ท้าทายเสาการเมืองอาเซียน
อาเซียนจะมีท่าทีอย่างไรต่อเหตุการณ์ซึ่งประชาชนเวียดนามจำนวนมากแสดงความไม่พอใจต่อการเดินหน้าสร้างแท่นขุดเจาะน้ำมันในทะเลบริเวณที่มีข้อพิพาท จะปล่อยให้เรื่องนี้เป็นกิจการภายในของเวียดนาม หรือในฐานะที่เราเป็นประชาคมอาเซียนเราควรนำเรื่องนี้มาพิจารณากันอย่างจริงจัง
เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายขึ้นในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดบิ่งเยือง และเขตเศรษฐกิจหวงอ๊าง จังหวัดห๋าติ๋งห์ ประเทศเวียดนาม เพื่อต้องการชุมนุมประท้วงรัฐบาลจีนที่ตัดสินใจเดินหน้าโครงการสร้างแท่นขุดเจาะน้ำมันไหหยาง ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะและไหล่ทวีปของเวียดนาม จนนำไปสู่การมีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจำนวนกว่า 100 คน เป้าหมายพุ่งไปที่โรงงานของคนจีน อย่างไรก็ตามพบว่าแรงงานชาวไต้หวันจำนวนมากก็ได้รับบาดเจ็บไปด้วย
ทันทีที่สถานการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น รัฐบาลจีนได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลเวียดนามดำเนินการให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติและเรียกร้องให้จ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนั้นยังออกคำเตือนนักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางมาเวียดนามให้พิจารณาอย่างรอบคอบ และขอให้เวียดนามอย่าทดสอบขีดจำกัดความอดทนของจีน
วิเคราะห์กันไปตามข้อมูลรัฐบาลจีนย่อมทราบดีว่าปฏิกิริยาตอบโต้จากประชาชนชาวเวียดนามจะเป็นอย่างไรหากมีการเดินหน้าโครงการขุดเจาะในทะเลบริเวณที่มีข้อพิพาท เพราะตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2557 ชาวเวียดนามจำนวนมากก็เคลื่อนไหวแสดงออกคัดค้านซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มากในสังคมเวียดนาม หากรัฐบาลจีนเล็งเห็นได้ว่าโอกาสเกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั้งสองประเทศจะเกิดขึ้น การเดินหน้าโครงการจึงต้องหยุดหรือให้มีการชะลอ แต่รัฐบาลจีนกลับเดินหน้าเรื่องนี้จึงเป็นสัญญาณอันตรายและสร้างความวิตกให้แก่การลงทุนทั้งภูมิภาค
สำหรับผู้ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งนี้มาอย่างต่อเนื่อง ก็คงไม่แปลกใจเพราะข้อพิพาทในทะเลทางฝั่งตะวันออกของเวียดนามไม่ใช่กรณีใหม่ ตรงกันข้ามนี้คือความขัดแย้งที่ฝังรากลึก พิจารณากันจากข้อมูลตลอดจนหลายปีที่ผ่านมา ทั้งสองรัฐบาลยังไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันเกี่ยวกับพื้นที่พิพาท นอกจากนั้นเหตุการณ์ปะทะกันในบริเวณอ้างสิทธิ์ก็มีอยู่ตลอดทั้งปี ใหญ่บ้างเล็กบ้าง ยุทโธปกรณ์การปกป้องพื้นที่ทางทะเลของกองทัพเวียดนามได้รับงบประมาณจากรัฐบาลมาพัฒนาอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นฝูงบินขับไล่ กองเรือดำน้ำ ไม่รวมเรือตรวจการและการเพิ่มกำลังพล
ในมุมของการปรับสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติเชื่อมั่นว่ารัฐบาลเวียดนามสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว แม้แต่การจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหาย แต่สถานการณ์นี้จะไม่เป็นปกติอยู่ต่อไปตราบเท่าที่รัฐบาลจีนยังมีนโยบายยืนกระต่ายขาเดียวในการเข้าสร้างแท่นขุดเจาะโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ และจะยิ่งเร่งให้ทางเลือกของการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเหลือน้อยลง เพราะล่าสุดโจทย์ของความขัดแย้งในพื้นที่พิพาททางทะเลในบริเวณเดียวกันคือประเทศฟิลิปปินส์ ก็มีประชาชนออกมาเรียกร้องให้จีนถอนกำลังและหยุดการดำเนินโครงการในบริเวณพิพาท ซึ่งไม่ใช่ข้อเสนอเพียงเพราะเป็นห่วงหรือมีความความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเวียดนามในประชาคมอาเซียน แต่เพราะฟิลิปปินส์ก็มีข้อพิพาททางทะเลบริเวณหมู่เกาะสเปรตลีย์ หากจีนมีนโยบายเช่นนี้กับเวียดนาม จีนก็สามารถดำเนินการเช่นนี้กับฟิลิปปินส์ได้เช่นเดียวกัน
พื้นที่และอาณาเขตของประเทศเป็นประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน ชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ไม่ได้เป็นการสูญเสียเฉพาะพื้นที่แต่นั้นหมายถึงการเสียเกียรติภูมิ ฉะนั้นไม่ว่าประเทศจะมีแสนยานุภาพไม่มากหรือขนาดเศรษฐกิจที่เล็กกว่า หากถูกรุกล้ำหรือไม่เคารพกัน ทุกประเทศก็ต้องออกมาปกป้องศักดิ์ศรีอย่างเต็มกำลัง สุดท้ายทางเลือกที่เรียกว่าสงครามคงหลีกไม่พ้น
อันที่จริงกลไกทางการทูตในเรื่องข้อพิพาททางทะเลระหว่างเวียดนามและจีนนี้ถูกตั้งขึ้นและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่ในเมื่อจุดร่วมไม่ตรงกันทางออกจึงยังไม่มี อย่างไรก็ตามเรื่องนี้กลไกสำคัญในการหาทางออกอีกช่องทางหนึ่งคือ ประชาคมอาเซียน กฎบัตรอาเซียนระบุไว้ชัดเจนว่า ปลายทางเราจะร่วมมือกันสร้างภูมิภาคให้เป็นพื้นที่ซึ่งอยู่กันอย่างสันติและมีความสุข
เรื่องหนึ่งคือ การระงับข้อพิพาทระหว่างกัน เรื่องหนึ่งคือ การช่วยเหลือกันเพื่อหาทางออกในกรณีความชัดแย้งภายนอกประชาคม ซึ่งชาวเวียดนามตระหนักและคาดหวังในกลไกของประชาคมอาเซียนที่จะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหานี้อย่างมาก เป็นการรับรู้อย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนว่า นี่คือเหตุผลหลักอย่างหนึ่งที่เวียดนามในการเดินเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
วันนี้เลขาธิการอาเซียนมีนามว่า เล เลือง มินห์ เป็นคนเวียดนาม จึงมีโจทย์ใหญ่ว่าจะนำกลไกเสาการเมืองและความมั่นคงไปช่วยบรรเทาหรือแก้ปัญหาข้อพิพาทนี้อย่างไร การเจรจาระหว่างอาเซียนกับประเทศจีนพญามังกร ผู้มีนโยบายแข็งกร้าวในเรื่องพื้นที่ทางทะเล พร้อมหักแต่ไม่พร้อมงอจะทำอย่างไร
สมดุลอำนาจการเมืองและการทหารโลกเปลี่ยนแปลงไปหลังสงครามเย็น แต่ไม่ได้หมายถึงความหยุดนิ่ง การพัฒนาแสนยานุภาพทั้งของจีนและรัสเซีย เป็นไปในอัตราเร่ง ซึ่งคงต้องมีเหตุผลรองรับ เป็นไปได้ว่าหากอาเซียนจบเรื่องนี้ไม่ได้ จะมีเจ้าภาพที่อยากเข้ามาจบให้ และไม่ว่าทางไหนหากไม่จบด้วยการเจรจาทั้งภูมิภาคก็เสียหาย
ดร.สืบวงศ์ กาฬวงศ์
วันที่ 19/05/2557 เวลา 9:15 น.