6 ชาติคลอด “ฟุตซี่ อาเซียน”
ตลาดหลักทรัพย์ไทย ผนึก 6 ประเทศอาเซียน คลอดดัชนีฟุตชี่ตลาดหลักทรัพย์อาเซียน คัดหุ้นเด่น 30 ตัวของแต่ละประเทศ มารวมอยู่ในดัชนีฟุตชี่ฯ อาเซียน เพื่อสร้างศักยภาพของตลาดหุ้นอาเซียนให้น่าสนใจ และดูดทุนต่างต่างชาติเข้ามาลงทุน ผู้จัดการ ตลท. แนะนักลงทุนระยะยาวใช้ช่วงการเมืองยังไม่นิ่งลงทุนในหุ้นพื้นฐานดี
นายจรัมพร โชติกเสถียร ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ในวันศุกร์ที่ 4 เม.ย.นี้ จะมีการลงนามดัชนีฟุตชี่ตลาดหลักทรัพย์อาเซียน “ฟุตซี่ อาเซียน สตาร์” ที่เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซียน เพื่อเป็นดัชนีการลงทุนในหุ้น 30 ตัวเด่น ใน 6 ประเทศของอาเซียน ได้แก่ ไทย, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยแต่ละประเทศเป็นผู้คัดเลือกมา นับเป็นครั้งแรกที่มีดัชนีร่วม และเป็นการประชาสัมพันธ์ดัชนีหลักทรัพย์ร่วมกันของอาเซียน จะทำให้เป็นจุดดึงดูดทั้งนักลงทุนนอกกลุ่มและในกลุ่มอาเซียน
การลงนามร่วมดังกล่าว จะเกิดขึ้นในระหว่างการประชุมผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ 7 แห่งใน 6 ประเทศของอาเซียน ซึ่งเวียดนาม นับเป็นประเทศเดียวที่แบ่งตลาดหลักทรัพย์ออกเป็น 2 แห่ง คือ โฮจิมินห์ และฮานอย ซึ่งที่ฮานอยนับเป็นตลาดที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาตลาดพันธบัตรของรัฐบาลเวียดนาม ทำให้ต้นทุนทางการเงินของรัฐลดต่ำลงร้อยละ 1-2 เมื่อเปรียบเทียบกับการไปกู้เงินขากธนาคารพาณิชย์ทั่วไป
นายจรัมพร เปิดเผยด้วยว่า ในการประชุมผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์อาเซียนจะมีการประชุมร่วมกันทุก 3 เดือน เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน โดยปัจจุบันตลาดของไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ประสบความสำเร็จในการเป็นตลาดที่ซื้อขายร่วมกันได้ (Asean Link Gate) ผ่านโบรกเกอร์ต่างๆ และในอนาคตสมาชิกอยู่ในระหว่างการทำแผนแก้หลักเกณฑ์ในประเทศ เพื่อจะได้เข้าสู่ Asean Linkage ร่วมกัน
“แต่ละสมาชิกในตลาดหลักทรัพย์อาเซียนมีจุดอ่อน จุดแข็งแตกต่างกัน เช่น กรณีของไทย เป็นตลาดขนาด 27 ของโลก แต่เมื่อหากรวมเป็นอาเซียนแล้ว ขนาดของอาเซียนที่มีประชากรรวม 600 ล้านคน จีดีพีเป็นที่น่าสนใจก็จะดึงดูดการลงทุนมากขึ้น”
นายจรัมพร กล่าวด้วยว่า ในภาวะที่ประเทศไทยประสบปัญหาการเมืองกระทบต่อจีดีพีและกระทบต่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ราคาหุ้นลดต่ำลง ดังนั้น ในช่วงนี้ถือได้ว่า ต้นทุนต่ำจะเป็นโอกาสที่ดีที่นักลงทุนจะเข้ามาเก็บหุ้นในพอร์ต เพราะหากย้อนกลับไปวิกฤติการเมือง 3 ครั้งพบว่า ดัชนีหุ้นจะกลับมาฟื้นตัวสู่จุดเดิมในระยะ 3 เดือน 5 เดือน และ 13 เดือน และในส่วนของผู้ประกอบการคงต้องมองถึงการแข่งขันและตลาดหลักทรัพย์นับเป็นเครื่องมือในการระดมทุนที่ดี โดยในขณะนี้มี 8 แห่งที่พร้อมจะกระจายหุ้นไอพีโอ ทั้ง SET และ MAI ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ในขณะนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ในระกว่างการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ต่างๆ รองรับ ก.ล.ต.ที่มีการประกาศให้ บริษัทที่ไม่ใช่นิติบุคคลต่างชาติ สามารถเข้ามาจดทะเบียนใน ตลท.ได้ ซึ่งเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะได้รับความน่าสนใจ
“ขณะที่ปัญหาการเมืองภายในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อ Market Cap ของตลาดหุ้นไทย แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ บริษัทจดทะเบียนที่ทำการซื้อขายหุ้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว ซึ่งบางบริษัทจะอิงกับนโยบายภาครัฐ และโครงการที่เข้าประมูลงานภาครัฐ ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน เช่นผลประกอบการกำไรและรายได้ที่ลดลง โดยขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจเป็นหลัก ในขณะที่ บริษัทจดทะเบียนใหม่ ที่เตรียมจะเข้าทำการซื้อขายหุ้น IPO นั้น คาดว่าจะไม่ผลกระทบ เนื่องจากนักลงทุนรับรู้สถานการณ์การเมืองที่ผ่านมาเป็นอย่างดี และยอดจองหุ้น IPO ที่เตรียมจะเข้าตลาดนั้น มีการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี ซึ่งคาดว่า Market Cap ของหุ้น IPO ที่จะเข้าใหม่ในปีนี้ จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ราคาหลักทรัพย์ที่ปรับตัวลดลงจากปัจจัยต่างประเทศในเรื่องมาตรการ QE ของสหรัฐ และปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศที่เป็นปัญหาระยะสั้นเท่านั้น ส่งผลให้หุ้นมีราคาที่ถูกลงแล้ว ถือว่าช่วงเวลานี้เหมาะสมกับการที่นักลงทุนจะเข้าไปลงทุนระยะยาว”
สำหรับการเยี่ยมชมตลาดหลักทรัพย์ฮานอย ประเทศเวียดนาม โดยตลาดหุ้นเวียดนามมีตลาดหลักทรัพย์อยู่ 2 แห่งคือ ตลาดหลักทรัพย์ฮานอย และตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ ซึ่งตลาดหุ้นฮานอย มีบริษัทจดทะเบียน 396 บริษัท แนวโน้มอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ ประมาณ 20% ซึ่งจากวิกฤติทางการเงินในประเทศสหรัฐจากมาตรการ QE ที่ผ่านมา ส่งผลให้เศรษฐกิจภายในประเทศเวียดนามปรับตัวลดลง ตลาดหลักทรัพย์ฮานอยมีการซื้อขายต่อวันอยู่ที่ 900 ล้านบาท มาเก็ตแคป 1.9 แสนล้านบาท PE 19 เท่า. ตลาดหุ้นโฮจิมินห์ ซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 2,600 ล้านบาท มาเก็ตแคป 1.5 ล้านล้านบาท PE 13 เท่า ประเทศไทยซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 30,000 ล้านบาท มาเก็ตแคป 12 ล้านล้านบาท PE 12 เท่า
ทั้งนี้ เก็ตแคป ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2556 ของสิงคโปร์ 7.44 แสนล้านเหรียญสหรัฐ/มาเลเซีย 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ/ไทย 3.54 แสนล้านเหรียญสหรัฐ/อินโดนีเซีย 3.47 แสนล้านเหรียญสหรัฐ/ฟิลิปินส์กว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ/โฮจิมินห์ 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ/ฮานอย 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งประเทศไทย มีจำนวนนักลงทุนที่เปิดบัญชี 9.7 แสนบัญชี ขณะที่เวียดนามมีจำนวนนักลงทุน 1.2 ล้านบัญชี
วันที่ 1/04/2557 เวลา 5:43 น.