กฎอัยการศึกบิ๊กตู่ประกาศฟ้าแลบ
“บิ๊กตู่” ออกโรงประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศสายฟ้าแลบ ป้องจลาจลนองเลือด สั่งยุบ ศอ.รส.-ผุด กอ.รส.แทน เรียกบิ๊ก ขรก.ทั่วประเทศรายงานตัว สั่งม็อบ กปปส.-นปช.อยู่ในที่ตั้งห้ามเคลื่อน ห้ามสื่อแพร่ข่าวยั่วยุขัดแย้ง จอดำทีวี 10 ช่อง เอเชียอัพเดท-บลูสกาย-เอเอสทีวีโดนถ้วนหน้า ลั่นทำจนกว่าบ้านเมืองสงบ จี้ทุกฝ่ายหยุดยั่วยุ วอนร่วมมือหาทางออกชาติ เตรียมเรียกม็อบแดง-กปปส.เจรจา ลั่นไม่จบไม่เกษียณ ไม่ตอบคำถามปฏิวัติ ด้าน “รมต.พท.” ซุกตัวเงียบเซฟเฮาส์ ถกเครียดประเมินสถานการณ์กฎอัยการศึก ส่วน “นิวัฒน์ธำรง” ดักคอบิ๊กตู่ใช้กฎอัยการศึก เสมอภาคทุกฝ่ายไม่เลือกปฏิบัติ ตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม ขณะที่ “ทักษิณ” ทวีตอัดกฎอัยการศึกบ่อนทำลาย ปชต. ด้าน “ม็อบ กปปส.-เสื้อแดง” ลั่นปักหลักชุมนุมไม่ถอย
“ประยุทธ์” ประกาศกฎอัยการศึก
วันที่ 20 พ.ค. เมื่อเวลา 06.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ อ่านประกาศกองทัพบก ฉบับที่ 1/2557 เรื่องการประกาศใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 (ททบ.5) ว่า ตามสถานการณ์ที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมหลายกลุ่มได้ทำการชุมนุมประท้วงในพื้นที่ กทม. เขตปริมณฑล ตลอดจนพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ และมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีสร้างสถานการณ์ความรุนแรงด้วยการใช้อาวุธต่อประชาชนและสถานที่สำคัญอย่างกว้างขวาง เป็นผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดเหตุการณ์จลาจล และความไม่สงบเรียบร้อยอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่อันกระทบต่อความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวมนั้น
แจงป้องจลาจลนองเลือด
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เพื่อให้การรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและนำความสงบสุขกลับคืนสู่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายโดยเร็ว จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 2 และมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ประกาศใช้ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.2557 เวลา 03.00 น. เป็นต้นไป กองทัพบกมุ่งหวังที่จะนำพาความสงบเรียบร้อยกลับมาสู่บ้านเมืองอันเป็นที่รักยิ่งของคนไทยทุกคนโดยเร็วที่สุด ขอให้ทุกพวกทุกฝ่ายหยุดการเคลื่อนไหวเพื่อเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาของชาติอย่างยั่งยืนโดยเร็ว อำนาจตามความในมาตราต่างๆ ของ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 นั้นจะแจ้งให้ทราบโดยทั่วกันขอให้ประชาชนทั่วไปอย่าตื่นตระหนก ยังคงทำหน้าที่ปฏิบัติงานได้ตามปกติทุกประการ กองทัพบกมุ่งหวังที่จะให้สถานการณ์คลี่คลายลงได้โดยเร็ว
ตั้ง กอ.รส.-ยุบ ศอ.รส.
