ไม่ต้องเซอร์ไพรส์ กนง.ลดดอกเบี้ย

ล้อมคอกก่อนสายเสี่ยงเศรษฐกิจดิ่งเหว

กนง.ปรับลดดอกเบี้ย เพราะต้องการล้อมคอกเศรษฐกิจไทยไม่ให้ถูกการเมืองซัดจนโงหัวไม่ขึ้น หวังช่วยกระตุ้นสภาพคล่อง ต่อลมหายใจธุรกิจ แม้จะทำให้ผู้ฝากเงินต้องผิดหวังกับดอกเบี้ยที่จะต้องลดลงก็ตาม แต่ผู้บริหารนโยบายการคลังกลับมองว่า น่าจะรอเวลาให้ไข้งอมกว่านี้ก่อนใช้ยาแรงอัดฉีดกระตุ้นครั้งใหญ่

หักปากกาเซียนหลายสำนักไปตามกัน ที่วิเคราะห์กันว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ครั้งล่าสุดที่ผ่านมาจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม

แต่ผลสรุปของที่ประชุม กนง. มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.25% เป็น 2% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ทั้งนี้ โดยเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าขณะนี้ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยมีมากขึ้น จากสถานการณ์การเมืองที่ยังยืดเยื้อ ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานแม้ปรับขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น นโยบายการเงินสามารถผ่อนคลายเพิ่มเติมได้ เพื่อเพิ่มแรงสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ อีก 3 เสียง เห็นควรให้คงดอกเบี้ย เพราะอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว และอุปสรรคการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ได้มาจากปัจจัยการเงิน จึงควรรอเวลาที่เหมาะสม ควรเก็บกระสุนเอาไว้ใช้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

“การลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ กนง.พิจารณาภายใต้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ขยายตัวต่ำกว่า 3% และได้พิจารณางบลงทุนของภาครัฐเพียง 1 ใน 4 ของงบลงทุนทั้งหมด โดยไม่ได้รวม พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท และโครงการบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท พิจารณาเฉพาะงบโครงการต่อเนื่องและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจเท่านั้น ดังนั้น แม้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้กระทบต่อประมาณการของ ธปท. ซึ่งในวันที่ 21 มีนาคม 2557 กนง.จะแถลงการปรับประมาณการเศรษฐกิจใหม่” นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ กนง. กล่าว

เหตุผลเรียกความเชื่อมั่น

ซึ่งในน้ำหนักเรื่องประสิทธิผลของดอกเบี้ยที่ลดลง ถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้กรรมการแต่ละท่านมีความเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งเสียงข้างน้อยมองว่าประสิทธิผลของการลดดอกเบี้ยในภาวการณ์ขณะนี้อาจไม่ได้มาก จึงควรสงวนกระสุนนโยบายไว้ใช้ยามจำเป็น แต่เสียงข้างมากเห็นว่า การลดดอกเบี้ยลงจะมีส่วนช่วยพยุงความเชื่อมั่นและทำให้ภาวะการเงินมีความผ่อนปรนมากขึ้น ซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนการช่วยของเศรษฐกิจ สำหรับดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับลดลงเหลือ 2% นั้น ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี 3 เดือน นับจากวันที่ 1 ธ.ค.53

พร้อมยืนยันว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้เพื่อพยุงความเชื่อมั่นและกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคประชาชน ไม่ใช่เพื่อกระตุ้นเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์เพียงอย่างเดียว รวมทั้งยังเป็นการผ่อนคลายภาระต้นทุนในการออกหุ้นกู้ของเอกชน และภาระดอกเบี้ยเงินกู้ของประชาชน ซึ่งจะช่วยลดภาระการใช้จ่ายของภาคประชาชนด้วย ส่วนผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินตรานั้นก็คงจะมีผลบ้าง แต่การลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์อยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาตลาดเงินมีเสถียรภาพพอสมควร และ ธปท.ก็ดูแลสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนอยู่แล้ว

โดยหลังจาก กนง.ลดดอกเบี้ยก็คงต้องดูว่าตลาดการเงินจะตอบสนองในทิศทางใด ซึ่งถ้าดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนดอกเบี้ยตลาดพันธบัตรลดลง ก็คงจะช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนการเงินของผู้ประกอบการลงได้บ้าง แต่ในส่วนของผู้ออมที่มีรายได้จากดอกเบี้ยก็คงจะปรับลดลงไปบ้างเช่นกัน

ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย มองว่า ดอกเบี้ยที่ลดลงคงมีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายไม่มากนัก ส่วนหนึ่งเพราะตลาดได้คาดไว้บางส่วนอยู่แล้ว ดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายลง อาจมีส่วนช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายหรือลงทุนของภาคเอกชนได้บ้าง และในการประชุม กนง.รอบนี้ได้มีการปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจใหม่เช่นกัน โดยจะมีการแถลงข่าวเป็นทางการวันที่ 21 มี.ค.นี้ ซึ่งตัวเลขใหม่ที่ปรับมีระดับต่ำกว่า 3% ตามที่เคยได้ประเมินไว้ก่อนหน้า เป็นผลจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่เป็นไปตาม ธปท.เคยคาดการณ์เอาไว้

ประเด็นหนึ่งที่ประเมินคือ งบลงทุนของภาครัฐที่หายไป และจากกรณี พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ภาครัฐใช้จ่ายเงินลงทุนน้อยลง ไม่สามารถใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้เต็มที่ ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง

เน้นการฟื้นตัวศก.หลัก

สำหรับการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจโลกนั้น กนง.ประเมินว่า ฟื้นตัวที่ดีขึ้นจากการประชุมในครั้งก่อนหน้า ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศหลัก ส่วนเศรษฐกิจจีนแม้ขยายตัวได้ต่อเนื่องแต่การลงทุนเริ่มชะลอลง ด้านเศรษฐกิจเอเชียโดยรวมได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออก ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลัก ขณะที่อุปสงค์ในประเทศของอาเซียนมีแนวโน้มชะลอ

ส่วนเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2556 และเดือน ม.ค.57 ชะลอลงตามอุปสงค์ในประเทศที่หดตัว โดยการใช้จ่ายภาคเอกชนได้รับผลกระทบจากความเชื่อมั่นที่ลดลง ขณะที่การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากการเมืองมากขึ้น ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุน แต่การส่งออกมีแนวโน้มค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น

ผลที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเห็นได้ทันที คือการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ โดยธนาคารไทยพาณิชย์พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดีแบบมีระยะเวลา หรือเอ็มแอลอาร์ ลง 0.125% ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อย หรือเอ็มอาร์อาร์ ลง 0.125% ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ลดลง 0.10% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์บุคคลธรรมดา ลดลง 0.125% มีผลตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา

นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนของธนาคารกรุงไทยขณะนี้ พร้อมลดดอกเบี้ยลง เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว คงต้องปรับลดเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อของธนาคารให้สอดคล้องกับทิศทางอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศ เดิมคาดว่าจีพีดีขยายตัว 4.5% แต่ขณะนี้ได้ปรับลดเหลือ 3.2% จึงเชื่อว่าทำให้การขยายตัวของสินเชื่อลดเหลือประมาณ 4.5% เพื่อให้เติบโตมากกว่าจีดีพี 1.5 เท่า จากเดิมตั้งเป้าการปล่อยสินเชื่อเติบโต 7-10% .

รายงานข่าวจากธนาคารกรุงเทพแจ้งว่า ธนาคารได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (เอ็มแอลอาร์) ลง 0.125% จากเดิม 6.875% เป็น 6.75% และปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (เอ็มโออาร์) จากเดิม 7.375% เป็น 7.25% พร้อมกันนี้ได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ลง 0.125% จากเดิม 0.625% เป็น 0.5% และปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทลงตั้งแต่ 0.10-0.25% โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2557 เป็นต้นไป

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อตอบสนองนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 2% โดยธนาคารพิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อเพิ่มแรงสนับสนุนให้กับภาวะเศรษฐกิจในประเทศและลดต้นทุนในการทำธุรกิจให้กับลูกค้า จึงได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (เอ็มแอลอาร์) ลง 0.13% จากเดิม 6.88% เป็น 6.75% และปรับอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีป ระเภทเงินเบิกเกินบัญชี (เอ็มโออาร์) เป็น 7.40% ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์บุคคลธรรมดาปรับลดลง 0.13% จากเดิม 0.63% เป็น 0.50% และปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากประจำลง 0.15-0.25% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2557 เป็นต้นไป

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า การปรับลดดอกเบี้ยดังกล่าวจะมีผลต่อดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่อาศัยปรับลดลงเฉลี่ย 0.25% โดยจะมีผลในวันที่ 1 เมษายนนี้ ส่วนภาพรวมการปล่อยสินเชื่อช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ต่ำกว่าเป้า 10-20% สำหรับสินเชื่อใหม่ มูลค่า 4,200 ล้านบาท จากเป้ารวมสินเชื่อใหม่ทั้งปีที่ 52,000 ล้านบาท ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารอยู่ที่ 1.6%

นายอมรเทพ จาวะลา หัวหน้าส่วนวิจัยเศรษฐกิจและตลาดการเงิน สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ธนาคารมองว่าจะไม่เห็นการลดดอกเบี้ยอีกในปีนี้ เนื่องจากยังไม่ใช่ช่วงดอกเบี้ยขาลง และหากปัญหาการเมืองจบ เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว และมีโอกาสได้เห็นดอกเบี้ยปรับขึ้นได้ในช่วงปลายปี

แบงก์ชาติหวังกระตุ้นใช้จ่าย

ซึ่งในเรื่องเดียวกันนี้ นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นว่า ผลตอบรับจากตลาดการเงินหลังคณะกรรมการนโยบายการเงินลดดอกเบี้ยนโยบายลง ขณะนี้มีธนาคารพาณิชย์ 3 แห่งที่ออกมาตอบรับการปรับลดดอกเบี้ยแล้ว ถือว่าเป็นการส่งผ่านนโยบายที่เกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว ภาพรวมการลดดอกเบี้ยไม่ได้เป็นปัจจัยสร้างความประหลาดใจให้กับตลาด โดยเฉพาะผลที่มีต่ออัตราแลกเปลี่ยนนั้นยังเป็นปกติ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวมีเสถียรภาพต่อเนื่อง ตลาดพันธบัตรระยะสั้นไม่ปรับตัวแตกต่างจากที่คาดไว้ ตลาดหุ้นยังอยู่ในภาวะปกติ

ขณะนี้เศรษฐกิจไทยยังต้องการภาวะสนับสนุนจากนโยบายการเงิน แต่มากหรือน้อยยังไม่ชัดเจน ซึ่งนโยบายการเงินขณะนี้เห็นว่าควรอยู่ในระดับที่ผ่อนปรนเพื่อช่วยประคองภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากเห็นว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคค่อนข้างต่ำ จึงคาดหวังว่านโยบายการเงินในระดับผ่อนปรนจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย แม้ว่าอาจจะโตไม่มาก แต่ก็ช่วยประคองภาวะการชะลอตัวได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม นโยบายการเงินยังมีช่องว่างในการใช้ดูแลเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง โดยในอดีตดอกเบี้ยนโยบายเคยปรับลดลงไปต่ำสุดอยู่ที่ 1.25%

แม้เงินเฟ้อพื้นฐานล่าสุดเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา จะเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 อยู่ที่ 1.22% เนื่องจากราคา LPG และราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้น แต่การส่งผ่านราคาไปยังสินค้าหมวดอื่นที่ไม่ใช่อาหารยังมีไม่มาก ประกอบกับยังไม่มีแรงกดดันจากความต้องการของผู้บริโภคสูง ดังนั้นการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้จึงไม่มีความกังวลว่าจะก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น

ในส่วนของภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยภาพรวมยังชะลอตัว ทั้งในแง่ของการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ระมัดระวังในการใช้จ่าย รวมทั้งธนาคารยังคงมีความเข้มงวดในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ อีกทั้งผู้ประกอบการชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ตามภาวะเศรษฐกิจ

ขณะที่คุณภาพสินเชื่ออาจด้อยลงบ้างในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว แต่ยังไม่เห็นสัญญาณที่เป็นอันตราย ซึ่งในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวกลุ่มลูกค้าที่มีสายป่านสั้น เช่น กลุ่มเอสเอ็มอีจะมีผลกระทบก่อนและมากที่สุด รองลงมาคือภาคครัวเรือนที่ก่อนหน้านี้มีภาระหนี้ในครัวเรือนสูง ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้น้อยลง แต่มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาเหมือนกับปี 40

เงินบาทอ่อน ส่งออกดี

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้น่าจะมีส่วนทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้าง ซึ่งถ้าเงินบาทอ่อนค่าลงจริงอาจมีส่วนสนับสนุนให้การส่งออกฟื้นตัวได้ดีขึ้น เพราะที่ผ่านมาสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการส่งออกยังไม่ค่อยดีมากนัก

ขณะที่ฝ่ายผู้บริหารนโยบายการคลังกลับมีมุมมองว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ย ของ กนง.ครั้งนี้ เป็นการตัดสินใจที่เร็วเกินไป หากจะปรับลดควรให้การเมืองคลี่คลายกว่านี้ และลดครั้งเดียวหนักๆ ไปเลย โดยคาดว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยลงอีกในการประชุมครั้งต่อไป

“การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจลดดอกเบี้ยเพียง 0.25% เหลือ 2% น่าจะช่วยลดต้นทุนการกู้เงินของภาคเอกชน แต่รู้สึกเสียดายหาก กนง.จะรอเวลาให้การเมืองคลี่คลายกว่านี้แล้วจึงตัดสินใจลดดอกเบี้ยในคราวเดียว 0.5% น่าจะเป็นยาแรงในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่าการลดครั้งละ 0.25% แต่เมื่อดูจากที่ กนง.ปรับลดดอกเบี้ยไป 0.25% ครั้งนี้แล้ว เชื่อว่าจากนี้คงต้องมีการปรับลดดอกเบี้ยอีกในรอบปีนี้” นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ให้ความเห็น

การเมืองปัจจัยหลัก

อย่างไรก็ตาม แม้ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% แต่คาดว่าจะไม่สามารถช่วยสนับสนุนหรืออุ้มระบบเศรษฐกิจไทยที่กำลังชะลอตัวอยู่ในขณะนี้ให้ดีขึ้นได้ทั้งระบบ เพราะขณะนี้ปัจจัยทางการเมืองยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น หากสถานการณ์ทางการเมืองมีความรุนแรง และยังคงยืดเยื้ออึมครึมต่อไปเช่นนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจะไม่ส่งผ่านหรือกระตุ้นระบบเศรษฐกิจได้มากนัก

หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ โดยรัฐบาลมีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ และสามารถขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผนวกกับ กนง.ลดอัตราดอกเบี้ย จึงจะเป็นวิธีที่ช่วยให้เศรษฐกิจของครึ่งปีหลัง ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค การใช้จ่าย การลงทุน สามารถปรับตัวได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

ขณะเดียวกัน ก็จะมีกลุ่มผู้บริโภคที่ก่อนหน้านี้มีการพิจารณาหรืออยู่ในขั้นตอนที่กำลังตัดสินใจ ที่มีความต้องการในส่วนของบ้าน ที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์ประเภทต่างๆ โดยมีกำลังซื้อและความต้องการเป็นทุนเดิมอยู่แล้วนั้น เมื่อ กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเช่นนี้ก็จะช่วยให้สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วขึ้น เพราะดอกเบี้ยในการกู้ยืมปรับตัวถูกลง

ขณะที่ปัจจัยหลักที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยยังคงเป็นเรื่องของการเมือง รองลงมาคือ การส่งออก เพราะหากว่าการส่งออกไม่สามารถฟื้นตัวได้ ก็จะมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยต่อเนื่องหนักขึ้นไปอีก และปัจจัยของการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย คือปัจจัยลำดับสุดท้ายที่จะมีพลังที่จะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ

โดยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งอาจต่ำกว่า 3% และหากว่าความขัดแย้งทางการเมืองลากยาวเกินช่วงครึ่งปีแรก แต่ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรง และไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ทันช่วงกลางปี อาจทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำลงไปใกล้ระดับ 2% แต่หากมีความรุนแรงเกิดขึ้น จะส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เพียง 0.5% เท่านั้น

“ปัจจัยหลักที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยยังคงเป็นเรื่องของการเมือง รองลงมาคือ การส่งออก เพราะหากว่าการส่งออกไม่สามารถฟื้นตัวได้ ก็จะมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยต่อเนื่องหนักขึ้นไปอีก และปัจจัยของการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย คือปัจจัยลำดับสุดท้ายที่จะมีพลังที่จะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งอาจต่ำกว่า 3% และหากว่าความขัดแย้งทางการเมืองลากยาวเกินช่วงครึ่งปีแรก แต่ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรง และไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ทันช่วงกลางปี อาจทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำลงไปใกล้ระดับ 2% แต่หากมีความรุนแรงเกิดขึ้น จะส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เพียง 0.5% เท่านั้น” นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าว

ทีมข่าวเศรษฐกิจ/รายงาน

 

 

วันที่ 17/03/2557 เวลา 10:30 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

225

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน