“ขนส่ง” เล็งยกมาตรฐานรถสองชั้น

หวังล้อมคอกต้นตอปัญหาอุบัติเหตุซ้ำซาก

 

ภายหลังที่เกิดอุบัติเหตุจากรถโดยสารและรถบรรทุกบ่อยครั้ง โดยเฉพาะรถโดยสารที่ไม่ประจำทาง (รถทัวร์สองชั้น) ที่มีให้บริการเช่าเพื่อท่องเที่ยวนั้นเกิดอุบัติเหตุขึ้น โดยช่วงต้นปี 2557 ที่ผ่านมา ถือว่าเกิดเหตุกับรถทัวร์สองชั้นบ่อยครั้งและเป็นลักษณะที่เกิดขึ้นซ้ำซ้อนกัน หรือเกิดเหตุในลักษณะเดียวกัน คือการตกเหวหรือทางลาดชัน ซึ่งเส้นทางจะมีลักษณะเส้นทางที่คดเคี้ยว วันนี้ “บ้านเมือง” ขอนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานรถสองชั้นจากกรมการขนส่งทางบกมาเผยแพร่

O ขนส่งชี้ทำคู่มือใช้รถ 30

นายอัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยภายหลังกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรถทัวร์ตกเหว บริเวณทางหลวงตาก-แม่สอด เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ว่าก่อนหน้านี้ กรมการขนส่งทางบกได้จัดทำหนังสือคู่มือเช่าเหมารถโดยสารไม่ประจำทาง (ประเภทรถ 30) โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถที่วิ่งในทางลาดชัน หรือเส้นทางคดเคี้ยว เส้นทางบนไหล่เขา โดยผู้เช่าเหมา รวมถึงผู้ขับขี่ ต้องทำการศึกษาเส้นทางการเดินทาง โดยเฉพาะจุดเลี่ยงที่เป็นอันตราย และได้มีการเผยแพร่ไปแล้ว โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาไปกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่ง ขบ. จะนำผลการศึกษาเกี่ยวกับการนำรถ 2 ชั้น มาเส้นให้บริการ บนเส้นทางไหล่เขาจากหน่วยที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาในการห้ามนำรถ 2 ชั้นมาวิ่งให้บริการในเส้นทางดังกล่าว พร้อมยืนยันที่ผ่านมา ขบ.ได้การเน้นย้ำเรื่องการตรวจสอบสภาพรถตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ 2 ครั้งต่อปี ซึ่งเน้นย้ำเจ้าหน้าที่ในการตรวจสภาพรถอย่างเข้มงวด

อย่างไรก็ตาม การเกิดอุบัติเหตุในลักษณะดังกล่าวนั้น มักจะมีสาเหตุที่มาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสภาพรถ กายภาพถนน สิ่งแวดล้อม และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความพร้อมของสภาพร่างกาย พนักงานขับรถ ซึ่งตรงนี้เองกรมการขนส่งทางบกก็จะนำข้อสรุปมาประมวล เพื่อปรับปรุงและแก้ไขต่อไป โดย ขบ. จะมีการตั้งคณะทำงานในการปรับปรุงขึ้นอีกครั้ง ในส่วนกรณีที่จะมีห้ามนำรถ 2 ชั้น มาวิ่งให้บริการในจุดเลี่ยงที่เป็นไหล่เขานั้น จะต้องมีการหารือกับกรมทางหลวง ตำรวจจราจร และหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อสรุปอีกครั้ง สำหรับปัจจุบันรถ 2 ชั้น ที่วิ่งในบริการทั้งหมด 40,000 คัน โดยและรถหมวด 30 20,000 คัน

“สำหรับสาเหตุที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุนั้น มีปัจจัยหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสภาพรถ กายภาพถนน สิ่งแวดล้อม และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความพร้อมของสภาพร่างกาย พนักงานขับรถ อย่างไรก็ตาม กรมการขนส่งทางบกได้จัดทำหนังสือคู่มือเช่าเหมารถโดยสารไม่ประจำทาง (ประเภทรถ 30) โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถที่วิ่งในทางลาดชัน หรือเส้นทางคดเคี้ยว เส้นทางบนไหล่เขา โดยผู้เช่าเหมา รวมถึงผู้ขับขี่ ต้องทำการศึกษาเส้นทางการเดินทาง โดยเฉพาะจุดเลี่ยงที่เป็นอันตราย” นายอัฌษไธค์ กล่าว

O เผยยอดรถเข้าทดสอบ

ทั้งนี้ ตามที่กรมการขนส่งทางบกได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดเกณฑ์การทรงตัวของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร พ.ศ.2555 ลงวันที่ 20 เมษายน 2555 โดยกำหนดให้รถโดยสารที่มีความสูงตั้งแต่ 3.60 เมตรขึ้นไป ต้องมีเกณฑ์การทรงตัวไม่ต่ำกว่า 30 องศา ซึ่งมีผลบังคับใช้กับรถที่จดทะเบียนใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 และรถโดยสารที่จดทะเบียนไว้แล้วก่อนวันที่ 1 มกราคม 2556 ซึ่งมีรถโดยสารที่เข้าข่ายต้องเข้ารับการ

ทดสอบประมาณ 17,588 คัน ในจำนวนนี้มีรถสองชั้น จำนวน 5,741 คัน โดยจะต้องแก้ไขให้เป็นไปตามประกาศนี้ ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2561 ทั้งนี้ จากข้อมูลการทดสอบการทรงตัวของรถในปี 2556 ปรากฏว่า ได้ทำการทดสอบรถทั้งหมด 1,250 คัน ผ่านเกณฑ์ 705 คัน คิดเป็น 56.4% ไม่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 545 คัน คิดเป็น 43.6% ประกอบด้วย รถโดยสารมาตรฐาน 1 (รถปรับอากาศชั้นเดียว มีห้องน้ำ) จำนวน 188 คัน ผ่าน 107 คัน ไม่ผ่าน 81 คัน, รถโดยสารมาตรฐาน 2 (รถปรับอากาศชั้นเดียว ไม่มีห้องน้ำ) จำนวน 92 คัน ผ่าน 65 คัน ไม่ผ่าน 27 คัน, รถโดยสารมาตรฐาน 3 (รถพัดลมชั้นเดียว) จำนวน 128 คัน ผ่าน 52 คัน ไม่ผ่าน 76 คัน และ รถโดยสารสองชั้น จำนวน 842 คัน ผ่าน 481 คัน ไม่ผ่าน 361 คัน

ทั้งนี้ รถที่ไม่ผ่านการทดสอบการทรงตัว จะต้องไปดำเนินการแก้ไขปรับปรุงก่อนนำเข้ามารับการทดสอบอีกครั้ง หากไม่ผ่านก็จะไม่สามารถจดทะเบียนหรือต่ออายุภาษีได้ ซึ่งหากนำไปใช้งานก็จะมีความผิดตามกฎหมาย จึงขอให้ผู้ประกอบการขนส่ง หรือเจ้าของรถปฏิบัติตามประกาศของกรมการขนส่งทางบกอย่างเคร่งครัดด้วย นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกยังได้กำหนดให้รถโดยสารประจำทางหมวด 2 และ 3 รถโดยสารไม่ประจำทาง และรถโดยสาร ส่วนบุคคลที่จดทะเบียนใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง ส่วนรถโดยสารที่จดทะเบียนไว้แล้วก่อนวันที่ 1 เมษายน 2556 ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งภายในวันที่ 1 เมษายน 2557 ฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท และไม่สามารถดำเนินการทางทะเบียนได้เช่นกัน

O เล็งเพิ่มมาตรฐานบริการ

นายอัฌษไธค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการขนส่งทางบกกำลังอยู่ระหว่างการกำหนดมาตรฐานความแข็งแรงของที่นั่ง จุดยึดที่นั่ง และจุดยึดเข็มขัดนิรภัยรถโดยสาร รวมทั้งมาตรฐานความแข็งแรงของโครงสร้างตัวถังรถโดยสาร ซึ่งขณะนี้ได้ยกร่างประกาศเสร็จแล้วและคาดว่าจะออกประกาศได้ภายในเดือนมิถุนายน 2557 นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดในการเพิ่มสมรรถนะของระบบห้ามล้อรถโดยสาร โดยกำหนดให้ระบบห้ามล้อของรถโดยสารสาธารณะขนาดใหญ่ต้องเป็นระบบ ABS เพื่อป้องกันการล็อกของล้อและการหมุนปัดของรถเมื่อมีการห้ามล้อรถอย่างกะทันหันหรือในขณะเข้าโค้ง รวมทั้งกำหนดให้รถโดยสารสาธารณะที่เป็นรถโดยสารไม่ประจำทาง และรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด ต้องมีระบบหน่วงความเร็วรถด้วย Retarder เพื่อเป็นระบบช่วยเสริมระบบห้ามล้อให้รถสามารถลดความเร็วของรถในขณะลงเขา หรือที่ลาดชันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้มีการประชุมหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ผลิตรถ ผู้สร้างประกอบตัวถังรถและผู้ประกอบการขนส่งแล้ว และจะมีการหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขการใช้บังคับต่อไป ทั้งนี้ หากประชาชนพบรถโดยสารที่ไม่มีมาตรฐานความปลอดภัย แจ้งที่ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ 1584 ตลอด 24 ชั่วโม

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมโดยกรมการขนส่งทางบก ได้กำหนดมาตรฐานรถโดยสารสองชั้นขึ้นมาใหม่ โดยรถทุกคันต้องผ่านการทดสอบการทรงตัวของรถภายในปี 2558 เพื่อลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุในจุดเสี่ยง ติดตามรายละเอียดจากรายงาน ว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวจะมีประชาชนจำนวนมากใช้รถใช้ถนนเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ตามประเพณีทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าช่วงเวลาปกติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงคมนาคมจึงได้จัดทำแผนอำนวยความสะดวกและปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชน ขณะเดียวกันในส่วนของรถโดยสารสาธารณะกรมการขนส่งทางบก เพิ่มมาตรการคุมเข้มการใช้งานรถโดยสารมากขึ้น โดยเน้นสภาพรถต้องมีมาตรฐาน พนักงานขับรถจะต้องได้รับการอบรมเพิ่มเติมในหลักสูตพิเศษ พร้อมย้ำให้ผู้โดยสารใช้รถและผู้ประกอบการขนส่งที่มีมาตรฐาน หลังเกิดเหตุการณ์รถโดยสารสองชั้นประสบอุบัติเหตุบ่อยครั้ง

O ข้อมูลอุบัติเหตุ

โดยจากข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารโดยเฉพาะรถโดยสารสองชั้น การเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้งจะมีความเสียหายค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารชั้นเดียว จากปัจจัยส่งเสริมหลายประการไม่ว่าจะเป็นตัวรถ สภาพเส้นทาง ประสบการณ์และความสามารถของผู้ขับรถ รวมทั้งสภาพสิ่งแวดล้อม จากการศึกษาข้อมูลสถิติอุบัติเหตุพบว่า การเกิดอุบัติเหตุรถโดยสาร ไม่ว่าจะเป็นรถโดยสารชั้นเดียวหรือรถโดยสารสองชั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเส้นทางที่มีความคดเคี้ยว หรือมีความลาดชันต่อเนื่องเป็นระยะทางยาว ประกอบกับการใช้ความเร็วที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือตามป้ายจราจร ความไม่ชำนาญเส้นทางหรือความประมาทของผู้ขับรถ การขับรถเกินจำนวนชั่วโมงที่กฎหมายกำหนด หรือการขาดการดูแลสภาพรถโดยสารให้มีสภาพพร้อมใช้งาน

 

 

“กรมการขนส่งทางบกจะพิจารณาปรับลดความสูงของรถโดยสารสองชั้นลงจากเดิมสูง 4.30 เมตร ให้เหลือ 4.00 เมตร เพิ่มสมรรถนะระบบห้ามล้อโดยกำหนดให้ต้องเป็นระบบ ABS และระบบหน่วงความเร็ว (Retarder) กำหนดให้รถโดยสารสองชั้นทั้งรถใหม่และรถเก่าต้องผ่านการทดสอบการทรงตัวของรถทุกคันภายในปี 2558 กำหนดให้ผู้ที่จะขับรถโดยสารสองชั้นจะต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรพิเศษ สำหรับรถโดยสารสองชั้น กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ผลิตรถจะต้องออกแบบโครงสร้างรถโดยสารและผ่านการรับรองจากสถาบันที่น่าเชื่อถือก่อนนำไปประกอบตัวถังรถ ในส่วนของเส้นทางได้มอบให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ทำการสำรวจเส้นทางเสี่ยงที่จะต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษสำหรับการใช้งานรถโดยสารสองชั้น โดยพิจารณาจากสภาพความคดเคี้ยว ความลาดชันของเส้นทางรวมทั้งสถิติอุบัติเหตุของเส้นทางดังกล่าว เพื่อกรมการขนส่งทางบกจะได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการขนส่งและประชาชนนำไปประกอบการพิจารณาการวางแผนเส้นทางการเดินทาง รวมทั้งพิจารณามาตรการเยียวยาผู้เสียหายจากการเกิดอุบัติเหตุโดยการเพิ่มวงเงินการชดเชยค่าเสียหายให้มีความเหมะสมมากขึ้น”

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบก ยังขอความร่วมมือประชาชนที่มีความประสงค์จะเช่ารถทัศนาจรเพื่อทำการเดินทางเป็นหมู่คณะ ให้พิจารณาเลือกผู้ประกอบการขนส่งที่มีคุณภาพ ตรวจสอบสภาพรถก่อนการว่าจ้าง เลือกใช้รถที่มีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง หลีกเลี่ยงการเดินทางในเวลากลางคืน วางแผนเส้นทางการเดินทางโดยหลีกเลี่ยงเส้นทางคดเคี้ยวและลาดชัน พร้อมส่งแผนการเดินทางให้ผู้ขับรถศึกษาสภาพเส้นทาง จุดเสี่ยง จุดอันตรายก่อนการเดินทาง กรณีเดินทางเป็นระยะทางไกล ควรกำหนดให้มีพนักงานขับรถสองคน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า สคอ.ได้เสนอกรมการขนส่งทางบกเกี่ยวกับมาตรการควบคุมการใช้รถทัวร์สองชั้น โดยเน้นการควบคุมให้มีการใช้อย่างปลอดภัย เพราะคงไม่สามารถยกเลิกได้ เนื่องจากปัจจุบันกรมขนส่งทางบกมีรถทัวร์สองชั้นประมาณ 800 คัน สิ่งสำคัญจึงต้องควบคุม โดยต้องมีมาตรการลงโทษกรณีที่วิศวกรเซ็นอนุมัติรับรองมาตรฐานการใช้รถสองชั้น หากเกิดกรณีรถไม่ได้มาตรฐานก็ต้องมีบทลงโทษวิศวกรด้วย รวมไปถึงควรกำหนดความเร็วในการขับขี่ หากขับขี่ในตัวเมืองต้องไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่หากจำเป็นต้องขับขี่ขึ้นลงเขา ซึ่งเสี่ยงอันตรายก็ต้องจำกัดความเร็วไม่เกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

