ผ่ายุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรฯ ภายใต้ย่างก้าวสู่ 123 ปี

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นับเป็นหน่วยงานสำคัญที่มีบทบาทยิ่งต่อการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถของภาคเกษตรของไทยและต่อความอยู่รอดของเกษตรกร โดยมีภารกิจหลัก คือ การทำหน้าที่ส่งเสริม “เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนมีความมั่นคงด้านอาหารเป็นฐานสร้างรายได้ให้แผ่นดิน” รวมดูแลเกษตรกรให้สามารถสร้างผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ และสร้างผลผลิตที่ตอบสนองได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

นอกจากนั้น กระทรวงเกษตรฯ ยังมีหน้าที่ในการส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีความพร้อมน้อย สามารถประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพทางการเกษตรได้อย่างยั่งยืน ในขณะที่เกษตรกรที่พอมีความสามารถพร้อมที่จะแข่งขัน จะต้องส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่มีประสิทธิภาพ เสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานอย่างเหมาะสมและยั่งยืนสามารถสร้าง มูลค่าเพิ่ม เพื่อสอดคล้องกับความต้องการของตลาด มีมาตรฐานปลอดภัยต่อผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ ที่สำคัญคือกระทรวงเกษตรฯ ยังมีภารกิจสำคัญในการรับผิดชอบในการผลิตอาหารที่หล่อเลี้ยงประชากรของโลก รวมถึงเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศอีกด้วย

ในโอกาสกระทรวงเกษตรฯ ย่างก้าวสู่ 123 ปี ในวันที่ 1เมษายน 2557 นี้ นับ เป็นย่างก้าวที่สำคัญบนความท้าทายของผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ในการดำเนินการยุทธศาสตร์ในการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถด้านภาคเกษตรไทย ทั้งการสร้างการอยู่ดีกินดีของเกษตรกรภายในประเทศและการพัฒนาขีดความสามารถ ในภาคการผลิต การส่งออก การแปรรูปและการตลาดให้แข็งแกร่งเพื่อขับเคลื่อนภาคเกษตรไทยไปสู่…ผู้นำ ส่งออกและไปสู่ครัวโลกในไม่ช้า

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงผลดำเนินงานของกระทรวงเกษตรในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาว่า ได้ผลักดันโครงการสำคัญๆ เป็นผลสำเร็จในหลายโครงการด้วยกัน อาทิ โครงการจัดพื้นที่เกษตรเศรษฐกิจหรือเกษตรโซนนิ่ง ความคืบหน้าล่าสุดได้มีการประกาศเขตเกษตรเศรษฐกิจ สำหรับพืช ประมง ปศุสัตว์ แล้ว 20 ชนิด ส่งผลให้เกษตรกรในหลายพื้นที่เริ่มปรับเปลี่ยนพื้นที่เกษตรที่ไม่เหมาะสม ไปสู่พืช ประมง ปศุสัตว์ ที่เหมาะสมมากกว่า รวมทั้งได้ทดลองเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวนาดอนที่ไม่เหมาะสมไปเป็นอ้อย โดยมีโรงงานรองรับ 20 โรงงาน มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเป็นพื้นที่ 130,000 ไร่ แล้ว และมีแผนขยายถึง 6 ล้านไร่ในปี 2558 และหลังจากประมวลผลจากผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว จะใช้งบประมาณ 2558 เพื่อปรับเปลี่ยนหรือขยายผล ตามความต้องการของตลาดต่อไป

นอกจากนี้ ยังประสบความสำเร็จในการผลักดันโครงการ Smart Farmer และ Smart officer ซึ่งเป็นโครงการสำคัญในการเข้าไปพัฒนาเกษตรกรให้รู้จักคิดเป็น โดยมีเป้าหมายการพัฒนาตามความต้องการของเกษตรกรเฉพาะราย ให้มีรายได้เท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ เป็นอย่างน้อย 180,000 บาท/ปี ตามด้วยโครงการพัฒนาสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน ทั้งเรื่องการจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารภายใต้ พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งขณะนี้มีมากกว่า 127 มาตรฐาน ส่งเสริมพัฒนาให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบการผลิตมาตรฐาน

นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันโครงการพัฒนาเป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์รองรับประชาคมอาเซียน โครงการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน โดยวางยุทธศาสตร์ของประเทศด้านการเกษตรในสินค้าแต่ละชนิดเพื่อเป็นผู้นำ ผู้ร่วมลงทุน หรือผู้รับสินค้าจากประเทศอาเซียนหลังการเปิดเสรีประชาคมอาเซียนในปี 2558 โครงการเมืองเกษตรสีเขียว โดยนำร่อง ดำเนินการใน 6 จังหวัด คือ เชียงใหม่ หนองคาย ราชบุรี พัทลุง จันทบุรี ศรีสะเกษ โครงการบริหารจัดการน้ำและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งกรมชลประทานและกรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกันพิจารณาบริหารจัดการน้ำในเขตชลประทาน และนอกเขตชลประทานให้มีความชัดเจน มีระบบเตือนภัยเวลาเกิดน้ำท่วม ฝนแล้ง แจ้งเตือนภัยแก่เกษตรกรล่วงหน้าและมีประสิทธิภาพ เพิ่มพื้นที่ชลประทานปีละ 200,000 ไร่ เป็นอย่างน้อย เพิ่มบ่อน้ำขนาดเล็กนอกเขตชลประทานปีละ 100,000 บ่อ และวางระบบเติมน้ำในแหล่งน้ำชุมชน ให้สามารถใช้น้ำเพื่อการเกษตรในช่วงแล้งได้

และยังรวมไปถึงการปฏิบัติราชการในด้านการพัฒนาเกษตรกร ด้านการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โดยใช้มาตรการเพิ่มศักยภาพของเกษตรกรให้เข้าสู่การผลิตในระบบมาตรฐานต่างๆ ทั้งพืช ประมง ปศุสัตว์ ด้านการจัดการโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะในเรื่องดินและน้ำ และ ด้านการบริหารจัดการ เช่น การปรับโครงสร้างองค์กรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ การปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ เช่น พ.ร.บ. คุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม พ.ร.บ. สวัสดิการชาวนา พ.ร.บ. การยาง ฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อยังผลประโยชน์สู่เกษตรกรและภาคเกษตรของประเทศให้ก้าวหน้าอย่างมั่นคงและเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

นายชวลิต ยังได้กล่าวถึงแนวทางในการพัฒนาภาคเกษตรไทยในย่างก้าวที่ 123 ปีด้วยว่า จะยังคงเดินหน้าภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์หลักด้วยกัน คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรได้รับการพัฒนาศักยภาพให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยมีรายได้พอเพียงต่อการดำรงชีวิต และมีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดูแลและช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ ฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อยที่ได้รับการพักหนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนา ขีดความสามารถในการผลิต การจัดการสินค้าเกษตร และความมั่นคงอาหารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และเพียงพอต่อความต้องการ มูลค่าสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น อำนวยความสะดวกการค้าและการขนส่งทางการเกษตรเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคร่วมกัน ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาทรัพยากรการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ สมดุลและยั่งยืน เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 4.22 ล้านไร่ เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของฐานทรัพยากรธรรมชาติด้านการประมงและบริหารจัดการให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน ดำเนินการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมและการพัฒนาที่ดินอย่างยั่งยืน

“ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร จะเห็นได้จากมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคการเกษตร เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2555 จะมีมูลค่า 1.39 ล้านล้านบาท และในปี 2556 มีมูลค่าสูงขึ้นเป็น 1.43 ล้านล้านบาท ซึ่งเกิดจากผลผลิตพืชสำคัญที่สามารถพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต และมีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ย้อนหลัง 3 ปี เพิ่มสูงขึ้นในทิศทางเดียวกับมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคการเกษตร และการเพิ่มขึ้นของมูลค่าภาคการเกษตรและปริมาณผลผลิตนี่เองที่ช่วยให้ ภาคเกษตรกรรมของประเทศสามารถแข่งขันกับสินค้าเกษตรจากต่างประเทศในตลาดโลกได้ อย่างมีศักยภาพ” นายชวลิต กล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังให้ความสำคัญกับการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยเกิดการรวมกลุ่ม เพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านองค์ความรู้ วิธีการผลิต และการจัดการระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพการเกษตรเลี้ยงดูตัวเองได้อย่างยั่งยืน และที่ต้องนับเป็นโชคดีของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเกษตรกรโดยทั่วไปที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมอบแนวพระราชดำริเพื่อพัฒนาภาคการเกษตรมาอย่างยาวนาน ซึ่งเหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีความพร้อมน้อย โดยได้น้อมนำแนวพระราชดำริด้านต่างๆ มาเสริมสร้างเป็นองค์ความรู้ และทักษะในการผลิตให้สามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างยั่งยืน เสริมสร้างรายได้ในครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรพ้นจากความยากจน และมีความกินดีอยู่ดีมากขึ้นในปัจจุบัน

จะต้องจับตามองว่า….ทิศทางขับเคลื่อนของกระทรวงเกษตรฯ ในย่างก้าวที่ 123 ปี นับจากนี้ไปจะนำพาภาคเกษตรไทยไปสู่เป้าหมายได้มากน้อยเพียงใด

จรัส ลีลาศิลป์/ธนวันต์ บุตรแขก : รายงาน

 

วันที่ 3/04/2557 เวลา 10:00 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

235

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน