โรงงานยาสูบก้าวสู่ปีที่ 76
อาจจะมีคำถามตัวโตๆ ที่หลายคนอยากถามเกี่ยวกับ “บุหรี่” และเกี่ยวกับ “โรงงานยาสูบ” เป็นคำถามที่ท้าทายและน่าค้นหาคำตอบว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับโรงงานยาสูบ หาก “บุหรี่” จะหมดไปในอนาคต จากแนวโน้มการรณรงค์ให้สูบบุหรี่น้อยลง และให้ผู้คนหันมาตระหนักถึงภัยของบุหรี่มากขึ้น
คำถามนี้ไม่เพียงแต่ท้าทายให้ผู้คนร่วมคิดหาคำตอบกับอนาคตของโรงงานยาสูบ แต่ยังเป็นคำถามที่ท้าทายผู้บริหารขององค์กรแห่งนี้อย่าง “ต่อศักดิ์ โชติมงคล” ผู้อำนวยการยาสูบ โรงงานยาสูบ อีกด้วย
เป็นคำถามที่น่าคิดในโอกาสครบรอบ 75 ปี และต้อนรับปีที่ 76 ของการสถาปนาโรงงานยาสูบ
ผู้อำนวยการยาสูบ “ต่อศักดิ์ โชติมงคล” ย้อนความถึง 75 ปีที่ผ่านมาของโรงงานยาสูบว่า เดินทางผ่านช่วงเวลาต่างๆ มาแล้ว 3 ยุค ได้แก่ ยุครวบรวมก่อตั้งสร้างความเป็นปึกแผ่น ยุคสร้างความรุ่งเรืองพัฒนาเคียงคู่ไทย และยุคเปลี่ยนแปลงแข่งขันทางธุรกิจ
“เราผ่านช่วงเวลาต่างๆ จนถึงวันนี้ วันที่เราเป็นองค์กรที่มีความมั่นคง สร้างรายได้ให้รัฐปีละกว่า 6 หมื่นล้านบาท นับจากนี้เราจะก้าวสู่ยุคที่ 4 เป็นยุคก้าวสู่การพัฒนาสู่ความยั่งยืน ที่เราจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาทั้งกระบวนการเพื่อวางรากฐาน สร้างความแข็งแกร่งตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ”
“ต้นน้ำ” ของยาสูบ คือ “ใบยาสูบ” ซึ่งมีกระบวนการพัฒนาเพื่อให้ได้ใบยาคุณภาพดี โดยมีแผนงานใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและแนวคิดใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ เช่น ร่วมกับ GISTDA หรือสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) นำเทคโนโลยีสารสนเทศผ่านระบบดาวเทียม เพื่อศึกษาว่าพื้นที่ใดเหมาะสมที่จะเพาะปลูกพืชพันธุ์ชนิดใด ไม่เพียงเท่านั้น เพราะเทคโนโลยีดังกล่าวยังจะครอบคลุมถึงระบบบริหารจัดการน้ำ ทั้งการขุดบ่อน้ำ การกักเก็บน้ำ เพื่อให้ชาวไร่ใบยามีน้ำใช้สำหรับเพาะปลูกอย่างเพียงพอตลอดทั้งปี
นอกจากนี้ได้สนับสนุนให้มีการคิดค้นและพัฒนาการปลูกใบยาสูบที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ไร้สารตกค้าง รักษาสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบ GAP (Good Agriculture Practices) ซึ่งกำหนดโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีตรงตามมาตรฐานที่กำหนด ให้เกษตรกรได้มีแนวทางการทำการเกษตรที่ดีและเหมาะสม มีการใช้ทรัพยากรที่เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดความยั่งยืนทางการเกษตรและไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีตรงตามมาตรฐาน
ส่วนอุตสาหกรรม “กลางน้ำ” ของยาสูบ คือ โรงงานผลิตยาสูบ ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานผลิตยาสูบทั้งหมด 3 โรงงาน และโรงอบใบยา 1 โรงงาน สถานีทดลองยาสูบ 1 แห่ง และสำนักงานยาสูบในส่วนภูมิภาคอีก 8 แห่ง โดยโรงอบใบยาของโรงงานยาสูบตั้งอยู่ที่ อ.เด่นชัย จ.แพร่ เป็นโรงอบใบยาขนาดใหญ่และมีเครื่องจักรจากประเทศอิตาลีที่ทันสมัยที่สุดในอาเซียน สามารถอบใบยาได้ถึง 28 ล้านกิโลกรัมต่อปี สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรปีละกว่า 500 ล้านบาท
“ภายในปี 2560 เรายังได้เตรียมความพร้อมที่จะย้ายโรงงานผลิตยาสูบจากคลองเตยทั้งหมดไปที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีแนวคิดของโรงงานอนุรักษ์พลังงานที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ร่วมด้วย เนื่องจากเราคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และในขณะเดียวกันเราก็สรรหาเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และสามารถบริหารต้นทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม”
สุดท้ายคือ การพัฒนากระบวนการ “ปลายน้ำ” คือ งานด้านการตลาด ซึ่งโรงงานยาสูบทำหน้าที่ดูแลร้านค้าส่งและร้านค้าปลีกกว่า 5 แสนครอบครัว
วันที่ 21/05/2557 เวลา 12:52 น.