“จริงๆ แล้วการขับขี่รถสองชั้นในต่างประเทศ เขามีข้อห้ามชัดเจนว่า ห้ามขับขึ้นลงเขาเด็ดขาด โดยอนุญาตให้ขับขี่ภายในเขตเมืองด้วยความเร็วไม่เกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น ที่สำคัญต้องแยกประเภทใบขับขี่ แยกคนขับให้ชัดเจน ไม่ใช่นำมารวมกันทั้งขับขี่รถสาธารณะ หรือรถทัวร์ชั้นเดียว แต่ต้องแยกออกให้หมด เพราะรถสองชั้นจะต้องมีความชำนาญด้วย และต้องมีการทดสอบวุฒิภาวะทางอารมณ์ของผู้ขับขี่ ซึ่งเรื่องนี้นอกจากจะมีมาตรการต่างๆ แล้ว การควบคุมอย่างเข้มงวดก็เป็นเรื่องสำคัญ”

O เล็งรื้อทดสอบใบขับขี่

นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การทดสอบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสำหรับผู้ต้องการสอบเพื่อออกใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ ทั้งนี้ประเภทใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคล และรถโดยสารสาธารณะทั่วไป อย่างไรก็ตาม จะมีการกำหนดเรื่องของข้อสอบใหม่ และเกณฑ์การสอบคะแนนวัดผล จากเดิมผู้เข้าสอบจะต้องผ่านเกณฑ์ที่ 75% แต่ก็กำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ผู้เข้าสอบจะต้องผ่านเกณฑ์ที่คะแนน 90% ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานสำหรับผู้ขับขี่ให้สูงขึ้น และเพื่อให้ผู้ขับขี่ได้มีความรู้และตระหนักถึงกฎกติกามารยาทในการขับขี่อย่างเข้มงวด ซึ่งขณะผลการศึกษาเรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างเสนอกระทรวงคมนาคมรับทราบ คาดว่าภายในปี 2557 จะเริ่มดำเนินการใช้เกณฑ์ดังกล่าว พร้อมทั้งยังมีแผนเพิ่มเติมที่จะตั้งศูนย์บันทึกพฤติกรรมการขับขี่รถยนต์ โดยเบื้องต้นจะนำร่องที่รถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกวัตถุอันตราย ก่อนจะบังคับใช้กับผู้ขับขี่รถยนต์ทั่วไป ทั้งนี้ คาดว่าศูนย์ดังกล่าวจะตั้งเสร็จช่วงเดือนเมษายนนี้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าหากมีศูนย์บันทึกพฤติกรรมการขับขี่แล้ว จะสามารถทราบผู้ขับขี่ทุกรายได้อย่างละเอียดว่าได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดหรือฝ่าฝืน

“ขณะนี้ กรมการขนส่งทางบก มีแผนที่จะเพิ่มประสิทธิภาพผู้ขับขี่รถยนต์ให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น โดยจะมีการกำหนดเรื่องของข้อสอบใหม่ และเกณฑ์การสอบคะแนนวัดผล จากเดิมผู้เข้าสอบจะต้องผ่านเกณฑ์ที่ 75% แต่ก็กำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ผู้เข้าสอบจะต้องผ่านเกณฑ์ที่คะแนน 90% ขณะผลการศึกษาเรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างเสนอกระทรวงคมนาคมรับทราบ คาดว่าภายในปี 2557 จะเริ่มดำเนินการใช้เกณฑ์ดังกล่าว รวมถึงการจัดตั้งศูนย์บันทึกพฤติกรรมการขับขี่ รถยนต์จะนำร่องที่รถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกวัตถุอันตราย ก่อนจะบังคับใช้กับผู้ขับขี่รถยนต์ทั่วไป อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการบันทึกสถิติพฤติกรรมการขับรถที่ประมาทโดยจะสามารถควบคุมพฤติกรรมการขับขี่ได้ คาดว่าผลที่จะได้รับคือการลดอุบัติเหตุได้ ซึ่งจะสามารถติดตั้งได้ช่วงเดือนเมษายนนี้”

O คืบหน้าจุดจอดพักรถ

ส่วนด้านความคืบหน้าเกี่ยวกับจุดพักรถบรรทุก เพื่อเป็นการลดอุบัติเหตุ เนื่องจากที่ผ่านมาเคยเกิดกรณีที่มีรถบรรทุก วิ่งข้ามเลนมาชนประสานกับรถโดยสารประจำทาง (รถทัวร์) ส่งผลให้เกิดการสูญเสียของชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. ระบุภายหลังได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 โครงการศึกษารายละเอียดการพัฒนาจุดพักรถบรรทุกตามเส้นทางขนส่งสินค้าหลักของประเทศ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป ก่อนนำมาใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาจุดพักรถบรรทุกบนเส้นทางขนส่งสินค้าหลักของประเทศ

ทั้งนี้ ปัจจุบันการขนส่งทางถนนเป็นระบบการขนส่งสินค้าหลักของประเทศ คิดเป็นร้อยละ 86 ของปริมาณขนส่งรวมทั้งหมด โดยจำนวนรถบรรทุกทั้งประเทศรวม 816,844 คัน ที่ทำการขนส่งบนทางหลวง ระยะทางรวม 67,315 กิโลเมตร และคาดว่าในปี 2558 หลังเปิดประชาคมอาเซียน จะมีรถบรรทุกจากประเทศเพื่อนบ้านวิ่งเข้ามาใช้ถนนในประเทศไทยมากขึ้น จึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรองรับในเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการพัฒนาจุดพักรถมาตรฐานเพื่อรองรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ตามเส้นทางขนส่งสินค้าหลักของประเทศ ทำให้ผู้ขับรถบรรทุกส่วนมากมักจอดพักบริเวณไหล่ทางถนน จึงเกิดปัญหารถหรือสินค้าที่บรรทุกสูญหาย และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เนื่องจากจุดที่จอดไม่มีแสงสว่างเพียงพอ ประกอบกับประเทศไทยจะมีพระราชบัญญัติขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ที่กำหนดให้ทุกๆ 4 ชั่วโมงผู้ขับขี่รถบรรทุกต้องหยุดพักรถเป็นเวลา 30 นาทีเพื่อความปลอดภัย แต่ผู้ขับรถบรรทุกส่วนมากไม่สามารถจอดพักรถได้ตามที่กฎหมายกำหนด

อย่างไรก็ตามขณะนี้ สนข. ได้ทำการศึกษารายละเอียดการพัฒนาจุดพักรถบรรทุกบนเส้นทางขนส่งสินค้าสายหลักของประเทศ เบื้องต้นกำหนดตำแหน่งที่ตั้งที่เหมาะสมในการพัฒนาจุดพักรถบรรทุกทั้งประเทศ 41 แห่ง บนพื้นที่ของกรมทางหลวงหรือพื้นที่ราชพัสดุ ใน 2 รูปแบบ คือ ศูนย์บริการพักรถบรรทุก (Truck Service Area) เป็นพื้นที่พักรถบรรทุกเพื่อสร้างความปลอดภัยและการบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติการขนส่ง โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วน จำนวน 13 แห่ง และจุดจอดพักรถบรรทุก (Truck Rest Area) เป็นพื้นที่พักรถบรรทุกเพื่อสร้างความปลอดภัยในการปฏิบัติการขนส่งแก่พนักงานขับรถบรรทุก

โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการหยุดพักรถ เช่น ร้านอาหาร น้ำดื่ม สถานที่พักผ่อน ระบบการติดต่อสื่อสาร และสร้างความปลอดภัยแก่ผู้มาใช้บริการ เป็นต้น จำนวน 28 แห่ง คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งจะเริ่มนำร่องศูนย์บริการพักรถบรรทุก จำนวน 1 แห่ง บริเวณทางหลวงหมายเลข 2 ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ขนาดพื้นที่ประมาณ 87 ไร่ ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่และเพื่อนร่วมทาง และเพื่อเป็นแนวทางของการลดอุบัติเหตุทางถนนด้วย

 

นันทภัค เมนัช/รายงาน

 

 

วันที่ 16/04/2557 เวลา 4:20 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

284

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน