานอาชีพสาขาอนุรักษ์งานพื้นบ้านและศิลปะหัตกรรมนั้น ได้แก่ งานจักสาน งานเครื่องปั้น งานผ้าทอ งานเครื่องถม เป็นต้น

“สำหรับวิธีการในการดำเนินของเราคือเราจะต้องไปหาเกณฑ์มาตรฐานอาชีพก่อน อย่างเช่นตอนนี้ทาง ม.ราชมงคลธัญบุรีได้รับมอบหมายโครงการฯ นี้ ในการจัดทำมาตรฐานอาชีพอนุรักษ์พื้นบ้าน เราก็จะเขียนมาตรฐานอาชีพก่อน โดยให้เจ้าของอาชีพนั้นๆ เป็นคนบอกให้เจ้าของอาชีพเป็นคนเขียนมาตรฐาน และเจ้าของอาชีพเป็นคนออกข้อสอบ แล้วจัดการสอบโดยหน่วยงานที่เป็นหน่วยงานกลาง จึงจะเห็นได้ว่าขบวนการค่อนข้างจะโปร่งใสพอสมควรในการทำงาน เมื่อได้มาตรฐานอาชีพมาแล้ว เราก็ต้องไปหาหน่วยงานที่เป็นหน่วยงานกลางที่ไม่มีผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้นมารับรอง จากนั้นจึงออกใบวุฒิบัตรและใบรับรองได้”

ทั้งนี้เหล่าผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นคณะกรรมการที่เข้าร่วมในการหารือเพื่อจัดทำมาตรฐานสาขาอาชีพฯ นี้ ไม่ว่าจะเป็นคุณสุรภี โรจนวงศ์ นายกสมาคมการค้าส่งเสริมหัตกรรม, คุณหญิงอัจฉรา กะราลัย จากสถาบันสิริกิติ์, คุณประทีป มีศิลป์ จาก มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ต่างก็ให้ความเห็นว่าการสร้างมาตรฐานอาชีพ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความสามารถในอาชีพนั้นๆ ได้เข้ามาทดสอบความสามารถของตนเองว่าอยู่ในระดับใดนั้นถือว่ามีประโยชน์เป็นอย่างมาก ทั้งสำหรับเจ้าของอาชีพเอง หรือผู้ว่าจ้างในอนาคต ซึ่งต่อไปหากผู้ทดสอบมีใบรับรองหรือใบรับรองคุณวุฒิแล้วจะเป็นใบเบิกทางในขยายโอกาสในการประกอบอาชีพให้ไปได้ไกลและกว้างมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ผู้ว่าจ้างเองก็สะดวกในการคัดเลือกและว่าจ้างบุคลากรเข้าทำงานตามที่ต้องการได้อย่างเหมาะสม โดยนายจ้างสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลของผู้ที่มีความสามารถ ที่เป็นที่ต้องการของผู้ว่าจ้างได้ในเว็บไซต์ของทางสถาบันฯ ได้ ซึ่งคุณวุฒิและใบรับรองที่ได้จากสถาบันฯ นี้ ได้มาตรฐานสากล ช่วยเสริมสร้างทำให้ผู้ที่ได้ใบรับรองอาชีพฯ มั่นใจและสามารถเพิ่มโอกาสในการแข่งขันกับผู้ประกอบอาชีพในตลาดงานอาเซียนและประเทศอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี

จรัส ลีลาศิลป์/รายงาน

 

 

วันที่ 25/05/2557 เวลา 10:57 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

774

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน