เชิญเที่ยวงานสมโภช “กาฬสินธุ์ 220 ปี”

โชว์ของดีเมืองน้ำดำ เชิดชูวัฒนธรรมอีสาน อลังการแสง สี เสียง จินตลีลา

 

“พระองค์ดำลือเลื่อง เมืองฟ้าแดดสงยาง โปงลางเลิศล้ำ วัฒนธรรมผู้ไทย ผ้าไหมแพรวา ผาเสวยภูพาน มหาธารลำปาว ไดโนเสาร์สัตว์โลกล้านปี”

คือคำขวัญประจำ จ.กาฬสินธุ์ ที่บ่งบอกถึงตัวชี้วัดในพื้นที่ หรือตามคำผญาท้องถิ่นที่ว่า…กาฬสินธุ์ดินดำน้ำซุ่ม ปลากุ้มบ้อนคือแข่แกว่งหาง ปลานางบ้อนปานฟ้าลวงบน แตกจ้นๆ คนปีบโฮแซว เมืองนี่มีซูอันซูแนวแอนระบำรำฟ้อน…

จ.กาฬสินธุ์ เป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์จังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน จากหลักฐานทางโบราณคดีระบุว่าเคยเป็นที่อยู่อาศัยของเผ่าละว้า ซึ่งมีความเจริญทางด้านอารยธรรมประมาณ 1,600 ปี ตามบันทึกระบุว่า ในปี พ.ศ.2336 บ้านแก่งสำโรงได้รับการสถาปนาเป็นเมืองกาฬสินธุ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงษ์จักรี หลังจากเจ้าโสมพะมิตรเข้าเฝ้าฯ ถวายสวามิภักดิ์ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณแต่งตั้งขึ้นเป็น “พระยาชัยสุนทร” เจ้าเมืองท่านแรก และพระราชทานนามว่า “เมืองกาฬสินธุ์” หรือ “เมืองน้ำดำ” ซึ่ง “กาฬ” แปลว่า “ดำ” “สินธุ์” แปลว่า “น้ำ” กาฬสินธุ์จึงแปลว่า “น้ำดำ”

เมื่อ พ.ศ.2437 เมื่อพระยาชัยสุนทร (ท้าวเก) เป็นเจ้าเมือง มีการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองแบบให้เจ้าเมืองปกครองขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร มาเป็นรูปการปกครองแบบเทศาภิบาล มีมณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เมืองร้อยเอ็ดเป็น จ.ร้อยเอ็ด บรรดาหัวเมืองต่างๆ ให้ยุบเป็นอำเภอ คือ เมืองกาฬสินธุ์ เป็น อ.อุทัยกาฬสินธุ์

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2456 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะ จ.ร้อยเอ็ดขึ้นเป็นมณฑล ยกฐานะ อ.อุทัยกาฬสินธุ์เป็น จ.กาฬสินธุ์ ขึ้นต่อมณฑลร้อยเอ็ด และมีอำนาจปกครอง อ.อุทัยกาฬสินธุ์ อ.สหัสขันธ์ อ.กุฉินารายณ์ อ.กมลาไสย อ.ยางตลาด โดยให้พระภิรมย์บุรีรักษ์เป็นปลัดมณฑลประจำ จ.กาฬสินธุ์

ต่อมาเกิดข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ จำเป็นต้องยุบจังหวัดต่างๆ ลงเพื่อให้สมดุลกับรายได้ของประเทศ จ.กาฬสินธุ์ จึงถูกยุบเป็นอำเภอขึ้นกับ จ.มหาสารคาม เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2474 ล่วงมาถึงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2490 ได้ยกฐานะเป็น “จ.กาฬสินธุ์” จนถึงปัจจุบัน มีนายสุวิทย์ สุบงกฎ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด พื้นที่ปกครอง 18 อำเภอ

 

นายสุวิทย์ สุบงกฎ ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า แต่เดิมพื้นที่ส่วนใหญ่ส่วนใหญ่ มีความแห้งแล้งกันดาร แต่ก็ได้มีวิวัฒนาการทางกายภาพและชีวภาพ มาเรื่อยๆ ตามยุคสมัย ทำให้เกิดเป็นภาพแห่งความดีงามตามที่ประจักษ์ในหลายๆ ด้าน ทั้งนี้ก็ด้วยได้รับพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ที่ทรงมีน้ำพระราชหฤทัยอันใหญ่หลวงอย่างหาสุดมิได้ ต่อพสกนิกรชาวกาฬสินธุ์

“ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการพัฒนาแหล่งน้ำ การสร้างเขื่อนลำปาว โครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ โครงการเกษตรทฤษฏีใหม่ โครงการพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง โครงการศูนย์ศิลปาชีพทอผ้าไหมแพรวา ได้รับการเชิดชูด้านศิลปะดนตรีพื้นเมือง เช่น โปงลาง เและอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้พื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เกิดความอุดมสมบูรณ์ทั้งแหล่งน้ำ พืชพันธุ์ธัญญาหาร การมีผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือที่โดดเด่นเป็นราชินีแห่งไหม การมีเครื่องดนตรีโปงลางที่โด่งดังไปทั่วโลกฯ ก็ด้วยได้รับน้ำพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่ง จ.กาฬสินธุ์ ก็ได้สืบสานพระปณิธาน แนวทางที่พระองค์ท่านพระราชทานให้ไว้ เช่น มีการจัดเป็นงานประจำปีตลอดมา อาทิ งานมหกรรมโปงลาง แพรวา และงานกาชาด ระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์-7 มีนาคม, งานมหกรรมผ้าไหม แพรวา ราชินีแห่งไหม ที่จัดในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับโครงการศูนย์ศิลปาชีพทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน อ.คำม่วง ในพระราชินูปถัมภ์ ที่ทำให้แพรวาผืนเล็ก กลายเป็นผ้าแพรวาผืนใหญ่ที่มีคุณค่า สู่การเป็นสินค้าพื้นเมืองเลื่องชื่อในนามราชินีแห่งไหม สร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก”

นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า ในโอกาสที่ จ.กาฬสินธุ์ มีอายุครบ 220 ปี ประกอบกับเป็นช่วงเวลาอันเป็นมหามงคลยิ่ง ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิด “อาคารเรียนและห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา” ที่โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ ในวันที่ 19 มีนาคม 2557 จึงได้ร่วมกับส่วนราชการ พ่อค้า ประชาชน จัดงานสมโภช “กาฬสินธุ์ 220 ปี” ระหว่างวันที่ 19 -25 มีนาคม นี้อย่างยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติ เป็นการผนวก 2 งานใหญ่ไว้ด้วยกัน ประกอบด้วย “งานฉลอง 220 ปี กาฬสินธุ์” และ “งานมหกรรมวิจิตรแพรวา ราชินีแห่งไหม” ที่เลื่อนมาจากปีที่แล้ว เนื่องจากอยู่ในห้วงไว้ทุกข์ต่อการสิ้นพระชนม์สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก

“กิจกรรมในงานประกอบด้วย ช่วงเช้าของวันที่ 19 มีนาคม มีพิธีบวงสรวงพระยาชัยสุนทร บวงสรวงศาลหลักเมือง หอเจ้าบ้าน พิธีทำบุญตักบาตรถนนสายบุญ ขณะที่การรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กำหนดที่โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์, ภาคบ่ายมีการจัดริ้วขบวนแห่รถบุปผชาติ แสดงวิถีและภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน, ภาคค่ำ ที่บริเวณหอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา และเวทีสนามหน้าศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ ตื่นตาตื่นใจกับพิธีเปิดการแสดงแสง สี เสียง ดอกไม้ไฟ ชมการแสดงจินตลีลาตำนานเมืองกาฬสินธุ์ อันยิ่งใหญ่อลังการ การแสดงโปงลาง 220 ลาง การแสดงศิลปวัฒนธรรมฟ้อนรำผู้ไทย ที่ใช้นางรำจำนวน 5,000 คน ซึ่งได้เตรียมเวทีให้มีความกว้างใหญ่ แข็งแรง และตระการตาถึง 4 ชั้น”

 

น.ส.วิภาดา รัตนโรจนา ประชาสัมพันธ์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า กิจกรรมอื่นๆ ที่ประกอบในการจัดงาน 7 วัน 7 คืนนั้น มีการจัดนิทรรศการความเป็นมาของเมืองกาฬสินธุ์ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร สินค้าที่ระลึก และโอท็อปจากกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอาชีพทั้ง 18 อำเภอ โดยเฉพาะจะเป็นงานที่รวบรวมแพรวาราชินีแห่งไหม คุณภาพระดับ 5 ดาวที่ยิ่งใหญ่และมากที่สุดแห่งเดียวในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีการประกวดความสามารถของเยาวชน ประชาชน ลูกหลานชาวกาฬสินธุ์ ทั้งการแข่งขันร้องเพลงลูกทุ่ง กาล่าดินเนอร์ และการเดินแบบในชุดผ้าไหมแพรวาสุดประณีต อลังการ

“การจัดงานสมโภชกาฬสินธุ์ 220 ปีครั้งนี้ที่เป็นครั้งแรก จึงเป็นความภาคภูมิใจของชาวกาฬสินธุ์ ทุกภาคส่วน ที่ได้มีส่วนร่วมแรงกาย แรงใจ เสมือนเป็นการทำบุญเมืองก็ว่าได้ ทั้งนี้ เพื่อสะท้อนภาพให้เห็นถึงว่ากว่าจะมาถึงพุทธศักราชนี้ 220 ปี กาฬสินธุ์มีวิถี มีวิวัฒนาการอย่างไร เพื่อที่จะให้ชาวกาฬสินธุ์ทุกเพศ ทุกวัย เกิดความรัก หวงแหนในมาตุภูมิ สื่อให้เห็นถึงความผูกพันต่อการเกษตรกรรมที่เป็นอาชีพหลัก รวมทั้งการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ที่เป็นอัตลักษณ์อยู่ควบคู่สังคมอีสานมายาวนาน สื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของคนในชุมชนที่รักสงบ เรียบง่าย ยึดมั่นและเทิดทูนในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศล แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อวิญญาณของบรรพบุรุษ ที่นำพาสร้างบ้านแปลงเมืองจนดำรงอยู่ถึงทุกวันนี้ ตลอดทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มอาชีพ วิสาหกิจชุมชนต่างๆ ได้มีช่องทางจำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์พื้นเมืองที่หลากหลาย เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนให้ดีขึ้น เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอีกด้วย”

 

ในส่วนของการเตรียมความพร้อมนั้น ในฐานะที่ทุกคนใน จ.กาฬสินธุ์เป็นเจ้าภาพ ได้มีการประชุม ชี้แจง ทุกฝ่าย ทั้งส่วนราชการ ฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น ท้องที่ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ผู้ประกอบการร้านอาหาร ที่พักต่างๆ เปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยว ผู้มาเยือนด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส เน้นความสะอาด ปลอดภัย ราคาประหยัด ไม่ให้ฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้ใช้บริการ ขณะที่ประชาชนเอง ก็ให้มีน้ำใจ มีความเอื้ออาทร ทั้งนี้เพื่อให้นักท่องเที่ยว แขกบ้านแขกเมืองที่มาเยือนรู้ว่าคนกาฬสินธุ์ เมืองดินดำน้ำชุ่ม เป็นคนดี มีน้ำใจ ก็จะเกิดเป็นความประทับใจ ให้กลับมาเยี่ยมเยือนอีก เพราะกาฬสินธุ์มีของดี มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายไว้รอรับนักท่องเที่ยวทุกหนแห่ง ทุกอำเภอ

“เชื่อเหลือเกินว่า นักท่องเที่ยวที่มาร่วมงานสมโภชกาฬสินธุ์ 220 ปีแล้ว จะได้สัมผัสกับความดื่มด่ำ ประทับใจ ได้กำไรชีวิต คือทั้งได้เข้าเฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นอกจากนี้ยังได้ร่วมชื่นชมยินดีกับพี่น้องชาวกาฬสินธุ์ในโอกาสทำบุญฉลอง 220 ปี รวมทั้งได้มาเลือกซื้อผ้าไหมแพรวา สินค้าพื้นเมืองคุณภาพดี ราคาประหยัดอีกด้วย จึงขอเชิญนักท่องเที่ยว ประชาชน มาร่วมงานโดยพร้อมเพรียงกัน” น.ส.วิภาดา กล่าว

ชมพิศ ปิ่นเมือง/กาฬสินธุ์

 

 

วันที่ 11/03/2557 เวลา 14:05 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

412

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน