ดันผู้ประกอบการไทยบุกเออีซี
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งเป้าที่จะลดต้นทุนโลจิสติกส์ภาคอุตสาหกรรมลงให้เหลือ 7% ภายใน 3-5 ปีจากนี้ โดยกำหนดให้มีการลดต้นทุนลงจากเดิมเฉลี่ยร้อยละ 2 ทุกปี โดยขณะที่อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลต้นทุนในปี 2556 คาดว่าจะสามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ลงเหลือ 8% ได้
โดยต้นทุนโลจิสติกส์ ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ต้นทุนการขนส่ง ต้นทุนการถือครองสินค้าคงคลังและคลังสินค้า และต้นทุนการบริหารจัดการ ซึ่งในส่วนของการขนส่งและบริหารจัดการของภาคอุตสาหกรรมนั้น นับว่ามีการจัดการที่ดี มีต้นทุนที่ต่ำ อยู่ที่ประมาณ 1.97% และ 0.79% ของยอดขายตามลำดับ แต่สำหรับต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าคงคลังมีสัดส่วนต้นทุนต่อยอดขาย 6.17% ซึ่งนับว่ายังสูงอยู่ ดังนั้น การลดต้นทุนส่วนนี้จึงเป็นเป้าหมายหลักของกระทรวงอุตสาหกรรม
ทั้งนี้หากพิจารณาเทียบเคียงข้อมูลดังกล่าวกับภาพรวมต้นทุนโลจิสติกส์ของทุกภาคส่วนทั้งประเทศ ในปี 2555 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ที่ 14.3% โดยแบ่งเป็นต้นทุนด้านการขนส่ง 7.1% การเก็บรักษาสินค้าคงคลัง 5.9% และการบริหารจัดการ 1.3% ก็ถือได้ว่าภาคอุตสาหกรรมมีการบริหารจัดการอยู่ในระดับที่น่าพอใจ มีส่วนช่วยให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพและมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดียิ่งขึ้น
นายปณิธาน จินดาภู อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า ในปีนี้ กพร.จะมุ่งเป้าไปที่การกระตุ้นและผลักดันให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงประโยชน์ของการใช้เครื่องมือวัดประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ ในการตรวจประเมินผลการดำเนินงานและการลดต้นทุนของสถานประกอบการ เพื่อเสริมสร้างความสามารถให้ภาคอุตสาหกรรมแข่งขัน และบุกตลาดต่างประเทศได้ในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการระดับ SMEs ที่มีมากกว่า 2 ล้านราย รวมถึงผู้ประกอบการในภาคเกษตรอุตสาหกรรม ที่มีความเกี่ยวพันถึงสินค้าวัตถุดิบจากภาคการเกษตร ให้บริหารจัดการโลจิสติกส์ได้ดียิ่งขึ้น
โดย กพร.ได้ผลักดันให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทย ในจังหวัดเขตเศรษฐกิจชายแดนสำคัญ เช่น แม่สอด หนองคาย สระแก้ว ขยายตลาดสู่ภูมิภาคในกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อาทิ เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ตามโครงการพัฒนาระบบการจัดโลจิสติกส์อุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจชายแดน โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการโลจิสติกส์ และนำไปใช้ประโยชน์ในการเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจของตน เกิดการลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าข้ามแดนในบริเวณเขตเศรษฐกิจชายแดนที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 4 ด้าน
นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักโลจิสติกส์ กพร. เปิดเผยว่า ประเทศเมียนมาร์ถือเป็นตลาดเป้าหมายที่สำคัญ แม้ว่าญี่ปุ่นที่ได้มีความร่วมมือกับเมียนมาร์ และมีบริษัทเอกชนของญี่ปุ่นเข้าไปลงทุน รวมถึงประเทศในเอเชียอีกหลายประเทศ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยก็ยังมีความได้เปรียบจากตำแหน่งที่ตั้ง
วันที่ 26/05/2557 เวลา 6:37 น.