จากนั้นกองทัพบกได้ออกประกาศฉบับที่ 2/2557 เรื่องการจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) โดยมีผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้อำนวยการ มีหน้าที่ป้องกันระงับ ยับยั้ง และแก้ไขสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความสงบและความมั่นคงของประเทศ มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายทุกมาตราใน พ.ร.บ.กฎอัยการศึก และมีอำนาจเชิญบุคคลมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ ยุติการปฏิบัติหน้าที่ของศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กระทรวงมหาดไทย และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ส่งมอบกำลังในอัตราให้ขึ้นควบคุมทางยุทธการกับ กอ.รส.เมื่อได้รับคำสั่ง
กอ.รส.ออกคำสั่ง 6 ฉบับรวด
ต่อมากองอำนวยการรักษาความสงบ (กอ.รส.) ได้ออกคำสั่งอีก 6 ฉบับ โดยฉบับที่ 1 ให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แพร่ภาพ ททบ.เมื่อ กอ.รส.สั่ง ฉบับที่ 2 ให้ชุมนุมอยู่ในพื้นที่ที่กำหนดด้วยความสงบ กลุ่ม กปปส.และมวลชนสนับสนุนให้ชุมนุม ถนนราชดำเนิน และศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ส่วนกลุ่ม นปช.และมวลชนสนับสนุนให้ชุมนุมที่ถนนอุทยาน (ถนนอักษะ) ฉบับที่ 3 ห้ามการเสนอข่าว แจกจ่าย จำหน่ายสิ่งพิมพ์ที่ส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ฉบับที่ 4 เชิญบุคคลสำคัญ ประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด เข้าพบในช่วงเวลา 14.00 น. วันที่ 20 พ.ค.นี้ ฉบับที่ 5 แต่งตั้งคณะที่ปรึกษา กอ.รส. ประกอบไปด้วย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ผู้บัญชาการทหารเรือ, ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฉบับที่ 6 ขอความร่วมมือระงับการถ่ายทอดออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม และสถานีวิทยุชุมชน เพื่อให้การเผยแพร่ข่าวสารเป็นไปด้วยความถูกต้อง ประกอบด้วย 1.สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม เอ็มวี 5 2.สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมดีเอ็นเอ็น 3.สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ยูดีดี 4.สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม เอเชียอัพเดท 5.สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพีแอนด์พี 6.สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมโฟร์แชนแนล 7.สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมบลูสกาย 8.สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเอฟเอ็มทีวี 9.สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ทีนิวส์ 10.สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม เอเอสทีวี และ 11.สถานีวิทยุชุมชนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดขึ้นตามกฏหมายที่กำหนด ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
ประชุมชี้แจง ขรก.ระดับสูง
ต่อมาที่สโมสรทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะประธาน กอ.รส. เดินทางมาเป็นประธานการประชุมและชี้แจงแนวทางการทำงานต่อข้าราชการระดับสูง และหัวหน้าส่วนราชการหลังจากประกาศกฎอัยการศึก โดยหัวหน้าส่วนราชการและผู้บริหารระดับสูงที่เข้าร่วมประชุมและรายงานตัว อาทิ นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) น.พ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าฯ นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกฯ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ฯลฯ
แจงใช้อัยการศึกเพื่อความมั่นคง
ภายหลังการหารือ พล.อ.ประยุทธ์ แถลงว่า ทางกองทัพมีความจำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกเพื่อความมั่นคงของประเทศ แต่ยืนยันว่ามีการบังคับใช้เพียงบางมาตราเท่านั้นที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ส่วนมาตราอื่นๆ อีกหลายมาตราจะพยายามไม่นำมาใช้บังคับ ทั้งนี้ เพื่อไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบในวงกว้างและสร้างปัญหาต่อไปในอนาคต แต่ยังไม่สามารถระบุกรอบเวลาในการบังคับใช้กฎอัยการศึกได้ว่าจะใช้ไปอีกนานเท่าใด โดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 3-6 เดือน หากสถานการณ์สงบเรียบร้อยเมื่อใดก็จะยกเลิกประกาศดังกล่าว ขอให้ข้าราชการทุกคน ภาคประชาสังคม ได้ร่วมมือกันสนับสนุนการแก้ปัญหาไปให้ได้โดยเร็ว พวกเราจะพยายามรักษาสถานภาพนี้ไปสู่จุดนั้นโดยเร็ว อย่ามาถามว่าจะใช้ไปนานหรือไม่นาน ขอให้บ้านเมืองสงบปลอดภัย เพราะไม่มีใครอยากประกาศไว้นาน ขอให้หาทางออกได้โดยเร็วทุกฝ่าย ยืนยันว่าพวกเรามีความตั้งใจอันดีที่จะทำให้ชาติบ้านเมืองเดินไปข้างหน้า ขอให้ข้าราชการประจำทุกหน่วยงานปฏิบัติงานไปตามปกติ โดยไม่ต้องกังวลใดๆ เกี่ยวกับการประกาศใช้กฎอัยการศึกในครั้งนี้ โดยยืนยันว่าทุกอย่างยังสามารถดำเนินการไปตามปกติ และทหารจะพยายามละเมิดสิทธิมนุษยชนให้น้อยที่สุด หรือทำให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด ขณะที่เรื่องการประกาศเคอร์ฟิวยังไม่มีการพิจารณาแต่อย่างใด
ลั่นไม่ยอมมีนองเลือดบนแผ่นดินไทย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า จะไม่ยอมให้เกิดการนองเลือดขึ้นบนแผ่นดินไทยอย่างแน่นอน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเชิญคู่ขัดแย้งทางการเมืองและฝ่ายต่างๆ มาเจรจาหารือกัน เพราะถือว่าอยู่ในกระบวนการที่จะต้องดำเนินการในการหาทางออกร่วมกัน พร้อมเห็นทุกฝ่ายควรจะหยุดการกระทำใดๆ ที่จะนำไปสู่การยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง เพราะตราบใดที่ยังมีการกระทำในลักษณะนี้อยู่ก็จะไม่สามารถมาเจรจากันได้ ส่วน กปปส. และ นปช. ก็ขอให้ชุมนุมโดยสงบ โดยจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งกำลังดำเนินการเรียกทุกฝ่ายเข้ามาเจรจา และวันนี้เราจะเริ่มนับหนึ่งใหม่เพื่อให้บ้านเมืองสงบ โดยไม่มองถึงอดีต ส่วนสื่อหลายช่องที่สั่งระงับการออกอากาศนั้นต้องขออภัย เนื่องจากมีความจำเป็น เกรงว่าข้อมูลข่าวสารอาจถูกบิดเบือน ตราบใดที่ไม่สงบ ยังมีการเคลื่อนไหวยุยงปลุกปั่น สร้างภาพให้เกิดความรุนแรงขึ้นก็จะพูดกันไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายต้องหยุดก่อน ไม่เช่นนั้นพูดกันไม่รู้เรื่อง ส่วนเรื่องนายกรัฐมนตรีมาตรา 7 ไม่ได้มีการกล่าวถึงในที่ประชุม แต่หากทำต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ทหารจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว เมื่อถามว่า ภายหลังจากการประกาศกฎอัยการศึกแล้วจะมีการทำรัฐประหารอีกหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพียงว่า คำถามดังกล่าวเป็นคำถามที่ไม่สามารถมีผู้ตอบได้ สำหรับการรายงานให้รัฐบาลทราบหลังประกาศใช้กฎอัยการศึกนั้น ขณะนี้รัฐบาลอยู่ไหนไม่ทราบ อย่างไรก็ตามขอให้เป็นกำลังใจทหารตำรวจในการทำงานด้วย
ลั่นขัดแย้งไม่จบไม่เกษียณ
รายงานข่าวจากที่ประชุมแจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ระบุถึงเหตุผลในการประกาศกฎอัยการศึกว่า เพื่อสร้างเสถียรภาพและความปลอดภัยของประเทศ มิใช่สร้างเสถียรภาพของรัฐบาล โดยต่อจากนี้ทหารและตำรวจต้องเลิกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย คนไทยทุกคนต้องเป็นคนไทย และหากมีการต่อสู้ หรือใช้อาวุธร้ายแรง ทางเจ้าหน้าที่จะมีการตอบโต้อย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ กอ.รส.ได้จัดชุดเฉพาะกิจเพื่อจับกุมตัวผู้ใช้อาวุธสงครามแล้ว ทั้งนี้ในระหว่างการหารือ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงบทบาทของกระทรวงมหาดไทยว่า ขอให้อย่านำกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรืออาสาสมัครใดๆ เข้ามาสร้างเงื่อนไขความรุนแรงเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าไม่สามารถต่อกรกับกองกำลังทหารที่ทำหน้าที่รักษาความเรียบร้อยอยู่ได้ นอกจากนี้ยังได้กล่าวตำหนิบทบาทของ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ที่ออกแถลงการณ์หลายฉบับ และข่มขู่ที่ฟ้องคดีต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล โดยเฉพากรณีที่ดีเอสไอฟ้อง นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในข้อหากบฏ “อธิบดีดีเอสไออยู่ไหม มาหรือเปล่า ธาริตอยู่ไหม พอได้แล้ว หยุดได้แล้ว เละกันไปหมดแล้ว หรือถ้าจะฟ้อง ก็ฟ้องผมสิ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวจบพร้อมเสียงหัวเราะของผู้ร่วมประชุม อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้พูดถึงการตั้งรัฐบาลใหม่แต่อย่างใด โดยกล่าวเพียงว่า “ผมขอให้ทุกท่านปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายให้ดีที่สุด ถ้าทำไม่ได้ อาจต้องมีตัวช่วยหรือเปล่า และเรื่องความขัดแย้งนี้ต้องจบ หากไม่จบ ผมไม่เกษียณ”
แฉทหารเคลื่อนพลกลางดึก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศกฎอัยการศึก ตั้งแต่เวลา 23.30 น. ของวันที่ 19 พ.ค. ทางกองทัพบกได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ตามจุดตรวจความมั่นคง และประจำจุดเฝ้าระวังในสถานที่สำคัญ ถอนกำลังและรื้อถอนบังเกอร์ กลับ ณ ที่ตั้งหน่วยทหาร จะเหลือเพียงบางจุดที่อยู่ใกล้กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.ตรงข้ามวัดมงกุฎกษัตริยาราม และวัดโสมนัสราชวรวิหาร เพื่อดูแลความปลอดภัยเท่านั้น จนกระทั่งเวลา 01.30 น วันที่ 20 พ.ค. ทาง พ.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ผบ.ร.11 รอ.) ได้มีคำสั่งด่วนเรียกรวมพลภายใน ร.11 รอ. โดยผู้บังคับกองพันได้แจ้งไปยังผู้ใต้บังคับบัญชาพร้อมแจ้งรหัส “ออกมาแสดงพลัง” ให้เตรียมพร้อมออกปฏิบัติหน้าที่ในทันที
ส่งกำลังทหารบุกทีวี
จากนั้น เวลา 02.30 น. ได้มีกำลังทหารหลายชุด ชุดละ 30 นาย พร้อมอาวุธประจำกาย เข้าไปยังสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ โดยแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ขอเชื่อมต่อสัญญาณจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เพื่อถ่ายทอดการประกาศกฎอัยการศึกในเวลา 06.30 น. และในเวลา 03.00 น. มีการนำคำสั่งกองทัพบกเรื่องประกาศกฎอัยการศึกลงทางโซเชียลมีเดีย โดยมีความพยายามตรวจสอบข่าวดังกล่าวว่าเป็นเอกสารจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม มีรายงานด้วยว่าเมื่อเวลา 05.00 น. มีกำลังทหารเข้าปิดทางด่วนขาเข้าทุกเส้นทางที่จะมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพมหานคร และได้มีการเปิดเส้นทางจราจรในเวลา 08.30 น. ให้รถสัญจรไปมาตามปกติ รวมทั้งมีกำลังทหารได้เข้าควบคุมพื้นที่สถานีถ่ายทอดสัญญาณดาวเทียมไทยคม อ.ลาดหลุมแก้ว และด้านหน้ากองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ทางต่างระดับลำลูกกา จนกระทั่งเวลา 06.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ ได้อ่านประกาศกฎอัยการศึกผ่านทางโทรทัศน์สถานีทุกช่อง
ตร.ถอนกำลังออกจาก “ศอ.รส.”
สำหรับบรรยากาศที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ภายในสโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดี ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของ ศอ.รส. ได้มีกำลังทหารเข้ามาประจำการบริเวณด้านหน้าทางเข้าสโมสรตำรวจ ตั้งแต่เวลา 03.00 น. กลางดึกที่ผ่านมา โดยประตูทางเข้าด้านหน้าได้ถูกปิดไม่ให้เข้า-ออก ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาประจำการที่ ศอ.รส.จากจังหวัดต่างๆ จำนวน 17 กองร้อยนั้น ได้ทยอยเก็บข้าวของเพื่อถอนกำลังกลับไปยังที่ตั้ง อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมาไม่มีคณะทำงานของ ศอ.รส.เดินทางเข้ามาทำงานหรือประชุมแต่อย่างใด เนื่องจาก ศอ.รส.ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง หลังมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกจากกองทัพ ขณะที่กองร้อยควบคุมฝูงชนที่ถูกระดมมากจากต่างจังหวัดได้เก็บข้าวของสัมภาระใส่กระเป๋าเดินทางทยอยเดินลงมาจากที่พักชั้นดาดฟ้าอาคาร บช.น.และพื้นที่ด้านหลังวังปารุสกวันด้วยสีหน้ายิ้มแย้มดีใจที่จะได้เดินทางกลับบ้านกลับต้นสังกัดหลังจากถูกเกณฑ์เข้า กทม.สลับสับเปลี่ยนกันปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยการชุมนุมทางการเมืองยาวนานกว่า 7 เดือน โดยต่างขึ้นรถตู้ตำรวจที่จัดเตรียมพร้อมออกบริเวณลานอเนกประสงค์กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน บช.น. โดยทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากให้ทุกอย่างจบลงโดยเร็ว คิดถึงครอบครัว และดีใจที่ได้กลับบ้าน
“นิวัฒน์ธำรง” เรียกถกด่วน รมต.
ส่วนความเคลื่อนไหวของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี เมื่อเวลา 08.30 น. ได้เรียกประชุม ประกอบด้วยนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา หารือที่เซฟเฮ้าส์แห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร เป็นการด่วน เพื่อประเมินสถานการณ์ภาพรวมภายหลังมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกและแนวทางการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีรักษาการ ขณะที่รัฐมนตรีคนอื่นๆ นายนิวัฒน์ธำรงได้มีการพูดคุยประสานผ่านทางโทรศัพท์ ขณะที่นายสุรนันทน์ เปิดเผยว่า เป็นการหารืออย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งภายหลังการประชุมอาจมีการออกแถลงการณ์ถึงแนวทางการดำเนินการของรัฐบาล หลังมีการประกาศกฎอัยการศึก
วอนทหารไม่เลือกปฏิบัติ
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่มีประกาศกองทัพบก เรื่องการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และนำความสงบสุขกลับคืนสู่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายโดยเร็วนั้น รัฐบาลก็มีความมุ่งหวังที่จะเห็นความสงบเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน โดยการดำเนินการจำเป็นต้องเป็นไปตามแนวทางสันติ ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่เลือกปฏิบัติ และให้มีความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้หลักนิติรัฐ นิติธรรม ซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง การดำเนินการของกองทัพบกดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
“ชัยเกษม” ยันรัฐบาลยังคุม
ด้านนายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศใช้กฎอัยการศึกเองก็ดี แต่ยังต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาล เพียงแต่มีอำนาจมากกว่าฝ่ายพลเรือน เพราะปกติคนที่จะประกาศใช้กฎอัยการศึกได้จะมีผู้บังคับบัญชาของทหาร รวมถึง รมว.กลาโหม และนายกรัฐมนตรีด้วยที่ถือเป็นผู้บังคับบัญชาทหารเหมือนกัน และเมื่อประกาศใช้แล้ว ผบ.ทบ.ต้องรายงานรัฐบาล ซึ่งต้องดูว่าหลังประกาศใช้กฎอัยการศึกแล้วจะทำอย่างไรต่อไป ส่วนเหตุที่ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจประกาศใช้กฎอัยการศึกอาจเป็นเพราะกลุ่ม กปปส.มีการเคลื่อนไหวใหญ่ไปยังที่ต่างๆ เกินว่าจะเกิดความรุนแรง ขณะที่นายนิวัฒน์ธำรงยังไม่มีการเรียกประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถ้าจะมีการพูดคุยคงแบบไม่เป็นทางการ กับตนทางนายนิวัฒน์ธำรง ก็สั่งแค่ให้สแตนด์บายไว้
“นิพัทธ์” อยู่พม่าเครียด
มีรายงานว่า พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้เดินทางไปประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 พ.ค. โดยมีกำหนดการเดินทางกลับในวันที่ 20 พ.ค. ทั้งนี้ มีรายงานว่าในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเชียนโดยประเทศพม่าเป็นเจ้าภาพการประชุมว่า พล.อ.เตีย บัน รองนายกฯ และ รมว.กลาโหมพม่า ที่เดินทางเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนได้แสดงความเห็นกรณี พล.อ.ประยุทธ์ประกาศกฎอัยการศึกว่า น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้สถานการณ์ในเมืองไทยดีขึ้น เเละเชื่อว่าการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นแนวทางที่ทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ซึ่งหลายประเทศในอาเซียนคาดหวังที่จะเห็นประเทศไทยกลับคืนสู่ความสงบและไม่มีใครอยากเห็นความวุ่นวายเกิดขึ้นหรือเกิดเหตุการณ์นองเลือดอีก ขณะที่ พล.อ.นิพัทธ์ซึ่งเดินทางเข้าร่วมประชุมด้วยในฐานะตัวแทนรัฐมนตรีกลาโหมไทย มีสีหน้าเคร่งเครียดหลังทราบข่าวว่าประเทศไทยมีการประกาศกฎอัยการศึก
“ทักษิณ” ทวีตอัดกฎอัยการศึก
ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เขียนข้อความในทวิตเตอร์ ภายหลังมีการใช้กฎอัยการศึกโดยผู้บัญชาการกองทัพบก โดยระบุว่าการประกาศกฎอัยการศึกถือเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้สำหรับผู้ติดตามสถานการณ์การเมืองไทยตลอดช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม หวังว่าจะไม่มีฝ่ายใดก่อให้เกิดการลิดรอนสิทธิมนุษยชน และบ่อนทำลายกระบวนการทางประชาธิปไตยมากยิ่งไปกว่านี้ ซึ่งยิ่งซ้ำเติมให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยถูกบ่อนทำลายในสายตาของชาวโลก
“มาร์ค” แนะอัยการศึกทำเท่าที่จำเป็น
ต่อมาเวลา 15.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ค “Abisit Vejjajiva” ระบุว่า ในที่สุดกองทัพบกก็ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก เพื่อเป็นเครื่องมือในการคลี่คลายปัญหาหลังจากที่หลายฝ่ายแสดงความวิตกกังวลว่าสถานการณ์ความขัดแย้งจะลุกลามบานปลาย ท่ามกลางความล้มเหลวในการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงและความชะงักงันในการแก้ปัญหาการเมือง แม้ยังไม่มีความชัดเจนว่าอะไรจะเกิดขึ้นจากนี้ แต่ขอแสดงความคิดเห็นเบื้องต้นดังนี้ 1.การดำเนินการใดๆ ในกรอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายเพื่อป้องกันและระงับความสูญเสียชีวิตของประชาชนและเพื่อรักษาความสงบสุขเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายควรร่วมมือและสนับสนุน 2.การใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกต้องทำเท่าที่จำเป็นเพื่อความมั่นคง ไม่ใช่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายใด 3.การใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกอาจแก้ปัญหาความไม่สงบเฉพาะหน้าได้ แต่การแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ยั่งยืน ก็ยังหนีไม่พ้นการหาคำตอบทางการเมืองที่ลำพังฝ่ายความมั่นคงไม่สามารถกระทำได้ จึงเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่จะต้องมีส่วนร่วมต่อไป สำหรับพรรคประชาธิปัตย์จะได้ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อกำหนดท่าทีในวันที่ 21 พ.ค.
กปปส.ปักหลักรอดูสถานการณ์
ส่วนบรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) หน้าองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ได้เรียกแกนนำประชุมประเมินสถานการณ์ที่บริเวณข้างเวที ภายหลังมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ จากนั้นนายสุเทพและแกนนำได้เดินไปประชุมต่อที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยนายสุเทพมีสีหน้ายิ้มแย้ม และไม่มีการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามแกนนำ กปปส.มีมติยอมคืนพื้นที่ตึกสันติไมตรีให้ทหาร แต่ยังเดินหน้าเคลื่อนไหวปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง พร้อมใช้เฟซบุ๊คเป็นเครื่องมือแจ้งข่าวสาร กปปส.โดยก่อนหน้านี้นายสุเทพก็ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว “Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)” รวม 4 ข้อว่าสืบเนื่องจากการประกาศกฎอัยการศึก จึงขอให้ประชาชนที่ชุมนุมอยู่ในที่ตั้งและของดเดินขบวนในวันนี้ พร้อมทั้งเรียกร้องไปยังวุฒิสภาให้รีบเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว ส่วนเวทีปราศรัยของ กปปส.ยังเปิดตลอด 24 ชั่วโมง เพราะประชาชนยังมีความจำเป็นจะต้องเป็นผู้กำหนดทิศทางประเทศไทยภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ
ย้ำปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค ระบุว่า “การชุมนุมยังคงดำเนินการต่อไปตามเป้าหมายเดิมเพื่อการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ขณะนี้กำลังกำหนดกิจกรรมที่จะดำเนินการภายใต้กฎอัยการศึกและช่องทางการสื่อสารกับมวลมหาประชาชน การปราศรัยบนเวทีจะคงความเข้มข้นเหมือนเดิม แกนนำทุกคนยังปักหลักชุมนุมพร้อมมวลชนและจะมีการผลัดคิวปราศรัยบนเวทีตลอดทั้งวัน และคืนนี้ลุงกำนัน (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.) ก็จะพบกับมวลมหาประชาชนบนเวทีหน้ายูเอ็นเช่นเดิมครับ”
ทหารเข้าคุมพื้นที่ถ.อักษะ
ส่วนบรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ถนนอักษะ ย่านพุทธมณฑล ตั้งแต่ช่วงเช้า มีกำลังทหารเข้ามาประจำการอยู่บริเวณทางเข้า-ออกที่ชุมนุม ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ถอนตัวออกจากพื้นที่ มีเพียงการตั้งด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ทหารและการ์ด นปช.อย่างเข้มงวด ขณะที่ผู้ชุมนุมได้ทำภารกิจส่วนตัว พักผ่อนภายในเต็นท์ ร่มไม้ และได้จับกลุ่มติดตามสถานการณ์ ส่วนบนเวทีก็ได้มีการแสดงดนตรี ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
“ตู่” ยันปักหลักชุมนุมต่อ
ต่อมา นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. แถลงว่า หลังจากที่มีการประกาศกฎอัยการศึก แกนนำ นปช.ได้มีการติดตามสถานการณ์และปรึกษาหารือร่วมกัน เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศชัดเจนแล้วว่า การประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการปฏิวัติ ดังนั้นถือว่ารัฐธรรมนูญอยู่ครบ รัฐบาลยังอยู่ เพียงแต่มีการยุบ ศอ.รสเท่านั้น ซึ่ง นปช.ยืนยันจุดยืนเดิมไม่เปลี่ยน ยึดหลักตามระบอบประชาธิปไตย เมื่อการประกาศครั้งนี้ไม่มีการฉีกรัฐธรรมนูญ เรายังคงเดินหน้าเรื่องการเลือกตั้งให้มีนายกฯ ต่อไป โดยจะไม่มีช่องทางอื่นในการตั้งนายกฯ มาตรา 7 ขึ้นมาได้ และยืนยันว่า นปช.จะยังปักหลักการชุมนุมในพื้นที่อักษะเป็นฐานที่มั่นไม่มีการเคลื่อนไหวออกนอกพื้นที่ การประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้ ยังไม่ถึงขั้นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะการเปลี่ยนแปลงการปกครองจะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ 1.การก้าวไปสู่รัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ 2.การตั้งนายกฯ โดยไม่ยึดหลักกฎหมาย การได้มาโดยไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ นปช.จะขอติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่หากมีการก้าวสู่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตย หรือรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ คนเสื้อแดงจะไม่ยอม จะสู้จนถึงที่สุด เพราะเรามีหน้าที่รักษาระบอบประชาธิปไตย แต่หากทุกอย่างคลี่คลายจบด้วยระบอบประชาธิปไตย เราก็พร้อมที่จะยุติการชุมนุม
ลั่นขวางนายกฯ เถื่อน-ปฏิวัติ
ด้าน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. กล่าวว่า การประกาศกฎอัยการศึก เมื่อไม่ขัดต่อหลักการของ นปช. คือ ไม่รัฐประหาร ไม่มีนายกฯ นอกกฎหมาย การชุมนุมก็ยังคงอยู่พื้นที่นี้ และไม่มีแนวความคิดที่จะยุติการชุมนุมภายใต้กฎอัยการศึกนี้ แต่หากปรากฏแน่ชัดว่ามีการรัฐประหาร เราจะต่อสู้ถึงที่สุดทันทีทั่วประเทศ ทั้งนี้ขอเรียกร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ถ้าเป็นเจนตนาบริสุทธิ์ คลี่คลายความขัดแย้ง ต้องเปิดเผยและโปร่งใส ไม่ให้มีพฤติการณ์นอกระบบ เช่น ติดตาม คุกคามแกนนำนปช. ทั้งในส่วนกลางหรือต่างจังหวัด พวกตนจะตรวจสอบ ถ้ามีปรากฏการณ์อย่างนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องอธิบาย กฎอัยการศึกมีอำนาจทำได้ แต่ถ้าจะคลี่คลายสถานการณ์ไม่จำเป็นต้องทำขนาดนี้ และ นปช.จะติดตามการปฏิบัติ นปช.กับเวที กปปส. ถ้าหากมีคำสั่งข้อกำหนดใดที่ต้องปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติให้เหมือนกันหรือเท่าเทียมกัน กฎอัยการศึกมีคำว่า 2 มาตรฐานไม่ได้ ทั้งนี้การต่อสู้ของ นปช.ไม่เคยหวังพึ่งกองทัพ คนประกาศก็ต้องรับผิดชอบและนำพาบ้านเมืองออกจากวิกฤติให้ได้ คือเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง เป็นความรับผิดของกองทัพโดยสมบูรณ์ เราก็จะติดตามสถานการณ์ หากมีการตั้งนายกฯ คนกลางถึงแม้จะมีความใกล้ชิดกับขั้นเดิม รัฐบาล และพวกตนก็ไม่รับ เราไม่คิดหาประโยชน์กับการประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้
วันที่ 21/05/2557 เวลา 5:34 น.