พณ.จัดงาน “อนาคตเศรษฐกิจไทย ภายใต้ประชาคมอาเซียน”
นายวุฒิชัย ดวงรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทย มีความพร้อมและมีศักยภาพหลายด้านที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (เออีซี) เห็นได้ชัด คือ ฝีมือแรงงาน คุณภาพสินค้าไทยไม่แพ้ใครในอาเซียน อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ด้านบริการ การท่องเที่ยว รวมถึงความพร้อมทางการแพทย์ อีกทั้งทำเลที่ตั้งประเทศไทยซึ่งเป็นศูนย์กลางอาเซียน จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมและผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้าการลงทุน ระบบโลจิสติกส์ โดยกระทรวงพาณิชย์พร้อมที่จะอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการทุกด้าน ไม่ว่าจะเปิดเวทีให้ผู้ส่งออกและนักลงทุนพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการค้า เจรจาจับคู่ธุรกิจ รวมถึงการจัดอบรมสัมมนา เพื่อเพิ่มความรู้ให้นักลงทุนหรือผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนทำธุรกิจในอาเซียน โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากแขนงต่าง ๆ มาให้คำแนะนำ
กระทรวงพาณิชย์ตั้งใจที่จะใช้ศักยภาพของประเทศไทยให้อยู่ในแถวหน้าของอาเซียน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจกระตุ้นให้เกิดการลงทุนทำธุรกิจมากขึ้นในอาเซียน และผลักดันให้เกิดการค้าระหว่างประเทศ จากความสำเร็จ การจัดงานในกรุงเทพฯ ดังนั้น จึงจัดงาน “อนาคตเศรษฐกิจไทยภายใต้ประชาคมอาเซียน” ในส่วนภูมิภาค 5 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น วันที่ 24-27 เมษายน 2557 ณ Central Plaza Khonkean Hall, สงขลา วันที่ 7-10 พฤษภาคม 2557 ณ Central Festival Hatyai, เชียงใหม่ วันที่ 16-19 พฤษภาคม 2557 ณ Central Airport Plaza Hall, ชลบุรี วันที่ 28-31 พฤษภาคม 2557 ณ Tukcom Chonburi และสุราษฎร์ธานี วันที่ 19-22 มิถุนายน 2557 ณ Central Plaza Suratthani Hall
สำหรับงานอนาคตเศรษฐกิจไทย ภายใต้ประชาคมอาเซียนนั้น เป็นงานใหญ่ระดับชาติที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งใจจัดขึ้นเพื่อให้ข้อมูลความรู้ สร้างความเข้าใจ ผ่านการจัดนิทรรศการ ทำให้บุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชน เยาวชน นิสิตนักศึกษา สถาบันวิชาการต่าง ๆ มีข้อมูลที่มีการสังเคราะห์ให้เข้าใจง่าย นอกจากนี้ยังนำเสนอความแข็งแกร่งของ 12 Clusters ที่สำคัญของอุตสาหกรรมสินค้าและบริการ โดยจับมือกับภาคเอกชนโดยเฉพาะสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รวมทั้งสมาคมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ส่วนประโยชน์ที่จะได้รับทำให้เกิดการไหลเวียนของสินค้าเงินทุนแรงงานได้อิสระขึ้น และมีการพัฒนาเครือข่ายการคมนาคมขนส่งระหว่างกัน เพื่อประโยชน์ด้านการค้าและการลงทุน การค้าภายในและต่างประเทศขยายตัวทำให้อุปสงค์บริการโลจิสติกส์เพิ่มขึ้นเป็น Gateway สำหรับการขนส่งทางถนนสำหรับประเทศจีนตอนใต้มีเส้นทางที่เชื่อมโยงตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ N-S และ E-W Economic corridor สร้างโอกาสที่ดีในการเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการขนส่งและเศรษฐกิจในภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้านตามด่านชายแดน และความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาค เช่น GMS เป็นปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงระหว่างประเทศ
วันที่ 21/04/2557 เวลา 17:30 น.