“ปิดเทอมใหญ่ หัวใจไม่ว้าวุ่น”
ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เผยแนวคิด “ปิดเทอมใหญ่ หัวใจไม่ว้าวุ่น” โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ใช้เวลาว่างในช่วงปิดภาคเรียนที่ยาวนานเกือบครึ่งปีในการทำกิจกรรมที่เหมาะสมตามหลักคุณธรรม รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม โดยปีนี้ได้สะท้อนถึงมุมมองของวัยรุ่น 3 รูปแบบ ผ่าน 3 กิจกรรมที่วัยรุ่นต่างเลือกทำในช่วงปิดภาคเรียนนี้
ดร.ฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ในช่วงปิดภาคเรียนของนักเรียนที่เพิ่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นการปิดภาคเรียนครั้งแรก ที่มีการปรับเวลาจากปกติที่จะต้องเปิดภาคเรียนในเดือนมิถุนายน เป็นเดือนสิงหาคม เพื่อให้พร้อมกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งช่วงเวลาที่ยาวนานเช่นนี้เหมาะสมกับการส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษาที่มีเวลาว่าง ได้ออกมาร่วมทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม ทั้งนี้ ศูนย์คุณธรรม จึงจัดแคมเปญ “ปิดเทอมใหญ่ หัวใจไม่ว้าวุ่น” ขึ้นมา เพื่อเป็นการนำร่องให้นักศึกษาที่สนใจ สามารถนำกิจกรรมต่างๆ ไปปฏิบัติได้ในช่วงปิดภาคเรียนนี้ โดยจะมีการแบ่งตัวอย่างกิจกรรมออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ กิจกรรมจิตอาสาเพื่อสังคม กิจกรรมสร้างรายได้อย่างสุจริต และกิจกรรมการใฝ่หาความรู้ เพื่อเตรียมความรู้ความสามารถให้พร้อมก่อนการเปิดประชาคมอาเซียน ซึ่งกิจกรรมทั้ง 3 รูปแบบนี้ ต่างสะท้อนหลักคุณธรรมที่แตกต่างกันออกไป เช่น กิจกรรมจิตอาสา เป็นการสะท้อนคุณธรรมเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม กิจกรรมสร้างรายได้ สะท้อนเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต และความอดทน ส่วนกิจกรรมใฝ่หาความรู้ สะท้อนเรื่องความขยันหมั่นเพียร
นอกจากนี้ ดร.ฉวีรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมถึงภาพรวมด้านคุณธรรมของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาไทยในยุคนี้ว่า จากการสำรวจในหัวข้อ “การวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคุณธรรมจริยธรรมของคนไทย” ซึ่งจัดทำโดยศูนย์คุณธรรม และสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) พบว่า โมเดลคุณธรรมที่ควรปลูกฝังให้กับคนรุ่นใหม่มากที่สุดมี 6 ประการด้วยกัน ได้แก่ ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ ความมีสติสัมปชัญญะ ความขยันหมั่นเพียร ความมีวินัย และความอดทน โดยเฉพาะคะแนนในด้านความอดทน และความขยัน ซึ่งกลุ่มนักเรียน นักศึกษาได้คะแนนอยู่ในอันดับท้ายสุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอาชีพอื่นๆ โดยมีคะแนนอยู่ที่ 70.29 และ 70.58 ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มอาชีพอื่นๆ ได้คะแนนในเรื่องคุณธรรมทั้งสองด้านนี้ ตั้งแต่ 80 คะแนนขึ้นไปทั้งหมด ซึ่งเป็นผลจากสภาพสังคมและวัฒนธรรมในปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก จึงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้คนรุ่นใหม่หรือวัยรุ่นในกลุ่มเจนวาย (Gen Y) มีค่านิยมเปลี่ยนแปลงไปจากยุคก่อนๆ โดยเฉพาะพฤติกรรมที่เห็นได้ชัดคือ การใช้เทคโนโลยีมากเกินความจำเป็น หรือเสพติดเทคโนโลยี จนบางครั้งอาจส่งผลให้วัยรุ่นละเลยการทำหน้าที่ของตนเอง เช่น กรณีของเด็กติดเกมจนไม่ยอมไปเรียนหนังสือ เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้เป็นภาพสะท้อนว่า หากเราปล่อยปละละเลยเรื่องการปลูกฝังคุณธรรมให้กับคนรุ่นใหม่ อาจจะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ในฐานะที่ศูนย์คุณธรรม เป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมองค์ความรู้และสรรค์สร้างนวัตกรรมด้านคุณธรรม เราจึงมีบทบาทสำคัญในการเตรียมความพร้อมด้านคุณธรรมให้กับวัยรุ่นไทยทุกคน โดยการนำกิจกรรมต่างๆ มาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างคุณธรรมให้กับวัยรุ่นยุคใหม่ เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้วัยรุ่นไทยมีช่องทางในการทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ โดยได้ใช้หลักคุณธรรมมาประกอบ
พลเอก ดร.ศรุต นาควัชระ ประธานกรรมการมูลนิธิรัฐบุรุษ เปรม ติณสูลานนท์ เป็นตัวแทนผู้นำเครือข่ายจิตอาสาสำหรับเยาวชน ในการกล่าวถึงการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มจิตอาสาในประเทศไทย โดยยกตัวอย่างจากการทำงานของมูลนิธิรัฐบุรุษว่า คนส่วนใหญ่อาจมองภาพการทำงานของกลุ่มจิตอาสาว่า เป็นเพียงการลงพื้นที่ไปช่วยเหลือคนที่ได้รับความเดือดร้อนแต่ความจริงแล้ว หากได้เข้ามาทำงานในจุดนี้จริงๆ จะพบว่า เราต้องฝึกฝนทักษะหลายอย่างควบคู่กันไป ตั้งแต่การใช้ความคิดสร้างสรรค์ การเรียนรู้เรื่องคน การดึงพลังของคนอื่นๆ ให้อยากร่วมทำกิจกรรมกับเรา เป็นต้น เพราะการเดินทางลงพื้นที่ในแต่ละครั้ง เราย่อมเจอกลุ่มคนที่แตกต่างกันไป ซึ่งก็จะส่งผลต่อการคิดรูปแบบกิจกรรมที่แตกต่างกันไป เพื่อให้เหมาะกับกลุ่มคนในพื้นที่นั้นๆ และทำให้พวกเขาอยากร่วมกิจกรรมกับเรา ทั้งนี้ ในส่วนของมูลนิธิรัฐบุรุษฯ ได้ทำหน้าที่ในการรวมพลังเยาวชนหัวใจจิตอาสา มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 ภายใต้แนวคิดหลักในการสร้างความสามัคคีให้กับกลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ด้วยการส่งเสริมให้ทุกคนได้ทำงานร่วมกันผ่านกิจกรรมในรูปแบบ WIN-WIN คือกิจกรรมที่ทุกฝ่าย ทั้งตัวคนทำงาน ผู้ร่วมกิจกรรม ตลอดจนทุกคนในสังคม ได้ประโยชน์ร่วมกันหมด โดยกิจกรรมหลักๆ ที่มูลนิธิฯ ดำเนินการมาตลอด คือกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ อาทิ ค่ายอาสา ค่ายแนะแนวการศึกษา ค่ายผู้นำเยาวชน ค่ายนันทนาการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้วัยรุ่นได้เรียนรู้ถึงการคิดและทำเพื่อส่วนรวม เด็กๆ ก็จะได้รู้จักกับความเสียสละ รู้จักความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะที่พวกเขาเป็นปัญญาชนคนหนึ่ง ที่จะต้องเติบโตมาเป็นกำลังสำคัญของชาติซึ่งในฐานะของประธานมูลนิธิ ตนก็รู้สึกยินดี ที่ได้เห็นคนรุ่นใหม่กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออกในทางที่ถูกที่ควร ตระหนักถึงการช่วยเหลือสังคม และมีจิตสำนึกที่พร้อมจะบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสาธารณะ ไม่ใช่การช่วยเหลือแค่เฉพาะกับคนใกล้ตัวหรือคนที่ตนรู้จักเท่านั้นซึ่งหากใครสนใจ ก็สามารถสมัครเข้าร่วมกิจกรรมกับมูลนิธิฯ ได้ทางหมายเลขโทรศัพท์ 0-2628-5226-7 หรือ www.ratthaburut.com
น.ส.พริษา คุณวุฒิกร นักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะรัฐศาสตร์ ชั้นปี 4 ตัวแทนของวัยรุ่นผู้ต้องการใช้เวลาว่างในการทำกิจกรรมจิตอาสา กล่าวว่าตนเริ่มต้นทำงานจิตอาสามาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เพราะอยากใช้ศักยภาพของตนเองในการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและตอบแทนสังคมบ้าง ตอนนั้นจึงสมัครเป็นสมาชิกของมูลนิธิรัฐบุรุษฯ เพราะเห็นว่าทางมูลนิธิฯ มีแนวคิดในการผลักดันให้กลุ่มวัยรุ่นออกมาทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งที่ผ่านมา ตนได้มีโอกาสทำกิจกรรมจิตอาสาหลากหลายรูปแบบ เช่น เป็นอาสาสมัครสอนหนังสือให้น้องๆ ซ่อมแซมห้องสมุดให้กับโรงเรียนในชนบท ลงพื้นที่สร้างฝาย และตนยังเป็นอาสมัครสอนภาษาอังกฤษในโครงการ HELP ในสมเด็จพระเทพฯ อีกด้วย ซึ่งการเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสามาตลอด ทำให้ตนได้พัฒนาศักยภาพของตัวเองหลายอย่าง ทั้งการฝึกเรื่องการทำงานร่วมกับผู้อื่น การฝึกแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ฝึกความเป็นผู้นำ การปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากสังคมที่เราอยู่ และทำให้เรารู้จักการจัดแบ่งเวลาอย่างเหมาะสม เนื่องจากจะต้องเรียนและทำกิจกรรมไปพร้อมกัน นอกจากนี้ สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ได้รับจากการได้ลงไปทำกิจกรรมต่างๆ กับเด็กในชุมชนที่ขาดแคลน หรือมีปัญหาในครอบครัว คือกำลังใจที่ทำให้เรารู้สึกว่า เราควรจะใช้โอกาสที่เรามี ในการลงมือทำสิ่งดีๆ ที่มีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนที่เดือดร้อนกว่าเรา อีกทั้งทุกครั้งที่เราได้ทำสิ่งดีๆ เพื่อน้อง ยังเปรียบเหมือนว่าเราได้เป็นต้นแบบในการทำความดีให้เยาวชนได้เห็น ซึ่งก็จะทำให้เรียนรู้ถึงการทำความดี และเติบโตมาเป็นคนดีไม่สร้างความเดือดร้อนต่อสังคม
น.ส.สุกฤตา สกลฤทธิ์ นักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และกำลังเตรียมตัวเปิดเรียนพร้อมกับนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา ตัวแทนของวัยรุ่นในมุมมองของการใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมในการหารายได้พิเศษ เพื่อช่วยเหลือตนเอง และครอบครัว กล่าวว่าในช่วงปิดเทอมนี้ เป็นช่วงเดียวกับการจบการศึกษาจากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 พอดี ระหว่างที่กำลังรอเข้ามหาวิทยาลัย ตนจึงเลือกใช้เวลาไปกับการลงทุนทำร้านขายไอศกรีมทอดเล็กๆ เพื่อหารายได้มาช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง และหาประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ตัวเอง เพราะโดยส่วนตัว ตนมีความใฝ่ฝันว่าอยากทำธุรกิจส่วนตัวในอนาคต เมื่อมีเวลาว่างในช่วงปิดเทอมที่ยาวนานกว่า 5 เดือน จึงเป็นโอกาสที่ดีในการทดลองทำงานดูก่อน เพราะตนคิดว่า การฝึกทักษะในการทำงาน เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้การเรียนในมหาวิทยาลัย และการได้ทำงานหารายได้ด้วยตัวเอง ยังช่วยสอนให้เราได้เรียนรู้คน ได้ฝึกรับมือกับปัญหาต่างๆ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีในการสอนให้เรารู้จักอดทน ดังนั้น หากใครมีเวลาว่าง และไม่รู้จะทำอะไรดี การทำงานหารายได้อย่างสุจริต ก็เป็นอีกกิจกรรมที่น่าสนใจ และสามารถนำไปใช้ได้จริงในอนาคตแน่นอน
น.ส.รตนขวัญ แก้วทุย นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเคมี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตัวแทนนักศึกษาที่ต้องการหาความรู้เพิ่มเติมในช่วงปิดเทอมกล่าวว่า จริงๆ แล้ว การหาความรู้ให้ตนเองเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเปิดหรือปิดเทอม แต่เนื่องจากระยะเวลาในการปิดเทอมใหญ่ของปีนี้ค่อนข้างนาน ซึ่งก็จะทำให้เราต้องห่างหายจากการเรียนไปนานด้วยเช่นกัน จึงคิดว่า น่าจะใช้เวลาที่มีในการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมให้กับตนเอง ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเติมความรู้ในด้านวิชาการเท่านั้น แต่อาจเป็นการเรียนภาษา เรียนดนตรี เรียนศิลปะ หรือการเข้าร่วมคอร์สอบรมที่เป็นประโยชน์ ซึ่งสำหรับตนเอง ได้วางแผนไว้ว่าอยากจะเดินทางไปศึกษาเพิ่มเติมด้านภาษาที่ประเทศฟิลิปปินส์ เพราะคิดว่าทักษะด้านภาษาเป็นสิ่งที่สำคัญในช่วงที่ประเทศไทยกำลังจะเปิดประชาคมอาเซียน ในช่วงปิดเทอมนี้ จึงอยากเชิญชวนเพื่อนๆ มาใช้เวลาอย่างคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ทักษะด้านใดๆ ก็ตาม เพราะยิ่งถ้าเราได้ลองทำอะไรหลายๆอย่าง ก็จะยิ่งทำให้เราค้นหาตัวเองได้เจอเร็วขึ้นว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร และยังเป็นการเพิ่มความสามารถให้ตัวเองอีกด้วย
วันที่ 10/04/2557 เวลา 11:11 น.