ยุวทูตสะพานเสียง บทบาทของเยาวชนไทย

สร้างความเข้าใจอันดีในเรื่องแรงงานข้ามชาติ

 

โครงการสะพานเสียง (Saphan Siang Youth Ambassadors) ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาภายใต้ความร่วมมือขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization หรือ ILO), คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ และสังคมสำหรับเอเชียแปซิฟิก หรือ UNESCAP, องค์กรระหว่างประเทศเพื่อผู้โยกย้ายถิ่นฐาน หรือ IOM และมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย (World Vision) และองค์กรภาคีอื่นๆ ที่ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย และในระดับภูมิภาค ได้เปิดรับสมัครนักศึกษาที่มีความสนใจในเรื่องแรงงานข้ามชาติและสิทธิมนุษยชน เพื่อเข้าร่วมใน โครงการยุวทูตสะพานเสียง และได้ทำการคัดเลือกนักศึกษาจำนวน 12 คน เพื่อเป็นตัวแทนของเยาวชนไทยในการส่งเสริมภาพลักษณ์ และความเข้าใจอันดีต่อแรงงานข้ามชาติในสังคมไทย โดยโครงการสะพานเสียงนั้นมีเป้าหมายในการเปิดโอกาสให้คนไทยและแรงงานข้ามชาติ ได้มีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกันให้เพิ่มมากขึ้น ตลอดถึงการทำกิจกรรมร่วมกันอันจะเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้มีการปรับเปลี่ยนทัศนคติ และความรู้สึกที่ดีต่อคนไทยและแรงงานข้ามชาติ ซึ่งจะนำไปสู่ประโยชน์สุขของสังคมโดยรวมในระยะยาว

ในฐานะยุวทูตโครงการสะพานเสียง นักศึกษาทั้ง 12 คน ต่างก็ได้รับมอบหมายให้เป็นอาสาสมัครเพื่อร่วมในกิจกรรมต่างๆ กับองค์กรภาคประชาสังคมเป็นระยะเวลา 6 เดือน ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ปัตตานี ฯลฯ โดยจะได้ร่วมทำกิจกรรมตั้งแต่เดือนมีนาคม-สิงหาคม 2557 เพื่อเตรียมความพร้อมทางด้านการศึกษาในการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน โดยยุวทูตสะพานเสียงจะได้เข้าร่วมกิจกรรมในหลายโครงการ อาทิ การไปประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่น, การจัดกิจกรรมรณรงค์สุขภาพ, การช่วยเหลือให้คำปรึกษาทางกฎหมาย, การสอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษให้กับแรงงานข้ามชาติ หรือแม้แต่การลงพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมในการจัดกิจกรรมต่างๆ กับแรงงานข้ามชาติ, การได้ร่วมกิจกรรมและมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับแรงงานข้ามชาติไม่ว่าเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งทำให้ยุวทูตสะพานเสียงได้รับรู้ถึงประเด็นและปัญหาต่างๆ ที่แรงงานข้ามชาติต้องเผชิญเมื่อต้องเข้ามาทำงานในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม การถูกเอาเปรียบหรือขูดรีดแรงงาน ปัญหาการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน หรือแม้แต่การมีอคติ ดูถูกเหยียดหยามของคนไทยต่อประชากรในกลุ่มนี้ เราลองมาฟังตัวอย่างความคิดเห็นของยุวทูตสะพานเสียงเหล่านี้กันดู ว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้าง

น.ส.ผ่องนภา คิดหา จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครกับมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (Human Rights and Development Foundation) ได้กล่าวว่า “แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยแม้ว่าจะเข้ามาโดยถูกกฎหมาย หรือผิดกฎหมายก็ตาม พวกเขาต่างก็มีฐานะเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่ควรได้รับความยุติธรรมในทางกฎหมาย รวมทั้งสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ อย่างเพียงพอ เพราะความเป็นมนุษย์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ อาชีพ เชื้อชาติ หรือสภาพที่ถูกทางสังคมกำหนดขึ้น แต่อยู่ที่การได้เกิดมา รู้คุณค่าของตน แล้วได้ทำตนให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น”

น.ส.ณัฏฐณิชา เหล็กกล้า จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครกับมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (Foundation for AIDs Rights) กล่าวว่า “โครงการสะพานเสียงให้โอกาสในการทำงานลงพื้นที่ ไปเห็นการทำงานเพื่อผลักดันแก้ปัญหาต่างๆ ที่แรงงานข้ามชาติได้รับจากองค์กรที่ได้ร่วมงานด้วยได้รู้วิถีชีวิตของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยและปัญหาของแรงงานข้ามชาติที่ได้รับ เช่น การถูกเอาเปรียบโดยไม่ได้รับค่าโอที ไม่ได้รับสวัสดิการการทำงาน ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลของรัฐบาลไทย”

น.ส.ปิ่นสุดา สุวรรณโณ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครกับคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (Thai Allied Committee with Desegregated Burma Foundation-TACDB) บอกว่า “การสร้างภาพพจน์ที่ดีให้แรงงานข้ามชาติ จะช่วยให้คนในสังคมไม่กลัว ไม่ระแวง ไม่มองลบ ความไม่รู้สึกลบจะทำให้มีคนสนใจปัญหาของพวกเขาอย่างเปิดใจมากขึ้น และมีคนในสังคมจะช่วยแก้ปัญหาของพวกเขากันมากขึ้นกว่านี้ค่ะ”

ด้านนายณัฐวุฒิ รัพยูร จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ปัจจุบันร่วมอาสาสมัครกับมูลนิธิรักษ์ไทย (Raks Thai Foundation) กล่าวว่า “โครงการยุวทูตสะพานเสียงได้สอนอะไรหลายๆ อย่างให้กับผม ที่สำคัญที่สุดคือการเปิดใจรับรู้สิ่งต่างๆ มากขึ้น เพราะที่นี่สอนให้ผมรู้จักเปิดใจและทำความเข้าใจต่อแรงงานข้ามชาติมากขึ้น “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” เมื่อเราเปิดใจก็สามารถทำให้เราปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อแรงงานข้ามชาติให้เป็นไปในทางบวกมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญคือสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันครับ”

จากผลสำรวจทัศนคติของสาธารณะต่อแรงงานข้ามชาติ โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO พบว่า ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความจำเป็นในการจ้างงานแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยมีเพียงเล็กน้อย และพบว่าความเชื่อและความเข้าใจที่ผิดของสาธารณชนอาจนำไปสู่การละเลย และความเห็นว่าเป็นประชากรชายขอบ การเลือกปฏิบัติและความขัดแย้งในสังคม เพราะจากการสำรวจพบว่ากว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม คิดว่าประเทศไทยมีความต้องการแรงงานข้ามชาติในภาคการผลิตบางประเภท และแรงงานข้ามชาติไม่ได้สร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจไทยแต่อย่างใด ซึ่งในขณะที่การศึกษาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และธนาคารโลกบ่งชี้ว่า แรงงานข้ามชาติมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในเชิงบวก โดยอาจกล่าวได้ว่าในหลายภาคการผลิตของประเทศไทย ยังคงต้องพึ่งพิงกำลังการผลิตจากแรงงานข้ามชาติอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอน

การมาทำกิจกรรมร่วมกันของยุวทูตสะพานเสียงทั้ง 12 คนนี้ก็จะเป็นกระบอกเสียงของสังคม ในการสร้างภาพพจน์ที่ดีของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย หลังจากการเข้าร่วมโครงการฯ เยาวชนกลุ่มนี้ ก็จะได้เป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายผู้นำเยาวชนภายใต้การสนับสนุนของภาคีเครือข่าย เพื่อนำประสบการณ์และความรู้ที่ได้รับในการเป็นผู้นำรุ่นใหม่ เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมหาวิทยาลัยและชุมชนของตนเองต่อไป ผู้สนใจสามารถติดตามเรื่องราวของยุวทูตสะพานเสียง ได้จากบทความต่างๆ ใน www.saphansiangambassadors.wordpress.com ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

 

 

วันที่ 12/05/2557 เวลา 11:36 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

258

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน