การพัฒนาจังหวัดระนองในเชิงรุก

เพื่อมุ่งเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

จังหวัดระนองได้รับยกฐานะให้เป็นจังหวัดระนองผ่านมาแล้ว 152 ปี ย้อนไปเมื่อปีจอ พ.ศ.2405 พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) โปรดเกล้าฯ ให้ยกเมืองระนองขึ้นเป็นจังหวัด และโปรดเกล้าฯ ให้ “พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) ตันสกุล ณ ระนอง เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดระนองเป็นคนแรก

ผ่านมาถึงวันนี้…จังหวัดระนอง ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เป็นความภูมิใจของชาวระนองที่เป็นจังหวัดเล็ก แต่ยังคงความเงียบสงบ มีป่าไม้ ภูเขา น้ำตก ถ้ำ บ่อน้ำร้อน และทะเลอันดามัน ประตูสู่จังหวัดเกาะสองประเทศพม่า จังหวัดระนองมีพื้นที่ 3,298,045 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 5 อำเภอ ได้แก่ 1.อ.เมือง 2.อ.กระบุรี 3.อ.กะเปอร์ 4.อ.ละอุ่น 5.อ.สุขสำราญ “จังหวัดระนอง” จังหวัดเล็กๆ มีพื้นที่ติดประเทศพม่าเป็นแนวยาว 169 กิโลเมตร จึงมีหลายเรื่องราวน่าสนใจ..เกี่ยวโยงไปถึงอนาคต

ว่าที่ ร.ต.เชิดศักดิ์ จำปาเทศ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ผู้ริเริ่มจัดงานสันนิบาต ที่ พระที่นั่งรัตนรังสรรค์ เป็นคนแรก บอกว่าในปี 2557 นี้ จังหวัดระนองต้องพัฒนาเชิงรุกตามยุทธศาสตร์ของจังหวัดระนองที่ทุกภาคส่วนร่วมกันคิด เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ยุทธศาสตร์สำคัญด้านต่างๆ

ประกอบด้วย 4 ประเด็น 1.เป็นเรื่องท่องเที่ยวเชิงสุขภาพชั้นนำ เพราะระนองมีบ่อน้ำแร่ร้อน คุณภาพติดอันดับต้นๆ ของโลก มีป่าชายเลนที่องค์กรยูเนสโกรับรอง มีทะเลอันดามัน มีเกาะช้าง เกาะพยาม ที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมาสัมผัสบรรยากาศที่บริสุทธิ์จากชายหาดกันไม่ขาดสาย จึงมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว

โดยการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและการท่องเที่ยวสุขภาพ ภายใต้แคมเปญ “เที่ยวระนอง ท่องสองแผ่นดิน” ที่ร้านอาหารเคียงเล เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2557

โดยใช้กลยุทธ์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวและส่งเสริมการตลาด และมุ่งเน้นทางด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเป็นหลัก 2.พัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องด้วย จ.ระนอง มีภูมิศาสตร์ และภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการผลิตสินค้าเกษตร โดยใช้กลยุทธ์การส่งเสริมการผลิต การบริโภค และจำหน่ายอาหารปลอดภัยสู่เมืองมุ่งสู่ครัวโลก ตามนโยบายของรัฐบาล 3.เป็นเมืองน่าอยู่ ประชาชนมีคุณภาพชีวิต และมีความมั่นคงปลอดภัย อย่างยั่งยืน ลดปัญหาอาชญากรรม และยาเสพติด และพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านความมั่นคง ในพื้นที่ชายแดนโดยมีโครงการหลักที่สำคัญ ประกอบด้วย ชุมชนเข้มแข็ง เตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติและบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้เป็นระบบ 4.เป็นประตูการค้าผ่านแดนฝั่งอันดามัน มีเป้าหมายการเชื่อมโยงทางด้านการค้า และ การลงทุนไทยกับอาเซียน โดยเฉพาะประเทศพม่าที่จะดำเนินการแบบต่อเนื่อง

โดยการดำเนินกิจกรรมพบปะเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ส่งออกระนองและภาคเอกชน และในปี 2557 นี้ จะริเริ่มสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศอินเดียและบังคลาเทศ โดย นายพิฑญาฬ เดชารัตน์ ผู้จัดการท่าเรือระนอง รายงานว่า ท่าเรืออเนกประสงค์ระนองมีความพร้อม สามารถรับเรือสินค้าขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส จอดเทียบท่าได้พร้อมกัน 2 ลำ และท่าเทียบเรือตู้สินค้ากว้าง 30 เมตร ยาว 150 เมตร สามารถรับเรือสินค้าขนาดไม่ 12,000 เดดเวทตัน จอดเทียบท่าได้ครั้งละ 1 ลำ ภายในท่าเรือมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบครัน และยังมีโกดังเก็บรักษาตัวสินค้า ที่รอรับ-รอส่ง ไว้บริการด้วย

นอกจากนี้จังหวัดระนองยังได้งบประมาณสร้างถนนเพชรเกษมสายชุมพร-ระนอง ใหม่เป็น 4 เลน จากความเห็นชอบของรัฐบาลเป็นระยะทาง 120 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 3,500 ล้านบาท

โดยนายบุญเลี้ยง หมู่เย็น ผู้อำนวยการแขวงการทางระนอง รายงานการดำเนินการก่อสร้างถนนใหม่ 4 เลนว่า การก่อสร้างถนนแบ่งออกเป็น 6 ช่วงตอน ช่วงแรกสร้างใกล้เสร็จแล้ว 14 กิโลเมตรจาก กม.30 อ.ละอุ่น-บ้านสองรา อ.กระบุรี จะเปิดให้รถวิ่งได้อย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายนนี้ ใช้งบประมาณ 599 ล้านบาท ช่วงที่ 2 เริ่มก่อสร้างต่อแล้วจากบ้านสองรา-หมู่บ้านซาลาเปาทับหลีระยะทาง 23 กิโลเมตร งบก่อสร้าง 897 ล้านบาท ช่วงที่ 3 จะเริ่มจากแยกปฐมพรก่อน ขณะนี้ออกแบบขั้นสุดท้ายแล้ว อยู่ในขั้นตอนเตรียมหาตัวผู้รับจ้าง คาดว่าประมาณ 1 เมษายน-พฤษภาคมปีนี้

3.คงได้ข้อสรุปที่แน่นอน ในส่วนที่เหลืออีก 3 ตอนนั้น ระยะทาง 50 กิโลเมตร ต้องใช้งบประมาณ 1,754 ล้านบาท อยู่ในแผนงบเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทของรัฐบาล ก็คงต้องลุ้นกันต่อไปว่าจะดำเนินการก่อสร้างต่อได้เมื่อไร

นอกจากนั้น นายสันต์ จรเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดระนอง ยังรายงานอีกว่า อ่างเก็บน้ำคลองหาดส้มแป้นสร้างเสร็จเกือบสมบูรณ์แล้วเหลือปรับภูมิทัศน์สถานที่ให้ดูสวยงาม เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว หากเปิดใช้ประโยชน์ สามารถเก็บกักน้ำจืดเพื่อใช้เป็นแหล่งส่งน้ำดิบให้แก่การประปา และโรงงานอุตสาหกรรมในเขต อ.เมืองระนอง ได้เกณฑ์เฉลี่ยในอัตราเดือนละ 2,000,000 ลบ.ม. ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการขยายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดระนองเป็นอย่างมาก

“จังหวัดระนอง” อนาคตคงรุ่งโรจน์ดุจเดียวเหมือนกับเป็น HUB ฮับของภาคใต้ เพราะมีความพร้อมหลายด้าน มีทั้งท่าเรือน้ำลึก สนามบินถนน 4 เลน อ่างเก็บน้ำจืดดิบ และยังมีชายแดนติดประเทศพม่า หากสามารถบริหารดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ การพัฒนาจังหวัดระนองให้เป็นไปตามระบบ และมีพลังประชาชนชาวระนอง หน่วยงานราชการ หน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานภาคเอกชน ร่วมกันผลักดันขับเคลื่อนภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ที่จะถึงนี้ จังหวัดระนองมีความพร้อมแน่นอน ว่าที่ ร.ต.เชิดศักดิ์ จำปาเทศ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวทิ้งท้าย

อำนวย อยู่ญาติมาก/ระนอง

 

 

วันที่ 9/03/2557 เวลา 9:49 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

229

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน